ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในที่สุดก็ชัดแจ้งแล้วว่า “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ซึ่งรั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นสมัยที่ 2 ตัดสินใจเลือกใครเข้ามาเป็น “ทีมรองผู้ว่าฯ” เพื่อช่วยบริหารกรุงเทพมหานครบ้าง หลังจากที่คุณชายหมูจรดปากกาเซ็นลงนามไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ชนะการเลือกตั้ง แม้จะปรากฏรายชื่อเล็ดลอดออกมาให้เห็นบ้าง แต่ก็ยังอึมครึมบ้างในบางตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นปลาบู่ชนเขื่อน-“ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในสมาชิกแก๊งไอติมที่มีรายชื่อโผล่มาเป็นตัวแทนของแก๊งไอติมนั่งเก้าอี้รองผู้ว่าฯ กทม.กับเขาด้วยจากการยอมรับของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เอง
แต่สุดท้าย “เสี่ยอ๊อฟ” ก็ปฏิเสธเก้าอี้ใหญ่ตัวนี้ไปด้วยเหตุผลที่ว่าปรารถนาจะเป็นผู้ทรงเกียรติในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องเพราะเสี่ยอ๊อฟได้รับสิทธิอัติโนมัติจากการลาออกจาก ส.ส.เพื่อไปดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.
หรือตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ฝ่ายการเงินการคลัง ที่ปรากฏชื่อตัวเต็งโยนหินถามทางออกมาหลายต่อหลายคนด้วยกัน ทั้งนายไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ นายจรัมพร โชติกเสถียร กระทั่งทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ต้องเลื่อนเปิดตัวทีมรองผู้ว่าฯ ออกไป
นอกจากนี้ ยังปรากฏบุคคลสำคัญๆ ที่มีลุ้นเก้าอี้รองผู้ว่าฯ กทม.หลายคนด้วยกัน อาทิ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ นายกนก วงศ์ตระหง่าน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ขณะที่ฝ่ายหญิงมีตัวเต็ง 3 คนคือ ผุสดี ตามไท อานิก อัมระนันท์ และ อนุสรี ทับสุวรรณ เลขาฯ ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ที่กอดคอทำงานกันมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยที่คุณชายหมูเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
แต่สุดท้ายเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 ก็ชัดเจนว่า รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้ง 4 คนประกอบไปด้วย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง นายจุมพล สำเภาพล นางผุสดี ตามไท และนายอมร กิจเชวงกุล
คำถามที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่า ทำไมต้องเป็น “อัศวิน อมร ผุสดีและจุมพล”?
สำหรับรองผู้ว่าฯ คนแรกเป็นไปตามความคาดหมายเพราะปรากฏชื่อนอนมาตั้งแต่ต้นนั่นคือ “จุมพล สำเภาพล” อดีตรองปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นมือเป็นไม้ที่ทำงานเข้าขากับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มาโดยตลอด
ความจริงหากยังจำกันได้รองผู้ว่าฯ จุมพลคือตัวเต็งที่เคยท้าชิงเก้าอี้ “ปลัด กทม.” กับ “นางนินนาท ชลิตานนท์” โดยแม้ในช่วงแรกชื่อนางนินนาทจะนอนมาตั้งแต่ต้น ทว่า ในระยะต่อมาก็ต้องยอมรับเช่นกันว่านายจุมพลมาแรงไม่แพ้กัน เนื่องเพราะนอกจากจะเป็นคนใต้แล้วยังมีความสัมพันธ์กับส.ก.พรรคประชาธิปัตย์หลายคน ซึ่งสุดท้าย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็ตัดสินใจเลือกรองปลัดที่มีอาวุโสอันดับหนึ่งคือนางนินนาทให้เป็นปลัดกทม.
