xs
xsm
sm
md
lg

โลกของคนหน้าด้าน

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

รัฐสภาผ่านวาระที่ 1 ไปเรียบร้อยแล้วกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 มาตรา ต่อไปก็อยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการการแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา การพิจารณาวาระ 2 วาระ 3 เรื่องราวเหมือนจะง่ายกว่าพลิกฝ่ามือ หรือปลอกกล้วยเข้าปาก แต่ฝ่ายรัฐบาลก็เคยผ่านเรื่องราวที่ง่ายเช่นนี้มาแล้ว เมื่อปี 2555 ขั้นตอนสุดท้ายอยู่ที่การยกมือโหวตวาระที่ 3 เท่านั้นเอง แต่ก็ต้องปล่อยให้ค้างเติ่งมาจนถึงทุกวันนี้ หาไม่รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 ก็ต้องถูกฉีกทิ้งไปแล้ว เป็นรัฐธรรมนูญใหม่ของพรรคเพื่อไทย เพื่อทักษิณ โดยขี้ข้าของทักษิณ ก็ถูกใช้ไปแล้ว

การแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ เป็นการแก้ไขรายมาตรา 4 มาตรา ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะเอาไว้ก็ยังมีเสียงค้านอีก จนทำให้ขี้ข้าทักษิณออกมาท้วงว่า ไหนบอกให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา พอเราลงมือจะแก้ไขรายมาตรามันก็ค้านอีก เห็นไหมพ่อแม่พี่น้อง?

นี่ย่อมสะท้อนความเอาแต่ได้ของพวกมัน

ใช่ ศาลรัฐธรรมนูญแนะให้แก้ไขรายมาตรา ผู้คนทั้งหลายก็เห็นด้วยว่า ควรที่จะแก้ไขรายมาตรา รัฐธรรมนูญมาตราไหนที่เป็นอุปสรรคในการบริหารประเทศ รัฐธรรมนูญมาตราไหนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติประชาชนก็แก้ไขเสีย ก็ไม่มีใครว่า ไม่มีใครค้าน ต้องดูเนื้อหาสาระด้วย ไม่ใช่บอกจะแก้ไขรายมาตราก็แก้ได้ โดยไม่ดูเนื้อหาสาระ

งั้นก็ขอแก้รายมาตรา

โดยลงมือแก้มาตรา 1 ถึงมาตรา 309 เลยดีไหมเล่า?

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 มาตราของพรรคฝ่ายรัฐบาลครั้งนี้ จุดมุ่งหมายหลักใหญ่ใจความอยู่ที่มาตรา 68 คือตัดทางไม่ให้ประชาชนหรือใครก็ตามพบเห็น การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนี้เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ จะไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงมิได้

ต้องร้องต่ออัยการสูงสุดได้อย่างเดียว และถ้าหากอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญก็จบ ทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเดินขบวนชุมนุมประท้วง

ความพยายามที่จะฉีกรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 ของพรรคเพื่อไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 จบลงด้วยมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เพราะมีผู้ไปร้องต่ออัยการสูงสุด อัยการสูงสุดพิจารณาอยู่นาน ในที่สุดไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (ซึ่งอัยการสูงสุดพิจารณาในเวลาต่อมาไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา) การลงมติวาระที่ 3 เพื่อที่จะให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงยังไม่เกิดขึ้น

ถ้าหากแก้มาตรา 68 ได้ อื่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึง จะตัดมาตรา 190 ทิ้งไปเลย จะตกลงกับต่างประเทศจะทำสัญญาจะเสียดินแดนหรือไม่เสีย ไม่ต้องให้สภาฯ รับรู้ก็ได้ หมวดต่างๆ ของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนใหม่เสียก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนหมวด 10 ที่เกี่ยวข้องกับศาล ตัดศาลรัฐธรรมนูญออกไป ตัดศาลปกครองออกไปเหลือไว้แต่ศาลยุติธรรม จะให้ประธานศาลฎีกาต้องผ่านความเห็นชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ จะได้เป็นประชาธิปไตย

ทำได้หมดแหละครับ

หรือถ้าหากยังเขินๆ อยู่ก็ปรับเปลี่ยนที่มาเสีย ให้สภาผู้แทนราษฎรรับรองหรือวุฒิสภารับรอง ตุลาการศาลแต่ละศาลก็ได้ คราวนี้ไม่ต้องให้ทนายเอากล่องขนมไปทำตกหล่นขี้คร้านแต่ละคนอยากจะได้ตำแหน่งจะต้องคลานเข้าไปหาศูนย์อำนาจ ไม่ว่าจะพำนักอยู่ที่นครดูไบหรือฮ่องกง

เอาเลยซิครับ ช้าอยู่ทำไม ไหนๆ ก็หน้าด้านทำกันได้ขนาดนี้แล้วนี่

แก้รัฐธรรมนูญเพื่อที่จะเป็นประชาธิปไตย เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ประเทศอื่นๆ เขาก็ไปสู่ธรรมาภิบาลก็หน้าด้านท่องประโยคเหล่านี้ได้แล้วนี่ครับ ก็ลงมือทำมันเสียเลยซิจะกระมิดกระเมี้ยนอยู่ทำไมเล่า?

อย่าห่วงประชาชนจะออกมาคัดค้านเลย ประชาชนยอมจำนนแล้วครับ ยอมจำนนตั้งแต่เอาเงินภาษีของพวกเขาไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มคนที่ขายชีวิตให้ทักษิณคนละ 4 ล้าน 7 ล้านเมื่อเดือนเมษายน 2552-2553 แล้วละครับ ประชาชนยอมให้เอาเงินภาษีเขาไปขาดทุนกับการรับจำนำข้าวเป็นแสนๆ ล้านบาทแล้วละครับ ประชาชนยอมจำนนตั้งแต่ ทักษิณส่งน้องสาวที่ไม่ประสีประสาทางการเมืองมาเป็นนายกรัฐมนตรี มาบริหารประเทศ มาเป็นหน้าเป็นตาของประเทศแล้วละครับ

สมัยหน้าจะส่งลูกชายหรือลูกสาวมา ก็ต้องยอมอีกแหละครับ

อย่าห่วงอย่ากังวลเลยครับว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนเคยสู้กับเผด็จการอย่างจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร หรือยอมไม่ได้กับการตระบัดสัตย์ของนายทหารบางคนเมื่อปี 2535 ว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วยังมาเป็น ต้องคัดค้าน ต้องยอมเสียชีวิต เสียเลือดเสียเนื้อเพื่อประชาธิปไตย

เหตุการณ์อย่างที่ว่านี้ไม่มีแล้วครับ ไม่เชื่อไปถามนายเหวง ถามภริยานายเหวงดูก็ได้

บอกแล้วไง ถ้าหากจะหน้าด้านต้องด้านให้มันตลอด
กำลังโหลดความคิดเห็น