xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ความร่ำรวยของอธิการบดี!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ไพบูลย์ มากจันทร์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การทุจริตในมหาวิทยาลัย กำลังกลายเป็นเหตุการณ์ที่สังคมจับตามากขึ้น ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมาข่าวฉาวๆเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมากนัก

ด้วยเหตุที่ “ความศรัทธา” ต่อมหาวิทยาลัย ครูบาอาจารย์ ถือเป็นสิ่งที่สังคมไทยยึดถือกันมาช้านาน

เช่นเดียวกันการนับถือ “พระ”

ฉะนั้นความเชื่อถือ และศรัทธา รวมทั้งการสั่งสอนให้คนไทยสำนึกบุญคุณของครู อาจารย์ จึงเป็นเหตุไม่ให้ “มหาวิทยาลัย” โดยเฉพาะครู อาจารย์ถูกตั้งคำถามมากนัก

ปัญหาในมหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นเรื่องภายในเท่านั้น

แต่เมื่อศาลปกครอง สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และองค์กรอิสระอื่นๆ กำเนิดขึ้นมา

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็พากันเดินออกนอกระบบ

ความเงียบภายในมหาวิทยาลัยจึงไม่เป็นความเงียบอีกต่อไป เพราะผลประโยชน์นับพันล้านบาทภายในมหาวิทยาลัย ที่มาพร้อมกับการขยายตัวของการศึกษา ทำให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จำนวนมาก

แม้ว่ารายได้จะมีไม่มากนัก

แต่ไม่มีใครเชื่อว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะร่ำรวยเป็นร้อยล้านได้ หากไม่มีการโกง

ล่าสุดสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ชี้มูลเรื่องการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินโครงการก่อสร้างอาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จำนวน 88 ล้านบาท มีพฤติการณ์ไม่ชอบด้วยระเบียบ กฎหมาย หรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงิน หรือทรัพย์สินของราชการ และกรณีร้องเรียนกล่าวหาการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษอธิการบดีโดยใช้เงินรายได้ ให้แก่ นายศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดี มมส. มีการเบิกจ่ายโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือกฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้สอบสวนคดีทุจริตเกี่ยวข้องกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก กรณีการกล่าวหา รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ มากจันทร์ อดีตอธิการบดี กับพวกรวม 8 คน ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาผลคัดเลือกผู้ลงทุนจัดสร้างหอพักสวัสดิการนักศึกษา พิจารณาราคาค่าวัสดุก่อสร้างสูงกว่าความเป็นจริง เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เสนอราคา ทำให้งานก่อสร้างมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง 46,560,833.70 บาท

เหตุการณ์ทุจริตในมหาวิทยาลัยมหาศารคามนั้น คณะกรรมการอุดมศึกษาได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยร้ายแรง นายศุภชัย และผู้เกี่ยวข้องแล้ว โดยมีนายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน

แม้ว่าผู้ถูกสอบสวน จะปฏิเสะข้อกล่าวหาทั้งหมด แต่โอกาสรอดยากมาก เพราะมีเหตุการณ์น้อยมากที่สตง. ชี้มูลแล้ว จะไม่เป็นจริง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ นายอักขราทร จุฬารัตน นายกสภา มมส. ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาการทุจริตภายใน มมส. และปัญหาในการตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มมส.คนใหม่แทนนายศุภชัย ที่กำลังจะหมดวาระในเดือนมิถุนายน 2556 เพราะมีความขัดแย้งกับฝ่ายบริหารในมหาวิทยาลัยในการสรรหาคณะกรรมการ

นั่นแสดงให้เห็นว่า อิทธิพลและอำนาจของศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดี มมส. ยังมีอยู่มาก

ทั้งนี้การตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 สตง.มีหนังสือลับถึงหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ นายกสภา มมส., เลขาธิการ กกอ., ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), ปลัด ศธ. , ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอธิการบดี มมส. เรื่องการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินโครงการก่อสร้างอาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.07/2553 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ของ มมส.ในขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้า 50% ของสัญญาจ้าง จำนวน 88 ล้านบาท มีพฤติการณ์ไม่ชอบด้วยระเบียบ กฎหมาย หรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของราชการ และกรณีร้องเรียนกล่าวหาการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษอธิการบดีโดยใช้เงินรายได้ให้แก่นายศุภชัย มีการเบิกจ่ายโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือกฎหมายกำหนด ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่านายศุภชัยมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

นอกจากนี้สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาศารคาม ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องหาทางออกในเรื่องดังกล่าว

นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) อธิบายเหตุการณ์ว่า “ความวุ่นวายในสภามหาวิทยาลัยได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรรมการสภามหาวิทยาลัย ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ท่าน จึงได้ยื่นจดหมายลาออกต่อนายกสภา ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ต่อมานายอักขราทร จุฬารัตน นายกสภามหาวิทยาลัย ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งกลางที่ประชุมสภา วันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้สตง. ยังรายงานพฤติกรรมที่อธิการบดีเบิกเงินค่าตอบแทนตำแหน่งอธิการบดีเกินจำนวนที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติโดยไม่มีระเบียบรองรับ ซึ่งตรวจสอบได้ว่าเงินที่เบิกเกินไปเป็นจำนวนอย่างน้อย 2 ล้านบาท และขณะนี้ สตง.ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมและปรากฏหลักฐานชัดเจนในการดำเนินโครงการก่อสร้างและการดำเนินการอื่นๆ อันเกิดความเสียหายแก่ มมส. เช่น กรณีก่อสร้างศูนย์กีฬามหาวิทยาลัย กรณีการโยกย้ายสถานที่ฝากเงินจำนวน 1,300 ล้านบาท ของมหาวิทยาลัยโดยไม่เป็นไปตามระเบียบ จึงขอเรียกร้องดังนี้

1.เรียกร้องให้อธิการบดี มมส.ออกแถลงการณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาคม

2.เรียกร้องให้อธิการบดีแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดโอกาสให้กระบวนการสอบสวนดำเนินไปด้วยความโปร่งใส

3.ให้สภาเอาใจใส่ในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยยึดหลักธรรมาภิบาล

4. เรียกร้องให้ สกอ. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เร่งดำเนินการตามบทบาทหน้าที่โดยเร็ว

5.เรียกร้องให้การประชุมสภา วันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ เนื่องจากมีการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ในการแต่งตั้งกรรมการสรรหาอธิการบดี หลังจากนายกสภาลาออก

6.เรียกร้องให้กระบวนการสรรหาอธิการบดีและนายกสภา เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลโดยเปิดโอกาสให้คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตมีส่วนร่วมกับกระบวนการสรรหา

ขณะที่การทุจริตในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เนื่องจากอดีตอธิบการบดีใช้ตำแหน่งกู้เงินจากธนาคารกรุงไทยจำนวน 260 ล้านบาท เพื่อซื้อหอพักนักศึกษา จนถูก ป.ป.ช. สอบสวน เพราะการโอนเงินกู้ให้มหาวิทยาลัย และโอนจ่ายให้เอกชน เกิดภายในวันเดียว และทำให้ค่าก่อสร้างสูงกว่าความจริงกว่า 46 ล้านบาท

ทั้งนี้หอพักดังกล่าว ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้นักศึกษาเข้าไปใช้บริการแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือมหาวิทยาลัย ต้องแบกภาระเงินกู้ จำนวน 260 ล้านบาท จากธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นผลมาจากการ รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ได้ใช้ตำแหน่งอธิการบดี ไปลงนามกู้เงินดังกล่าว

สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกำลังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก รศ.ไพบูลย์ แต่ในขณะเดียวกันธนาคารกรุงไทย ก็ฟ้องร้องให้มหาวิทยาลัยชดใช้เงินกู้

ทั้งนี้ผลการพิจารณาคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คดีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกอุทธรณ์ คําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้มหาวิทยาลัยชําระหนี้เงินกู้ ค่าก่อสร้างหอพักนักศึกษาให้แก่ธนาคารกรุงไทย ปรากฎว่า ตามที่ศาลจังหวัดชลบุรีได้อ่านคําพิพากษาคดี แพ่งหมายเลขดํา ที่ 1250/2551 เมื่อวัน ที่ 22 มิถุนายน 2554 โดยศาลพิพากษาให้มหาวิทยาลัยชําระเงินจํานวน 259,999,999.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ ให้แก่ธนาคารกรุงไทย (ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจํานวน 25,002,739.73 บาท) กับให้มหาวิทยาลัย ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนธนาคารกรุงไทย โดยกําหนดค่าทนายความ 200,000 บาท ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 คดีหมายเลขดําที่ 567/2554 นั้น

บัดนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้อ่านคําพิพากษาดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น รายละเอียดตามคําพิพากษา คดีหมายเลขดําที่ 567/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 407/2555

ทำให้มหาวิทยาลัยตัดสินใจยื่นฎีกาคดีดังกล่าว

แต่สำหรับ รศ.ไพบูลย์ มากจันทร์ หายเข้ากลีบเมฆไปแล้ว....


ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดี ม.มหาสารคาม
นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.)
นายอักขราทร จุฬารัตน

กำลังโหลดความคิดเห็น