โดย...เอกรักษ์ ศรีรุ่ง
วันนี้ (28 ก.พ.) เวลา 14.00 น.ที่เทศบาลนครยะลา นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรี เทศบาลนครยะลา ได้กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะฝ่ายความมั่นคงเดินทางเจรจาที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ มีประเด็นการลงนามกับขบวนการบีอาร์เอ็น โดยมีนายฮาซัน ตอยิบ เลขาธิการขบวนการบีอาร์เอ็น ว่าอยากให้ดูในแง่ของภาพรวมก่อนว่า ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา ลักษณะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากทั่วโลกก็ดี เช่น กรณีไออาร์เอ แอฟริกาใต้ จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องจบด้วยการพุดคุยไม่มีที่ไหนก็ตามที่จบด้วยการใช้กำลังอาวุธ
เมื่อหันกลับมาดูในส่วนของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547 ถ้านับเหตุการณ์ความไม่สงบวันที่ 4 มกราคม จนถึงวันนี้ประมาณ 9 ปีเศษ รัฐบาลหลายยุคหลายสมัย พยายามมีการปรับเปลี่ยนยุทธ์วิธี ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการปกครอง เหตุการณ์ก็ยังไม่มีทีท่าจะสงบ บางครั้งเหมือนจะดีขึ้น บางครั้งก็เห็นภาพของความรุนแรง เพราะฉะนั้น ตนยังไม่กล้าที่จะบอกว่ามันล้มเหลว แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ความรุนแรงถ้าไม่มีการพูดคุยก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องตลอดเวลา
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าการที่รัฐบาลได้เปิดใจกว้าง สิ่งหนึ่งที่อยากให้พี่น้องได้ตระหนักคือ คิดว่าคนไทยเหล่านี้ที่ออกไปต่อสู้ คงไม่มีใครที่อยากเหนื่อยยาก ที่ออกไปต่อสู้ท่ามกลางป่าเขา หรือที่ต่างประเทศ เขาคงมีความอึดอัด หรือมีความขัดข้องใจ ทำให้เกิดมีความแตกต่าง ถ้าเรามองกลุ่มบุคคลเหล่านี้ที่เป็นคนไทยอยู่ในชาติเดียวกัน ตนคิดว่าจะทำให้จิตใจเราเปิดกว้าง
สิ่งที่รัฐบาลทำในฐานะที่ตนอยู่ในพื้นที่ ตั้งแต่เกิดอยู่ใน จ.ยะลา วันนี้ได้มีโอกาสดูแลบ้านเมืองในฐานะผู้ปกครองท้องถิ่น เป็นสิ่งที่น่ายินดี และเป็นจุดเริ่มต้น เป็นความหวังของคนใน 3 จังหวัด เพราะว่าทุกคนอยู่ด้วยความเอือมระอา ไม่ได้เห็นแสงสว่างอะไรมากนัก แม้วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ตนคิดว่าถ้าทุกคนมีความจริงใจกัน เปิดใจเข้าหากัน มีมุมมองความคิดที่กว้างขึ้น ก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
นายพงษ์ศักดิ์ ยังกล่าวว่า วันนี้คงเป็นการเพียงลงนามว่าทุกฝ่ายยินดีที่จะมีการพูดคุยกัน ไม่อยากใช้คำว่าการเจรจา เพราะบางครั้งคนที่อยู่ต่างประเทศมาหลายๆ ปี ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประเทศอาจจะขาดแคลนบ้าง ฝ่ายรัฐเองก็ไม่เคยมีการพูดคุยโดยตรงอาจไม่มีความเข้าใจ การที่รัฐบาลมาเลเซียแสดงตัว ที่เป็นประเทศที่เป็นกลาง อำนวยความสะดวกในการพบปะพูดคุย คงต้องตั้งคณะทำงานที่จะต้องมาพูดคุยในแต่ละประเด็น
กลุ่มขบวนการเองก็ต้องมีความชัดเจน ว่า ในช่วงของการพูดคุยนั้น เหตุความรุนแรงต่างๆ ต้องยุติเพื่อเป็นการแสดงถึงความจริงใจให้แก่คนที่อยู่ในพื้นที่ จะทำอย่างไรให้เหตุการณ์ความไม่สงบได้หยุดชั่วคราว เพื่อให้เห็นเป็นกำลังใจให้แก่คนในพื้นที่ รัฐเองก็ต้องแสดงความจริงใจให้แก่คนในพื้นที่ หลายๆ มาตรการก็ต้องผ่อนคลายลงบ้าง แต่ก็ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง