xs
xsm
sm
md
lg

"จิ๋ว"คัมแบ็กสานฝันรัฐปัตตานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คำนูณ"บอกใบ้ "บิ๊กจิ๋ว"คัมแบ็ก สานฝันตั้ง "รัฐปัตตานี" ปชป.แฉ ศอ.บต. ดันออก พ.ร.ฎ.ตั้งองค์กรมหาชนแก้ไฟใต้ สอดรับแนวคิดที่มี "แม้ว"เป็นเงาทมึนอยู่เบื้องหลัง "มาร์ค"ซัด "ภราดร"อย่าด่วนสรุป จี้ "ปู"พูดความจริงหากพี่ชายไม่มีเอี่ยว สมช.เตรียมเปิดตัว 15 คนคุยบีอาร์เอ็นรอบ 2 สัปดาห์หน้า เผย 9 กลุ่มโจรใต้ขอร่วมวงเจรจา

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค "คำนูณ สิทธิสมาน" ถึงสถานการณ์การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยบอกใบ้ว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับเข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในวัย 81 ปี

"แม้จะยังไม่ลงตัว แต่มีความเป็นไปได้สูงว่า พล.อ.ชวลิต จะกลับมาเป็นรองนายกฯ ในวัย 81 เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ดอกไม้หลากสี มหานครปัตตานี ให้เป็นจริง แรงหนุนส่วนหนึ่ง เชื่อว่ามาจากแกนนำ BRN ที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ"

**แฉพ.ร.ฏ.องค์กรมหาชนเอื้อนครปัตตานี

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ แถลงถึงกรณีที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์กรมหาชน) พ.ศ. ... ที่จะบังคับใช้ในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และสงขลา ในบางพื้นที่ว่า ตนทราบมาว่า รัฐบาลจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเร่งด่วน เพื่อประกาศใช้ในราชกิจานุเบกษา แต่ตนอยากขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ทบทวนเรื่องนี้ เนื่องจากเพราะองค์กรดังกล่าวจะมีภารกิจซ้ำซ้อนกับศอ.บต. และการจัดนำเงินของรัฐบาลเป็นรายปีมาให้กับองค์กรมหาชนนั้น ง่ายต่อการทุจริต และการนำเงินไปสนับสนุนโจรแบ่งแยกดินแดน ที่สำคัญจะเป็นองค์กรที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เชื่อมโยงองค์กรต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้ถูกครอบงำได้ง่าย นอกจากนี้ องค์กรมหาชน มีผู้บริหารเพียง 8 คน และผอ. 1 คน ยากต่อการตรวจสอบ เพราะไม่มีระเบียบให้ ส.ส.เข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณได้

“องค์กรมหาชนที่ตั้งขึ้น ไปสอดคล้องกับแนวคิดนครรัฐปัตตานี ที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลัง ถ้าเมื่อไรที่พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.นิพัฒน์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. รับงานมาจากพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ต้องกลับไปถามประชาชนทั้ง 65 ล้านคนก่อนว่า การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษนครรัฐปัตตานี ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ หรือนี่เป็นเพียงการไถ่บาปของคนที่ชื่อพ.ต.ท.ทักษิณ”นายถาวรกล่าว

นอกจากนี้ ตนทราบมาว่า จะมีการซื้อโรงแรมชางลี จ.ยะลา ซึ่งเป็นโรงแรมที่ปิดกิจการไปแล้ว เพื่อนำมาปรับปรุงใหม่ทั้งหมด จึงอยากถามไปยังพ.ต.อ.ทวีว่าจริงหรือไม่ และในสัปดาห์หน้า ตนจะประชุมส.ส.ภาคใต้ ของพรรค เพื่อหาแนวทางตัดสินใจร่วมกันว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งคาดว่าจะยื่นเป็นญัตติเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพราะต้องการชี้แจงให้ประชาชนรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

**" มาร์ค"ตบปาก"ภราดร"อย่าด่วนสรุป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงเรื่องนครปัตตานี แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่ตอบรับ เพราะเขาต้องการความเป็นธรรม และต้องการมีส่วนร่วม แต่สูตรสำเร็จที่พูดกันอยู่ขณะนี้ เป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่า หากตั้งสมมุติฐานผิดก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ ตนไม่ได้บอกว่าการมีรูปแบบกระจายอำนาจพิเศษไม่ควรทำ แต่ในช่วงที่จะเริ่มต้นการพูดคุยยังไม่มีความชัดเจนว่าฝ่ายที่มาคุยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้หรือไม่ การไปพูดล่วงหน้าจะยิ่งทำให้การทำงานยากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำงาน ต้องรู้ถึงความละเอียดอ่อนของปัญหา พล.ท.ภราดร ก็ต้องทบทวน เพราะสมช. มีบทบาทมาตลอด ถ้ามั่นคงในแนวทางที่เคยทำปัญหาจะไม่เกิด

"เคยทราบมาว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มีความสนใจเรื่องโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่ที่คาบเกี่ยวอยู่ จึงอยากเตือนว่าการดำเนินนโยบายความมั่นคงการต่างประเทศ อย่าเอาผลประโยชน์ทางธุรกิจมาเป็นตัวนำ ส่วนรัฐบาลจะมีการทบทวนสิ่งเหล่านี้หรือไม่อยู่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องยืนยันผลประโยชน์ของประเทศ ส่วนกรณีที่นายกฯ ปฏิเสธกับสื่อต่างชาติว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น ก็คงปฏิเสธไม่ได้ เพราะผู้นำมาเลเชียก็ยอมรับในเรื่องนี้แล้ว จึงอยากให้นายกฯ พูดความจริงกับประชาชน เพราะถ้าไม่พูดความจริง สุดท้ายคำพูดก็จะไม่มีความหมาย ซึ่งตนเป็นห่วงเรื่องนี้ เพราะมีเรื่องสำคัญของประเทศหลายอย่างที่นายกฯ ต้องมีความชัดเจนและให้ความจริงกับประชาชน"

**"กรณ์"ยกฟอล์กแลนด์เป็นครูเตือนสติ"ปู"

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล โดยเปรียบเทียบกับประชามติของประชากรบนเกาะฟอล์กแลนด์ ดินแดนของอังกฤษ ที่อยู่ห่างจากแผ่นดินแม่กว่า 13,000 กิโลเมตร โดยยกเหตุการณ์หลายกรณีที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการต่อสู้คดีอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อนบนปราสาทพระวิหาร เรื่องการเจรจาปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยเกรงว่าประเทศไทยต้องเสียพื้นที่เหล่านี้ไป

**"เหลิม"ป้อง"ภราดร"ไทยมีรัฐเดียว-ไม่แบ่ง

ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พล.ท.ภราดร ระบุบทสรุปสุดท้ายในการแก้ปัญหาภาคใต้คือการตั้ง "มหานครรัฐปัตตานี" ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบว่า ตนได้สอบถามเลขาธิการสมช.แล้ว ยืนยันว่าไม่ได้พูดอย่างนั้น เป็นการแปลความผิดของพรรคประชาธิปัตย์ เลอะเทอะ ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันเลย แล้วใครจะมาเรียกร้อง การลงนามกับนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นวันก่อน ก็ไม่ได้มีการเขียนข้อเสนอนี้ มีแค่กระดาษเปล่า ยืนยันได้ว่ารัฐบาลไม่มีแนวคิดเรื่องดังกล่าวแน่นอน

เมื่อถามว่า รัฐบาลได้ให้นโยบายกับคณะกรรมการที่จะไปเจรจากับแกนนำกลุ่มต่างๆ อย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ให้เจรจาทำอย่างไรก็ได้ให้สงบเรียบร้อย ยืนยันไม่ใช้ความรุนแรง และจะแบ่งแยกดินแดนไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะรัฐไทยเป็นรัฐเดียวตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ตอนนี้พวกเพ้อฝันอิจฉา เพราะเรามาถูกทางแล้ว ทั่วโลกชื่นชมการแก้ปัญหาของนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไปพูดคุยนายฮัสซัน ตอยิบ จนนำมาสู่เงื่อนไขการตั้งมหานครรัฐปัตตานี ร.ต.อ.เฉลิมย้อนถามว่า ใครบอก พ.ต.ท.ทักษิณรักบ้านรักเมือง จึงได้ไปประสานกับนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียให้ช่วยเรื่องนี้ เพราะท่านเป็นตำรวจเก่า รู้ดีว่าถ้ามาเลเซียไม่ให้ที่พักพิง ไม่สนับสนุน การแก้ปัญหาก็ทำได้ง่าย ส่วนแนวคิดตั้งมหานครปัตตานี ไม่มีใครคิด ยืนยันว่าไม่มี

**"ภราดร"ปัดตั้งมหานครปัตตานี

พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นแห่งชาติ (สมช.) กล่าวก่อนเข้าประชุมเป็นการภายในของสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อหารือถึงข้อเสนอในการหารือกับกลุ่มบีอาร์เอ็นวันที่ 28 มี.ค.ว่า ยังไม่ไปถึงข้อเสนอเรื่องรัฐปัตตานี แต่เป็นเพียงการประเมินว่าฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบอาจมีความประสงค์จะสื่อสารมาในลักษณะนั้น ส่วนเรื่องรูปแบบการปกครองพิเศษ ก็ยังไม่มีการตกผลึก เพราะเมื่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยื่นข้อเสนอมา หน่วยงานความมั่นคงต้องหารือก่อนและส่งให้ทางรัฐสภาพิจารณาต่อไป

สำหรับจุดยืนของรัฐบาลไทยต่อข้อเสนอเรื่องรัฐปัตตานี จะยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ส่วนเรื่องเรื่องการปกครองท้องถิ่นจะออกมาในรูปแบบใด คงยังไม่มีสามารถตอบได้ เพราะต้องหารือร่วมกับอีกหลายฝ่าย โดยเฉพาะต้องสอบถามความเห็นของประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ต้องเห็นพ้องต้องกัน และรับความเห็นจากรัฐสภาด้วย ดังนั้น กว่าเรื่องจะจบคงอีกนาน

ส่วนประเด็นการเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นจะเข้ามาตรา 190 หรือไม่นั้น จะเป็นการพูดคุยที่ไม่มีข้อตกลง ไม่มีการบันทึกความเข้าใจ ไม่มีข้อผูกมัดและสัญญาใดๆ ยืนยันว่าไม่มีการลงนามอะไรเพิ่ม ซึ่งทางสมช.ได้หารือกับทางกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว

** ประชุมคัดเลือก 15 คนคุยรอบ 2

พล.ท.ภราดรกล่าวภายหลังประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณารายชื่อคณะอนุกรรมการที่จะไปร่วมประชุมกันฝ่ายละ 15 คน แต่ในขณะนี้รายชื่อที่มียังเกินอยู่ และตนจะคัดเลือกให้เหลือ 15 คน ว่าจะเป็นใครบ้าง สำหรับประเด็นแรกที่จะคุยกัน คือ เรื่องของการหาทางออกเรื่องลดความรุนแรง ซึ่งหมายความว่าทางฝ่ายกองกำลังของเรายังไม่ได้ส่งตัวแทนเข้ามา เนื่องจากเป็นเรื่องของการปูทาง โดยจะใช้ในส่วนของภาคพลเรือน ฝ่ายประชาสังคม รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศก็จะส่งตัวแทนของร่วมพูดคุยด้วย

เมื่อถามว่าใน15คนของฝ่ายกลุ่มบีอาร์เอ็นจะมีการส่งแกนนำระดับใดมาหารือกับทางฝ่ายไทย เลขาธิการสมช. กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะเห็นรายชื่อทั้งสองฝ่าย โดยคณะทำงานฝ่ายไทยจะมีตนเป็นหัวหน้าคณะถาวร แต่ในส่วนของลูกทีมจะมีการสับเปลี่ยนกันไปตามประเด็นที่จะพูดคุย แต่ยังคงมีตัวยืนหลักประมาณ 2-3 คน ซึ่งกรอบเจรจายังคงยืนอยู่ในหลักสันติวิธี ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยเป็นหลัก ตามนโยบายที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ มอบหมาย ส่วนรายละเอียด เมื่อมีการพูดคุยกัน ข้อเสนอของแต่ละฝ่ายจะเริ่มปรากฏชัด และจะกำหนดเป็นข้อยุติได้

เมื่อถามว่า มีกระแสว่า ในที่สุดการเจรจาจะนำไปสู่รัฐปัตตานี พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ในข้อเท็จจริง รัฐปัตตานี เป็นการประเมินสถานการณ์ว่าเขาจะต้องหยิบยกมาพูดคุยกับเรา ที่ตรงนี้ยังไม่รู้ว่าข้อยุติในการปกครองที่เหมาะสมที่จะเขาจะหยิบยกมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับการพูดคุย

***"ปู"นัดหารือกรอบถกบีอาร์เอ็น

นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการรายงานต่อนายกฯ ในวันพฤหัสที่ 14มี.ค.นี้ โดยเป็นการประชุมภายในกับนายกฯ เพื่อดูในกรอบต่างๆ ที่จะไปพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ร่วมกับสมช. และผบ.ทบ. แต่ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายที่พูดไปถึงเรื่องใดๆ ทั้งสิ้นที่ปรากฎเป็นข่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลยึดหลักไม่มีการแบ่งแยกดินแดนใช่หรือไม่ นายสุรนันท์ กล่าวว่า ยึดหลักอยู่แล้ว ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

**"นพดล"โต้"แม้ว"สั่งตั้งนครปัตตานี

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีเกี่ยวข้องกับการตั้งมหานครปัตตานี เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว และขอยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีการลงทุนด้านพลังงาน ทั้งน้ำมันและแก๊ส ตามที่นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาแถลงข่าวโจมตีว่า พ.ต.ท.ทักษิณสั่งให้เดินหน้าตั้งมหานครปัตตานีเพื่อหวังผลประโยชน์ในบ่อน้ำมันและแก๊สในอ่าวไทย

“นายถาวรคงมีเวลาว่างในช่วงเป็นฝ่ายค้าน จึงแต่งนิยายขึ้นมา การจะตั้งหรือไม่ตั้งนครปัตตานี เป็นเรื่องที่คนที่เกี่ยวข้องจะไปพิจารณา ไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่เห็นมีข้อเสนอของใครชัดเจน และนายถาวรไม่ควรมาบิดเบือนสร้างวาทกรรมให้คนกลัวแนวคิดนี้ เพื่อหวังผลทางการเมืองและโยนให้เป็นความคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นเรื่องเท็จและเหลวไหลทั้งสิ้น” นายนพดลกล่าว

ทั้งนี้ นายนพดลย้ำว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีการลงทุนด้านพลังงาน ทั้งน้ำมันและแก๊ส หากนายถาวรมีหลักฐานว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีหุ้นในธุรกิจพลังงาน เช่น ในปตท. หรือในประเทศเพื่อนบ้าน พ.ต.ท.ทักษิณจะยกหุ้นให้ทั้งหมด และจะบริจาคเงิน 10 ล้านบาทสมทบมูลนิธิคนปัญญาอ่อนอีกด้วย ถ้าไม่มีหลักฐาน นายถาวรควรรักษาเกียรติโดยออกมาขอโทษว่าพูดเท็จไปแล้วและขอให้เลิกนิสัยสร้างเรื่องเท็จใส่ร้ายผู้อื่นและหันมาร่วมมือกันแก้ปัญหานำสันติสุขมาสู่ภาคใต้จะดีกว่า

**9 กลุ่มเล็งร่วมวงเจรจาดับไฟใต้

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ทางพล.ท.ภราดร ในฐานะหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ไทย พร้อมคณะจะเดินทางไปยังมาเลเซีย เพื่อพูดคุยกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ พล.ท.ภราดร ได้ลงนามร่วมแสดงเจตจำนงในการริเริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับนายฮัดซัน ตอยิบ รองเลขาธิการกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ศูนย์ฝึกตำรวจเมื่อวันที่ 28 กพ.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ทางมาเลเซียแจ้งทางฝ่ายไทยว่า มีกลุ่มที่ต้องการเข้าร่วมการเจรจา 9 กลุ่ม ประกอบด้วย พูโลเก่า, พูโลใหม่, พูโล 88 (รวม), บีอาร์เอ็น-คองเกรส, บีอาร์เอ็น-โคออดิเนท, บีไอพีพี, จีเอ็มไอพี (ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี), จีเอ็มพี, จียูพี (กลุ่มอูลามาปัตตานี) เนื่องจากกลุ่มต่างๆ ไม่อยากตกขบวน จึงพยายามติดต่อเข้มาพูดคุยหลายกลุ่ม เพราะกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เข้ามาเจรจากับไทยถือเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดในพื้นที่ ซึ่งยอมออกมาตามการบีบของมาเลเซียให้พูดคุยกับไทย

แหล่งข่าวด้านความมั่นคง กล่าวว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับทางการไทยแล้ว กลุ่มบีอาร์เอ็นบอกเราว่า สถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้มีการก่อเหตุที่เบาบางลงแล้ว ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า แกนนำที่มาพูดคุยกับเราสามารถควบคุมการปฏิบัติการของกำลังทหารของขบวนการได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำโรดแมปเพื่อนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่า ต้องใช้เวลาและต้องพูดคุยกับแกนนำซึ่งคุมกำลังทหารของขบวนการ และอาร์เคเค เพื่อหยุดการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ให้เกิดภาพชัดเจน โดยการพูดคุยไม่สามารถทำอย่างเปิดเผยได้ เพราะคนเหล่านั้นมีหมายจับ เช่น ดุลเลาะห์ แวมานอ แกนนำบีอาร์เอ็นคุมฝ่ยทหาร อดีตอุสต๊าด รร.ญิฮาดวิทยา ที่หนีหมายจับของประเทศไทยไปตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คณะการพูดคุยของไทยจะไปเจรจาในทางลับ รวมถึงบุคคลสำคัญที่คุมระดับปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในประเทศไทย

**คุมเข้มวันสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็น

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองนราธิวาสว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตรึงกำลังดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในทุกจุด โดยเฉพาะตามสถานที่ชุมชน สวนสาธารณะ สถานที่ราชการและโรงเรียน รวมถึงมีการตั้งจุดตรวจลอยทั้งถนนสายหลักและสายรอง เพื่อเรียกตรวจรถจักรยานยนต์และรถยนต์ทุกคัน

อย่างไรก็ตาม การดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในครั้งนี้ เนื่องจากทาง กอ.รมนงภาค 4 ส่วนหน้า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุความไม่สงบขึ้น เนื่องในวันสัญลักษณ์หรือวันสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็น
กำลังโหลดความคิดเห็น