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์และพรรคประชาธิปัตย์มีสัญญาใจบางประการกับนายจุมพลที่พลาดหวังเก้าอี้ปลัด กทม. ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่า ชื่อของนายจุมพลจะปรากฏเป็นหนึ่งในทีมรองผู้ว่าฯ มาตั้งแต่ต้นและไม่เคยหลุดไปจากโผเลย
ส่วนรองคนที่สองคือ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” นั้น เป็นที่รับรู้กันว่า นายตำรวจใหญ่รายนี้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคประชาธิปัตย์เพียงใด โดยเฉพาะอดีตเลขาธิการพรรค “จรกาหน้าดำ-สุเทพ เทือกสุบรรณ”
หากยังจำกันได้ ในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี พ.ศ. 2553 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พยายามจะผลักดันให้เป็นที่ปรึกษา สบ.10 ในยศพลตำรวจเอก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เปิดขึ้นใหม่ นัยว่าเพื่อกรุยทางให้ก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ทางคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ไม่อนุมัติ แต่ท้ายที่สุดในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน ก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นพลตำรวจเอก และที่ปรึกษา สบ.10
หากยังจำกันได้ในห้วงนั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์กำลังมีปัญหาเรื่องการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ที่ไม่ลงตัว เพราะไม่สามารถผลักดันให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.ตัวจริงได้ จึงหวังให้บิ๊กวินที่ขณะนั้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.บายพาสในตำแหน่งที่ปรึกษา สบ.10 เพื่อให้สามารถนั่งเก้าอี้สูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำหรับเส้นทางการเมืองในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.นั้น เป็นที่ชัดเจนจากการเปิดเผยของ พล.ต.อ.อัศวินเองว่า หลังจากการเลือกตั้งผ่านไป 1 สัปดาห์ นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ชวนไปดื่มกาแฟพร้อมทั้งชวนให้มาร่วมงานในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.
ด้านรองผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 3 นางผุสดี ตามไท ถือเป็นตัวเต็งที่ยืนระยะในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ต้นจนจบหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะออกมาเปิดเผยด้วยตัวเองว่า รองผู้ว่าฯ เที่ยวนี้จะต้องมีผู้หญิงร่วมขบวนด้วย 1 คน
กล่าวสำหรับนางผุสดี ต้องบอกว่า ถือเป็นคนเก่าคนแก่ของค่ายแม่พระธรณีบีบมวยผม โดยก่อนหน้านี้เคยรั้งตำแหน่งสำคัญๆ มากมาย เช่น ผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน) เป็นต้น
เช่นเดียวกับรองผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 4 อมร กิจเชวงกุล ซึ่งมีสายเลือดสีฟ้าเข้มข้น โดยเป็นเทคโนแครตทำงานให้พรรคประชาธิปัตย์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่มีบทบาทโดดเด่นและต่อเนื่องมากที่สุดก็คือที่กรุงเทพธนาคม วิสาหกิจของกรุงเทพมหานครที่เขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ
ทั้งนี้ ตำแหน่งของอมรเป็นตำแหน่งที่มีปัญหามากที่สุดจนทำให้กระบวนการหยุดชะงักไประยะหนึ่ง เนื่องจากความเห็นของนายอภิสิทธิ์หัวหน้าพรรคและม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยังไม่ลงตัวในการคัดเลือกบุคคลที่ลงตัวมารับตำแหน่งนี้ได้ แต่ในที่สุดก็มาลงตัวที่นายอมรเนื่องเพราะทำงานร่วมกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์อย่างต่อเนื่องและเต็มที่ โดยเฉพาะล่าสุดที่กอดคอร่วมกันเป็นจำเลยในคดีต่อสัญญาว่าจ้างบริษัท บีทีเอส เป็นผู้ได้รับสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้า กทม.ระยะยาว จำนวน 30 ปี
