xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับ “นายกฯ” ปิดคดีฆ่า “นายกฯ” ที่สงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 เดือนกับการคลี่คลายคดีฆ่าโหด นายพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ซึ่งถูกกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 7 พ.ย.2555 หน้าสำนักงานสงขลาฟอร์รั่ม ถ.นครใน เขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ในที่สุดตำรวจก็สามารถปิดคดีนี้ด้วยการออกหมายจับและจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้จ้างวานและทีมมือปืนได้ทั้งหมด 10 คน

เริ่มจากการออกหมายจับผู้ต้องหาชุดแรก 3 คนคือ นายไพศาล หนูพันธ์ นายนิวัฒน์ รัตน์แก้ว และ นายฉ้วน หมวดมี ซึ่งเป็นทีมฆ่า ตามด้วยการออกหมายจับ นายกิตติ ชูช่วย น้องชายของ นายอุทิศ ชูช่วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ผู้บงการ ซึ่งทั้ง 4 คนได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ แต่มีเพียงนายกิตติที่ได้รับการประกันตัว

สุดท้ายมีการออกหมายจับนายอุทิศ และเข้าจับกุมได้ที่บ้านพักเลขที่ 55/1 ถ.นาสาร เขตเทศบาลนครสงขลา ในฐานะผู้จ้างวาน พร้อมกับการออกหมายจับผู้ต้องหาอีก 5 คนในคราวเดียวกัน ประกอบด้วย นายปราโมทย์ แสงอรุณ นายก อบต.ท่าบอน อ.ระโนด จ.สงขลา นายชยันต์ หนูพันธุ์ นายอธิป ด้วงมาก นายณัฐพล นัคเล และ นายสุดขีด จันทร์เขียว ซึ่งผู้ต้องหาในคดีนี้ล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิดกับนายอุทิศทั้งสิ้น

นับจากวินาทีที่กระสุนปืนออกจากปากกระบอกปืนเอ็ม 16 และอาก้ากว่า 30 นัดที่ปลิดชีพนายพีระ นักการเมืองแนวอนุรักษ์ที่ครองตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครสงขลามา 3 ปี ได้มีกระแสของพลังมวลชนชาวนครสงขลา กลุ่มเอ็นจีโอ ครอบครัวและญาติพี่น้องของนายพีระออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการติดตามจับกุมมือปืนและผู้บงการไปทั่วทั้งเมือง เพราะเชื่อว่าการตายของนายพีระไม่ได้มาจากการขัดผลประโยชน์ธุรกิจการเมือง เหมือนกับนักการเมืองคนอื่นๆ แต่มาจากการทำงานที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความคู่ไปกับการพัฒนาเมือง

โดยเฉพาะการคัดค้าน “โครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้า” ข้ามทะเลสาบสงขลาจากฝั่ง อ.เมือง ไปยังฝั่ง อ.สิงหนคร ของ อบจ.สงขลา ถึงกับมีการประกาศว่า หากจะสร้างกระเช้าลอยฟ้าต้องข้ามศพเขาไปก่อน

การสอบสวนคดีฆ่านายพีระจึงเริ่มต้นจากประเด็นนี้ พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง ที่ปรึกษา สบ.10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.พิสิฎฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ ผบช.ภาค 9 พล.ต.ต.สุวิทย์ เชิญศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา จึงตั้งทีมสืบสวนทั้งตำรวจภูธรภาค 9 ตำรวจภูธร จ.สงขลา และทีมสอบสวนที่มีการระดมพนักงานสอบสวนจากสถานีตำรวจภูธร จ.สงขลา 17 นายมาทำคดีนี้ ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดคดีใน จ.สงขลา

จุดเริ่มต้นของคดีนี้ดูเหมือนว่าจะมาจากความผิดพลาดและชะล่าใจของทีมฆ่า เพราะหลังก่อเหตุได้นำรถกระบะขับไปจอดไว้ที่สถานีวิทยุสมิหลาเรดิโอ ย่านสถานีขนส่งสงขลา ซึ่งเป็นของนายกิตติ และเป็นที่สำหรับจอดรถเฉพาะของคนในตระกูลชูช่วย มีรั้วรอบขอบชิด ยากที่คนภายนอกที่ไม่สนิทชิดเชื้อจะเข้าไปได้

