โฆษกพันธมิตรฯ ยื่นจดหมายถึงรอง ปธ.สภาฯ แสดงจุดยืนค้านนิรโทษกรรม ล้างความผิดให้ผู้กระทำผิดทางอาญา-ทุจริตทุกกรณี ส่วนการนิรโทษกรรมผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.มั่นคง ให้ถามผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และต้องลงมติเอกฉันท์ไม่ใช้เสียงข้างมาก ยื่นคำขาดทำไม่ได้ หรือบิดพลิ้วพร้อมชุมนุม แนะถ้าจริงใจหยุดเสนอ กม.นิรโทษกรรม-ถอนร่างปรองดองทุกฉบับ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (6 มี.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ยื่นจดหมายถึง นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เพื่อขอให้ขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนเข้าร่วมหารือพิจารณาแนวทางในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามที่นายเจริญได้นัดหมายพร้อมกับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 11 มี.ค.
นายปานเทพ ระบุว่า กลุ่มพันธมิตรมีมติไม่เห็นด้วยในการออกกฎหมายใดๆเพื่อการนิรโทษกรรมหรือล้างความผิดให้กับผู้กระทำความผิดทางอาญา แต่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมในความผิดลหุโทษ หรือการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง และเห็นว่าการหารือเพียง 4 ฝ่ายอาจไม่ครอบคลุม ควรเพิ่มตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบให้เข้าร่วมหารือด้วย อาทิ ตัวแทนจากองค์การพิทักษ์สยาม ตัวแทนครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้สูญเสีย และตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เช่น พ่อค้าแม่ค้าที่แยกราชประสงค์ และสยามสแควร์ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ถอนร่าง พรบ.ปรองดอง 4 ฉบับ ที่ค้างอยู่ในสภา ออกจากการพิจารณา ทั้งนี้หากไม่รับเงื่อนไขและมีการเดินหน้าออกกฎหมายนิรโทษกรรม กลุ่มพันธมิตรจะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านทันที
ขณะที่นายเจริญ กล่าวว่า การหารือเพื่อความสงบและสามัคคี ทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทน และไม่ขัดข้องกับข้อเสนอของพธม. และจะมีการเพิ่มทหารเข้ามาอีก 1 กลุ่มในการหารือเรื่องนี้ เพราะทหารเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ซึ่งจะทำหนังสือไปยัง รมว.กลาโหม
ทั้งนี้ ต้องดูในวันที่ 11 มี.ค.เป็นหลักว่าแต่ละกลุ่มจะตอบรับอย่างไร แต่ขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ว่าการดำเนินการไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังและไม่มีเกมการเมืองเข้ามาแทรกแซง สำหรับการหารือในหลักการร่วมกันนั้น จะเน้นจุดร่วมที่เคยพูดคุยกันมาแล้ว คือ การนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มผู้ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ที่เป็นประชาชน ส่วนเงื่อนไขของแกนนำจะยังไม่พูดถึง
“มั่นใจว่าถ้าแต่ละฝ่ายที่เข้าใจขอบเขต หลักการนิรโทษกรรมประชาชนก่อนก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหา คือ เงื่อนไขของแต่ละกลุ่ม และการที่ พธม. พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ถอนร่างปรองดองทั้ง 4 ฉบับ ออกจากการพิจารณาของสภาฯนั้น ไม่สามารถบังคับสมาชิกที่เสนอกฎหมายได้ จึงเป็นเรื่องของผู้เสนอที่จะพิจารณาถอนร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ แต่ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณากฎหมายดังกล่าว ซึ่งอีกไม่นานก็จะปิดสมัยการประชุมแล้ว” นายเจริญ กล่าว
ที่ พธม. ๐๐๒/๒๕๕๖
๑๐๒/๑ บ้านพระอาทิตย์
ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม
เขตพระนคร กทม. ๑๐๒๐๐
วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
เรื่อง ขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนเข้าร่วมหารือพิจารณาแนวทางในการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
เรียน นายเจริญ จรรย์โกมล
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง
อ้างถึง ๑) หนังสือเรื่อง เชิญเข้าร่วมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางในการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ถึงนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เลขที่ สผ ๐๐๐๑(๒)/๙๑ ลงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
ตามที่ท่านได้เชิญกระผมเข้าร่วมพิจารณาปรึกษาหารือและให้ความเห็นเกี่ยวในประเด็นการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเดิมมีนัดหมายในการหารือดังกล่าวในวันอังคารที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ตามอ้างถึง ๑) ต่อมาทราบว่าท่านได้แจ้งเลื่อนวันหารือดังกล่าวเป็นวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ดังที่ทราบแล้วนั้น
เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญ กระผมได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือที่ประชุมของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันอังคารที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยที่ประชุมแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีมติแจ้งให้ท่านได้ทราบดังต่อไปนี้