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ให้เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกบุคคลทั้ง 4 มาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. โดยแจกแจงรายละเอียดของแต่ละคนเอาไว้ว่า เลือกนางผุสดี เพราะมีประสบการณ์อย่างยาวนานทางด้านสังคม สตรี สิทธิมนุษยชน การศึกษา และที่สำคัญในช่วงเวลานี้การประสานงานกับสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณางบประมาณเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นการที่นางผุสดี เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยจะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากสำหรับการทำงานกทม. ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน เลือกเพราะมีประสบการณ์การทำงานมายาวนาน และมีความประสงค์ที่จะเจาะจงมาเป็นพิเศษเนื่องจากเห็นว่าคน กทม.มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่งทั้งอาชญากรรมทั่วไปและยาเสพติด ดังนั้น งานทุกงานที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะมอบหมายให้พล.ต.อ.อัศวิน รับผิดชอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชนคือกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งการแต่งตั้งตำรวจที่มีประวัติการทำงานต่อสู้อาชญากรรมมาโดยตลอดจะทำให้พี่น้องประชาชนรู้สึกมั่นใจมากขึ้น
ขณะที่เลือก นายจุมพล เพราะมีความรู้งานกทม.ในทุกส่วนไม่เฉพาะงานโยธาเท่านั้น ดังนั้นการที่นายจุมพล เข้ามาจะเป็นคลังความรู้ องค์ความรู้ คลังประสบการณ์และองค์ประสบการณ์ที่มีความสำคัญอย่างมากในการที่จะขับเคลื่อนงานไม่ว่าจะเป็นในด้านใดต่อไป ด้าน นายอมรเป็นเพราะได้ทำงานร่วมกันประหนึ่งทีมงานตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมาที่ได้ประสานงานกับบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัดอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องบีทีเอส การจัดการขยะมูลฝอย ดังนั้นการที่นายอมร เข้ามาจึงไม่ต้องเรียนรู้อะไร
อย่างไรก็ตาม นอกจากทีมรองผู้ว่าฯ ทั้ง 4 คนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ “ทีมที่ปรึกษา” ซึ่งงานนี้ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์จรดปากกาแต่งตั้ง “นายวัลลภ สุวรรณดี” อดีตรองผู้ว่าฯ นั่งเป็นประธานที่ปรึกษา ขณะที่ทีมที่ปรึกษาประกอบด้วยนางเพียงใจ วิศรุตรัตน พล.ต.ต. วิชัย สังข์ประไพ ร้อยเอก(หญิง) เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ นายศุภชัย ตันติคมน์ นายวสันต์ มีวงษ์ นายก้องศักดิ์ ยอดมณี นายสัญญา จันทรัตน์ และนางสาวตรีดาว อภัยวงศ์ ซึ่งจะเป็นโฆษกของกทม.
ส่วนเลขานุการผู้ว่าฯกทม.ยังเป็นคนเดิม คือ นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ และผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม. 4 คน แก่ นางเบญทราย กียปัจจ์ นายยุทธพันธ์ มีชัย นางสาววราพร ตระกูลชีวพานิตต์ และนายณัฐนันท์ กัลป์ยาศิริ
อย่างไรก็ตาม คงต้องบอกว่าประชาชนคนกรุงเทพฯ มิได้รู้สึกตื่นเต้นกับรายชื่อรองผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 4 คน รวมถึงทีมที่ปรึกษาเท่าใดนัก เนื่องเพราะถ้าจะว่าไปแล้วก็มิได้มีความโดดเด่นแต่ประการใด ซึ่งนั่นต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า รองผู้ว่าฯ ทั้ง 4 คนและตัวผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์เองจะทำงานรับใช้และฝากผลงานอะไรเอาไว้ตลอด 4 ปีของการดำรงตำแหน่งให้จดจำบ้าง
แต่ที่ดูจะ “จี๊ด” และเป็นที่จับตาเป็นพิเศษเห็นจะเป็นการที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองถูกเลือกให้มาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. แถมยังมี “มือปราบหูดำ” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพอยู่ในทีมที่ปรึกษา เพราะนั่นหมายความว่า งานนี้ประชาธิปัตย์และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จงใจหรือเจตนาเลือกอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้ามาทำงานถึง 2 คน ซึ่งแต่ละคนต้องบอกว่ามีประวัติและการทำงานไม่บันเบา โดยแต่ละคนล้วนแล้วแต่ผ่านคดีสำคัญๆ มานับครั้งไม่ถ้วน ต่างจากดาราสีกากี-พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคเพื่อไทยชนิดไม่เห็นฝุ่น
แถมถ้าจะว่าไปแล้ว ทั้ง 2 คนก็มิใช่ด้อยชั้นเชิงในการทำประชาสัมพันธ์อีกต่างหาก
ดังนั้น คงต้องจับตาว่า นี่ใช่เป็นการส่งสัญญาณในทางใดทางหนึ่งต่อ “ตำรวจมะเขือเทศ” ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหรือไม่
...แต่บอกได้คำเดียวว่า งานนี้สนุกแน่