xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกจี้รัฐหนุนธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมศูนย์การค้าไทยหรือ ทีเอสซีเอ เตรียมตัวพร้อมรบรับเออีซี รับมือทุนต่างชาติทะลวงรุกอาเซียน และไทยเป็นเป้าหมายหลัก เล็งทำข้อมูลระดับชาติ เผยศูนย์การค้าไทยยังโตอีกมาก แค่ 5 เดือนที่ผ่านมาพัฒนาแล้วกว่ 15,000 ล้านบาท คาดอีก 5 ปีจากนี้ ทุ่มงบรวม 120,000 ล้านบาทผุดอีก 30 โครงการยักษ์ จี้รัฐ 3 เรื่องหลักหนุนภาคธุรกิจรับเออีซี

นายนริศ เชยกลิ่น นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย หรือทีเอสซีเอ เปิดเผยว่า การเปิดเออีซี หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จะส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกรวมทั้งศูนย์การค้ามีการแข่งขันที่รุนแรง เพราะตลาดรวมเป็นหนึ่งเดียวมากกว่า 600 ล้านคน ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็มีกลุ่มทุนอิออนจากญี่ปุ่นลงทุนด้านซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยแล้ว กลุ่มอิเกียจากสวีเดนลงทุนด้านศูนย์เฟอร์นิเจอร์ และกลุ่มอีซีซีจากเนเธอร์แลนด์ที่ลงทุนศูนย์การค้าพรอเมอนาดาที่เชียงใหม่ ที่เป็นทุนใหญ่ๆทั้งนั้น

นอกจากลุ่มประเทศในอาซียนแล้วก็อาจจะมีกลุ่มใหญ่จากประเทศจีนและญี่ปุ่นสนใจเข้ามาด้วยเช่นกัน ส่วนจีนก็เป็นอีกประเทศที่สนใจจะรุกเข้าตลาดไทยและอาเซียน แม้ว่าช่วงนี้จะมีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศบ้างก็ตาม แต่เมื่อภาวะดีขึ้น จีนจะรุกตลาดเอเซียแน่นอนและน่ากลัวด้วย

สาเหตุที่ธุกริจค้าปลีกศูนย์การค้าในไทยน่าสนใจเนื่องจากว่าธุรกิจศูนย์การค้าในไทยนั้น ปัจจุบันจากข้อมุลของสมาชิกสมาคมฯรวม 10 ราย ยังไม่รวมกลุ่มอื่นนอกสมาคมฯพบว่า มีศูนย์เปิดบริการแล้ว 74 แห่ง คิดเป็นอัตราส่วน 1 ศูนย์การค้าต่อประชากร 9 แสนคน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นที่เจริญแล้วมีอัตราส่วน 1 ศูนย์การค้าต่อประชากรแค่ 45,000 คนเท่านั้น หมายถึงโอกาสในธุรกิจค้าปลีกคศูนย์การค้าในไทยยังมีอีกมาก ทำให้ต่างชาติสนใจมากขึ้น รวมไปถึง การบริโภคในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะมีส่วนของหุ้นภาคค้าปลีกมีผลประกอบการที่ดีเหนือตลาดตลอด ตลาดต่างจังหวัดก็เติบโตดีไม่แพ้กรุงเทพฯด้วย

อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมตัวเลขเฉพาะสมาชิกสมาคมฯพบว่า ภายในอีก 5 ปีนับจากนี้ จะมีศูนย์การค้าเกิดใหม่ในไทยเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30 โครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงถึง 120,000 ล้านบาท รวมเป็นกว่า 100 โครงการ ยังไม่นับรวมของกลุ่มนอกสมาคมฯและทุนต่างชาติอีกมาก

ขณะที่ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ในกลุ่มของสมาคมฯด้วยกันเอง มีการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่แล้วกว่า 30 แห่ง ใน 30 จังหวัด แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 9 โครงการ เชียงใหม่ 10 โครงการ นอกนั้นก็เป็นที่ นนทบุรี พัทยา ภูเก็ต อยุธยา อุบลราชธานี หาดใหญ่ เพชรบุรี รวมมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท

สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้ดีว่านอกจากทุนไทยต้องแข่งกันเองจากศักยภาพของตลาดแล้ว ยังคงต้องแข่งกับทุนต่างชาติที่จะข้ามาแน่นอน ดังนั้นผู้ประกอบการของไทยควรต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับการแข่งขันจากต่างประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของข้อมูล ซึ่งสมาคมฯเตรียมจะทำข้อมูของค้าปลีกศูนย์การค้าที่ถูกต้องและเป็นทางการมากขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการประกอบการลงทุนรวมทั้งผู้ที่สนใจจะลงทุนด้วย เพื่อให้เป็นข้อมูลมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งไทยเรายังไม่มีข้อมูลที่เป็นระบบต่างจากประเทศอื่นที่มีแล้ว

นายนริศกล่าวด้วยว่า นอกจากการเตรียมพร้อมของเอกชนแล้ว ต้องการเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลและสนับสนุนภาคเอกชนด้วย โดยเฉพาะ 3 เรื่องหลักคือ 1.ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการลงทุนโครงการก่สอร้างศูนย์การค้าที่เป็นอาคารประหยัดพลังงานทั้งศูนย์การค้าเก่าและใหม่ เนื่องจากการลงทุนด้านนี้ต้องใช้งบประมาณสูง นอกจากนั้นต้องการให้ภาครัฐช่วยหาแหล่งพลังงานทดแทน เพื่อลดการใช้พลังงานหลักด้วยเพราะศูนย์การค้าถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่ใช้พลังงานมาก

2.ต้องการให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม เนื่องจากกำแพงภาษีในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งด้านชอปปิงและท่องเที่ยวเพื่อนบ้าน ทำให้ราคาขายสินค้าแบรนด์เนมไม่สามารถสู้คู่แข่งได้ ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียแซงหน้าไทยด้านการท่องเที่ยวและช้อปปิ้งไปแล้ว และขึ้นเป็นเมืองที่ 4 ของโลกรองจาก ลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว หลังจากที่รัฐบาลมาเลเซียใช้งบ ประมาณถึง 20,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนและโปรโมทด้านการท่องเที่ยว

3.ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนระบบสาธารณูปโภคต่างๆที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจศูนย์การค้า เช่น การสร้างสกายวอล์ค การสร้างรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อเข้าภายในศูนย์การค้า หรือแม้กระทั่งรถโดยสารทั่วไปอย่างเช่น ป้ายรถเมล์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

ส่วนมาตรการรองรับกรณีช่วงวันที่ 5 เมษายนเป็นต้นไปที่ไทยจะมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าจากกรณีการหยุดจ่ายพลังงานของพม่านั้น ทางสมาคมฯได้ออกมาตรการไว้ดังนี้ 1.เปิดบริการศูนย์การค้าช้าลง 1 ชั่วโมง และปิดบริการเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง 2.แต่ละศูนย์การค้าจะมีการเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นกว่าเดิม 1- 2 องศา 3.ระบบเสงสว่างจะลดการเปิดไปลงในบางโซนที่ไม่จำเป็นรวมทั้งไฟที่ส่องป้ายจะใช้น้อยลงด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น