๑) แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอแจ้งจุดยืนให้ท่านทราบอีกครั้งหนึ่งว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านอย่างถึงที่สุดในการออกกฎหมายใดๆ เพื่อการนิรโทษกรรมหรือล้างความผิดให้กับผู้กระทำความผิดทางอาญาหรือการกระทำความผิดต่อการทุจริตในทุกกรณี และเห็นว่าการใช้หลักนิติรัฐเพื่อพิสูจน์ความจริงเท่านั้นที่จะนำไปสู่ความสงบสุขที่ยั่งยืนได้ โดยให้ยึดหลักที่ว่าต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด ผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดย่อมสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ในกระบวนการยุติธรรม และผู้กระทำความผิดทางกฎหมายพึงต้องได้รับโทษทางกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมทุกคน
๒) ในส่วนของการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่มีความผิดลหุโทษและไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เป็นการกระทำความผิดทางกฎหมายอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจรัฐในช่วงเวลาเฉพาะกิจ อันได้แก่ การกระทำความผิดต่อการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่า ในเรื่องดังกล่าวหากจัดการประชุม ๔ ฝ่าย ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวแทนฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทย ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ย่อมไม่เพียงพอ และไม่สามารถทำให้เกิดข้อยุติที่เป็นธรรมได้ เพราะในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง มีความสลับซับซ้อนและมีความละเอียดอ่อนเช่นนี้ หากจะมีการนิรโทษกรรมแม้จะเป็นความผิดลหุโทษก็ตาม อย่างน้อยก็จำเป็นต้องได้รับการอภัยจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย การประชุมด้วยวงจำกัดข้างต้นโดยไม่ฟังเสียงคนอื่นๆที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่มีส่วนได้เสียย่อมทำให้กลุ่มคนที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้กลายเป็น “อภิสิทธิ์ชน” ที่อยู่เหนือกฎหมายกว่าประชาชนคนกลุ่มอื่นๆ อย่างไม่เป็นธรรม
ด้วยเหตุผลนี้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงเห็นว่า หากจะมีตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อปรึกษาหารือนับจากวันนี้ จะต้องอยู่บนเงื่อนไขของการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ครบทุกกลุ่ม” ดังต่อไปนี้
๒.๑) ตัวแทนพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลในปัจจุบัน
๒.๒) ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะอดีตรัฐบาลและฝ่ายค้านในปัจจุบัน
๒.๓) ตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
๒.๔) ตัวแทนแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
๒.๕) ตัวแทนองค์การพิทักษ์สยาม
๒.๖) นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ตัวแทนครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้สูญเสีย
๒.๗) ตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากการชุมนุมโดยที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุม เช่น ร้านค้าที่สี่แยกราชประสงค์ สยามสแควร์ ฯลฯ
๒.๘) ผู้แทนคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ ( คอป.)
๓) สำหรับการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดในคดีการฝ่าฝืนต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร แม้จะการมีตัวแทนของคนทุกกลุ่มข้างต้นตามข้อ ๒) แล้วก็ตาม ก็ต้องไม่ใช้การลงมติให้มีเสียงข้างมาก แต่จะต้องเป็นการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์เท่านั้น บนเงื่อนไขซึ่งเป็นที่ยอมรับและปราศจากการคัดค้านจากทุกฝ่าย
๔) ทั้งนี้หากเงื่อนไขตามข้อ ๒) ไม่สามารถปฏิบัติได้ กระผมก็ไม่สามารถเข้าร่วมการปรึกษาหารือในวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้ หรือหากแม้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้วแต่ต่อมามีการแปรญัตติหรือเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่มิได้เป็นไปตามที่ได้มีข้อยุติอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้แทนกลุ่มต่างๆตามข้อ ๒) แล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอสงวนสิทธิ์ที่จะคัดค้านเคลื่อนไหวชุมนุมนอกสภาต่อไปอย่างถึงที่สุด
๕) หากท่านมีเจตนาดีต่อบ้านเมืองและไม่อยากเห็นความขัดแย้งระหว่างมวลชนนอกสภา กระผมเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ โดยในระหว่างนี้ก็ควรจะต้องหยุดการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทุกฉบับ และควรถอนร่าง พรบ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติทุกฉบับ ออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบรรยากาศการปรึกษาหารือที่ดีโดยปราศจากความหวาดระแวง จึงขอให้ท่านได้แจ้งให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคเพื่อไทยได้ทราบในเรื่องดังกล่าวด้วย
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
.
(นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์)
โฆษกและแกนนำรุ่นที่ ๒
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย