xs
xsm
sm
md
lg

พลังพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การเสริมสร้างความเข้มแข็งของพลเมืองเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในห้วงการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งนี้ มิเพียงเพราะพลเมืองเป็นกำลังหลักในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในแนวทางสันติวิธีเท่านั้น ทว่ายังเป็นเงื่อนไขของการคานอำนาจรัฐไม่ให้กำหนดนโยบายสาธารณะที่ข่มขู่คุกคามหรือเอารัดเอาเปรียบประชาชนบนผลประโยชน์ที่ขัดกันระหว่างกลุ่มกุมอำนาจรัฐและทุนกับประชาชนด้วย เพราะการได้มาซึ่งอำนาจรัฐของคนบางกลุ่มมักมาพร้อมกับการลุแก่อำนาจจนขาดความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมและสาธารณะกระทั่งทำทุกอย่างตามอำเภอใจ

พลเมืองจึงเป็นพลังสำคัญของการปฏิรูปประเทศไทยให้เกิดความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมบนมรรควิถีที่ไม่เกิดความรุนแรง (non-violence) ดังสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 พ.ศ. 2556 ซึ่งกำหนดให้ ‘พลังพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย’ เป็นธีมหลัก (theme) ในการจัดประชุมที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบแทค โดยมี 6 ประเด็นสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ดังนี้ 1) ธรรมนูญเพื่อการจัดการตนเอง 2) การปฏิรูประบบป้องกันและปราบปรามเพื่อหยุดวิกฤตคอร์รัปชัน เพิ่มภาพลักษณ์ความโปร่งใส 3) การปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียน : สิทธิ การเข้าถึง และความเป็นธรรมเพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน 4) พลังพลเมืองปฏิรูปสื่อเพื่อการปฏิรูปสังคม 5) ปฏิรูปกลไกขับเคลื่อนความเสมอภาคระหว่างเพศ เสริมพลังพลเมืองสู่การปฏิรูปประเทศไทย และ 6) การบริหารจัดการน้ำและแก้ไขอุทกภัยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ

ทั้ง 6 ประเด็นสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับของระบบและโครงสร้างสังคมไทยได้ อย่างน้อยที่สุดก็ในด้านของการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนผู้เปลี่ยนแปลงตนเองเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น (active citizen) ในการริเริ่ม สร้างสรรค์ กำหนด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน และตรวจสอบนโยบายสาธารณะต่างๆ เพราะพื้นฐานของข้อเสนอเหล่านี้นอกจากวางอยู่บนกระบวนการฉันทามติ (consensus) ที่ทุกคนทุกเสียงมีความเสมอภาคกันในการแสดงทัศนะและนำเสนอหลักฐานข้อมูลชุดต่างๆ กันอันสำคัญต่อการก่อตัวของนโยบายสาธารณะที่มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมแล้ว ยังจุดประกายให้สังคมส่วนรวมร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะเดิมๆ ที่ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนทำร้ายประชาชน โดยเฉพาะคนปลายอ้อปลายแขมด้วย

ดังข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามเพื่อหยุดวิกฤติคอร์รัปชัน เพิ่มภาพลักษณ์ความโปร่งใส ที่เสนอ 1) มาตรการทางภาษีอากรในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยให้ ป.ป.ช.และกรมสรรพากรตรวจสอบและประเมินภาษีย้อนหลังโดยเปิดเผยแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงต่อสาธารณะ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องถูกตรวจสอบการประกอบอาชีพสุจริตและเสียภาษีเงินได้ กระทรวงการคลังต้องปฏิรูปกระบวนการจัดเก็บภาษีอากรโดยห้ามเจ้าหน้าที่สรรพากรมีดุลพินิจส่วนตัวในการจัดเก็บ และจัดให้มีหน่วยงานสืบสวนสอบสวนคดีภาษีอากรของกรมสรรพากรขึ้นโดยเฉพาะ ทำหน้าที่ทั้งแพ่งและอาญา

2) การสร้างพลังทางสังคมในการสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ให้ ป.ป.ช.จัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในเชิงนโยบาย วิชาการ และงบประมาณ ด้านรัฐบาลต้องจัดตั้งกองทุนสนับสนุนเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนภาคประชาชนในระยะยาวด้วย

3) การปฏิรูประบบงานปราบปรามการทุจริตของชาติ ที่ให้ปฏิรูปกระบวนการทำงาน ป.ป.ช.ทั้งระบบ ทั้งด้านการมีแผนปฏิบัติการจัดการคดีที่คั่งค้าง การสร้างวัฒนธรรมองค์กร การจัดตั้งและพัฒนาศักยภาพ ป.ป.จ. การปรับปรุงกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการป.ป.ช. และการออกอกมาตรการสนับสนุนกลุ่มและเครือข่ายอาสาสมัครแจ้งเตือนเหตุทุจริต การคุ้มครองความปลอดภัยและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายผู้แจ้งเบาะแสและพยานในคดีทุจริต และพัฒนาระบบงานด้านสินบนนำจับ

4) การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐเพื่อการเข้าถึงและตรวจสอบ โดยให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลและสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปไว้ในเว็บไซต์ขององค์กรซึ่งสาธารณชนข้าถึงได้โดยง่าย ปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อให้เป็นกลไกอิสระ และนำมาตรฐานบรรษัทภิบาลมาใช้เป็นเกณฑ์การประเมินองค์กรรัฐวิสาหกิจ

และ 5) การปฏิรูปกระบวนการคัดสรรบุคคลที่จะเข้ามาใช้อำนาจรัฐทุกตำแหน่ง โดยให้ปรับปรุงประสิทธิภาพกลไก ก.ก.ต.จังหวัดและกระบวนการจัดการเลือกตั้งให้ป้องกันการทุจริตตั้งแต่ระดับต้นน้ำ และสำนักงาน ก.พ.ต้องใช้หลักคุณธรรมความสามารถในการคัดสรรบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง พร้อมกับเปิดเผยเหตุผลของการที่ได้รับการคัดเลือก แต่งตั้ง หรือถอดถอนแก่สาธารณะทุกครั้ง

รวมทั้งข้อเสนอเรื่องการปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียน : สิทธิ การเข้าถึง และความเป็นธรรมเพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน ที่เสนอข้อเสนอเชิงระบบเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน ดังนี้ 1) ให้หน่วยงานรัฐทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงสภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมร่วมกันจัดทำระบบฐานข้อมูลพลังงานหมุนเวียนที่สอดคล้องกับสภาพการใช้งานจริงในปัจจุบัน และเอื้อต่อการวางแผนด้านนโยบาย และการกำกับดูแลพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในอนาคต

2) เครือข่ายประชาสังคมร่วมกับหน่วยงานรัฐตั้งระบบการวางแผนพลังงานหมุนเวียนแบบมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกันนับแต่ระดับชาติ ภาค จังหวัด ท้องถิ่น โดยตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในแต่ละจังหวัดเพื่อเป็นกลไกหลักในการวางแผน พร้อมกับพัฒนาระบบติดตามตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เปิดกว้างต่อการเข้ามาตรวจสอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนมีกลไก/กระบวนการป้องกันเยียวยาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เป็นธรรมและทันการณ์

3) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบรับซื้อพลังงานหมุนเวียนและระบบการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ให้ความสำคัญกับพลังงานงานหมุนเวียนเป็นลำดับแรก และออกแบบมาตรการราคาเพื่อสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่จูงใจและสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ

4) หน่วยงานรัฐและองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันพัฒนาระบบ กลไก และองค์กรเชิงนโยบาย เพื่อลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และขจัดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนและอิทธิพลของผู้ผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งรวมถึงการออกแบบกลไกการตัดสินใจในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนโปร่งใสและนำไปบังคับใช้เพื่อเป็นหลักประกันในการใช้สิทธิของทุกภาคส่วน

และ 5) เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่ยกร่าง พ.ร.บ.สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทางสังคม รวมถึงพรรคการเมือง เพื่อสร้างการยอมรับร่วมกันอันจะนำไปสู่การใช้สิทธิพื้นฐานของประชาชนในการนำเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ ก่อนผลักดันเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติต่อไป

หรือกระทั่งในข้อเสนอเรื่องการบริหารจัดการน้ำและแก้ไขอุทกภัยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ ที่เสนอ 1) ให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการในโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยซึ่งมีกรอบวงเงินสูงถึง 350,000 ล้านบาทอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน ตลอดจนจัดให้มีกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย ภาคประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและออกแบบทางเลือกในการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำที่มาจากการใช้ข้อมูลและความรู้ทั้งที่เป็นความรู้เชิงเทคโนโลยีและความรู้ท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ โดยการใช้กระบวนการวิจารณญาณสาธารณะ (public deliberation) เพื่อให้มีการพิจารณาและตัดสินใจทางเลือกอย่างเปิดเผยและเป็นที่ยอมรับของสาธารณะ อันจะทำให้เกิดธรรมาธิบาลในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมสังคมทุกภาคส่วน

2) ให้ กบอ.ร่วมกับองค์กรที่มีบทบาทการสนับสนุนความเข้มแข็งด้านสุขภาวะในภาคประชาสังคมทำการสนับสนุนภาคประชาชนร่วมกับองค์กรด้านวิชาการที่มีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ สังคม ท้องถิ่น ในการจัดให้มีกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาผลกระทบของโครงการในระดับภาพรวมของโครงการ และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ในระดับโครงการย่อย เพื่อสร้างกระบวนการรับความรับผิด (accountability) และความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกว้างขวาง

3) ให้ทำการรณรงค์ขับเคลื่อนให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ผู้ใช้น้ำในระดับพื้นที่ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ จัดทำประเด็นและสังเคราะห์วาระสำคัญเพื่อบรรจุไว้ในกระบวนการร่างพระราชบัญญัติน้ำภาคประชาชนเพื่อให้มีกฎหมายการบริหารจัดการน้ำที่แก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นรูปธรรมและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนจนนำไปสู่การตราเป็นกฎหมายต่อไป ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมบทบาทภาคส่วนต่างๆ ในระดับพื้นที่โดยการรวบรวมองค์ความรู้เชิงนิเวศน์ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในการจัดทำฐานข้อมูลชุมชนและพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดเล็กในทุกพื้นที่ที่ผนวกกับข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการ รวมทั้งสนับสนุนให้มีกลไกประสานร่วมกันในรูปพหุภาคีที่กอปรด้วยภาคประชาชน/ผู้ใช้/ผู้มีส่วนได้เสีย เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคม ซึ่งจะนำมาสู่ความร่วมมือในการสร้างกติกา/ข้อตกลงร่วมกันในระดับพื้นที่ และที่สำคัญลดความขัดแย้งระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่ถูกกระทบจากการดำเนินโครงการด้วย เพื่อสร้างกลไกการจัดการน้ำแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย

ข้อเสนอรูปธรรมทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นของสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 จะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ (significance) ก็ต่อเมื่อประชาชนเปลี่ยนตนเองเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น (active citizen) ในการเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม รวมทั้งเป็นกำลังสร้างเสริมระบอบประชาธิปไตยไทยให้มีความอดทนอดกลั้นและเปิดกว้างต่อการถกแถลงเหตุผลข้อเสนอแนะและทัศนะที่แตกต่างหลากหลาย ภายใต้การผลักดันร่วมกันให้รัฐกำหนดนโยบายเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ ควบคู่กับเปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับปัญหาที่ต้องการประชาชนเข้ามาร่วมแก้ไขคลี่คลาย เช่น วิกฤตพิบัติภัยที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการกำหนดนโยบายแบบไม่มีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น