การเริ่มต้นและปิดคดีจึงเกิดขึ้นที่นี่ เริ่มจากการหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ภายในกระบะของทีมมือปืน ต่อด้วยเข้าค้นแมนชันและบ้านของนายกิตติ ที่ทำงานของนายอุทิศ จากนั้นขยายผลเชื่อมโยงออกหมายจับและจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วมาจบที่ตัวนายอุทิศเป็นคนสุดท้าย ซึ่งเก็บตัวเงียบมาโดยตลอด

เพื่อย้ำให้เห็นว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้เป็นตัวจริงหรือไม่ พล.ต.อ.พิสิฎฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร จ.สงขลา ได้ให้ข้อมูลว่า แนวทางการสอบสวนคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตามแกะรอยจากประเด็นความขัดแย้งของนายพีระ กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่ามาจากการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้า ไม่มีประเด็นส่วนตัว หรือผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

ประกอบกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิด ทั้งกับนายกิตติและนายอุทิศ เจ้าหน้าที่จึงเร่งสอบสวนพยาน และรวมรวมหลักฐาน ทั้งพยานบุคคลและหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อเชื่อมโยงกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งยืนยันว่าการออกหมายจับและจับกุมผู้ต้องหา เป็นไปตามพยานหลักฐาน ที่ล้วนเชื่อมโยงไปถึง ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง หรือทำไปตามกระแสกดดันของสังคม

ด้าน พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง ที่ปรึกษา สบ.10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ลงมากำกับดูแลคดีนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ระบุว่า แม้กระบวนการทางกฎหมายยังไม่สิ้นสุด แต่การจับกุมนายอุทิศถือเป็นการปิดฉากของคดีนี้ โดยมีผู้ต้องหาทั้งหมด 10 คน ซึ่งหลังจากนี้การสู้คดีเป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหาที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมในชั้นศาล

แยกเป็นข้อหาร่วมกันโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยการใช้จ้างวาน 3 คนคือ นายอุทิศ นายกิตติ และนายปราโมท

และข้อร่วมร่วมกันฆ่าอีก 7 คนคือ นายไพศาล นายนิวัฒน์ นายฉ้วน นายชยันต์ นายอธิป นายณัฐพล และนายสุดขีด

โดยในจำนวนนี้มีผู้ต้องหาที่ยังคงหลบหนีอีก 5 คน คือ นายปราโมท นายชยันต์ นายอธิป นายณัฐพล และนายสุดขีด

สำหรับคดีฆ่าอดีตนายกนครสงขลานั้น แม้ในทางกระบวนการยุติธรรมจะยังไม่ถึงที่สุด เพราะยังคงต่อสู้กันในชั้นศาลอีกหลายปี สำหรับชีวิตของนายพีระแม้จะจบไปแล้ว แต่เขายังคงอยู่ในความทรงจำของชาวนครสงขลาตลอดไป

โดยมีรูปปั้นครึ่งตัวที่จะมีการสร้างขึ้นและนำไปตั้งไว้ที่บริเวณแหลมสนอ่อน ชายหาดสมิหลา พื้นที่ที่นายพีระพยายามอนุรักษ์ไว้ให้อยู่ควบคู่กับเมืองสงขลาจนต้องเอาชีวิตเข้าแลก และจะมีการตั้งชื่อชายหาดแห่งนี้ว่า “หาดพีระ ตันติเศรณี” เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนายพีระ

กลอนบทนี้เขียนโดยนายพีระ หลังวันเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครสงขลาสมัยก่อน หรือเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2552 ระหว่างรอการรับรองผลการเลือกตั้ง กกต.ที่มีการรับรองในวันที่ 26 พ.ย.2552 ซึ่งสามารถสะท้อนถึงแนวคิดและความเป็นตัวตนของเขาได้อย่างชัดเจน…

นครสงขลา เป็นของ คนสงขลา
บรรพบุรุษ พลิกป่า แลสิงขร
ร่วมสร้างบ้าน สร้างเมือง เรื่องนาคร
เป็นบทตอน ประวัติศาสตร์ ชาติ-เมือง-คน
อันใดเล่า จำล้ำค่า กว่ามนุษย์
บรรพบุรุษ สร้างบ้าน แล้วผ่านพ้น
เกิดลูกหลาน คือสงขลา ประชาชน
คือตัวตน คนสืบสาน ตำนานเมือง
เจดีย์วัด มัสยิด โบสถ์คริสเตียน
โรงเรียน ร้านค้า จะฟูเฟื่อง
เศรษฐกิจ ศิลปะ จะรุ่งเรือง
ก็ด้วยคน ทั้งเมือง ร่วมมือกัน ฯ

กำลังโหลดความคิดเห็น