ต้องรอดูสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้นหรือไม่ หลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะเสร็จสิ้นภารกิจการเดินทางไปมาเลเซียแบบเช้าไปดึกกลับเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ที่ผ่านมา ไปร่วมประชุมประจำปีที่คณะของไทย-มาเลเซีย คุยกันหลายเรื่องอาทิ เศรษฐกิจ-การค้า-ความร่วมมือระหว่างชายแดน
แม้พอคาดเดาได้ว่า ในการแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์กับสื่อของฝ่ายรัฐบาลไทยและมาเลเซีย คงจะไม่มีการเปิดเผยหมดว่าคุยอะไรกันบ้าง เพราะบางเรื่องที่เป็นเรื่องความมั่นคงเรื่องราชการลับเกี่ยวกับการร่วมมือกันทำให้สถานการณ์ภาคใต้ของไทยดีขึ้น ของแบบนี้รัฐบาลทั้งสองประเทศก็ต้องเก็บเอาไว้บ้างไม่ใช่มีอะไรก็ออกมาพูดหมด ถึงหัวข้อการเจรจาหารือ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้ก่อเหตุในพื้นที่ภาคใต้ของไทยตามมาได้
“ทีมข่าวการเมือง”ก็เหมือนกับคนไทยทุกคนที่หวังจะเห็นสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น ถ้าหากยิ่งลักษณ์กลับจากมาเลเซียแล้วความรุนแรงลดน้อยลงบ้างแม้ไม่มาก ก็เป็นเรื่องน่ายินดี
ยิ่งตอนนี้หลายฝ่ายโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง-การทหาร ต่างก็บอกตรงกันว่า ต้องเฝ้าจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพราะเห็นได้ชัดว่านับแต่เกิดเหตุปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย ทำให้ผู้ก่อการร้ายตายไป16 ศพที่บาเจาะ นราธิวาส สถานการณ์ในพื้นที่ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส เห็นได้ชัดว่ารุนแรงขึ้นกว่าก่อนที่จะเกิดเหตุที่บาเจาะ โดยมีการสร้างสถานการณ์อย่างต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวัน
ดังนั้น หากมีวิธีการไหนที่รัฐบาล-กองทัพ-หน่วยงานความมั่นคง จะนำมาใช้แล้วทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ทำให้ความทุกข์ของประชาชนในพื้นที่คลายลงได้บ้าง ทุกฝ่ายต่างก็หนุนหลังทั้งสิ้น
กรณีที่รัฐบาลโดยเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศปก.กปต.)ออกมาปัดฝุ่น “กลุ่มวาดะห์”ขึ้นมาใหม่ ด้วยการตั้งนักการเมืองกลุ่มวาดะห์เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวไม่เกี่ยวกับศปก.กปต. ที่มีอาทิเช่น วันมูหะมัดนอร์ มะทา, เด่น โต๊ะมีนา, นายอารีเพ็ญ อุตรสินธ์, นายนัจมุดดีน อูมา เป็นต้น
แม้ดูแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ของเฉลิมและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่พยายามปัดฝุ่นทำให้กลุ่มวาดะห์กลับมามีบทบาทการเมืองอีกครั้งหลังจากกลุ่มวาดะห์ต่างต้องสิ้นชื่อทางการเมืองในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2554เพราะสอบตกหมด ทำให้กลุ่มวาดะห์แทบปิดฉากการเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่ต่อมาสมาชิกกลุ่มวาดะห์ทั้งหมดเห็นตรงกันว่า ยังไม่สายในการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งและพรรคที่จะรองรับทำให้กลุ่มวาดะห์กลับมามีบทบาทการเมืองได้อีกครั้ง ก็ต้องเป็น “พรรคเพื่อไทย”ที่เป็นพรรครัฐบาลเวลานี้เท่านั้น
หลังคนในกลุ่มวาดะห์เห็นแล้วว่า การที่คนในกลุ่มวาดะห์บางส่วนย้ายไปอยู่พรรคมาตุภูมิและพลเอกสนธิ บุญรัตกลิน เพราะเชื่อตอนนั้นว่าการที่พลเอกสนธิเป็นอดีตผบ.ทบ.-อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่เป็นชาวไทยมุสลิมแล้วจะทำให้ง่ายต่อการได้รับการเลือกตั้งดีกว่าที่จะอยู่กับพรรคเพื่อไทยของทักษิณ ชินวัตรซึ่งคนในพื้นที่ยังต่อต้านจากเหตุการณ์ตากใบ
เป็นความเชื่อที่ใช้ไม่ได้ผล
เพราะถึงอยู่กับพรรคมาตุภูมิก็สอบตกอยู่ดี สู้อยู่กับพรรคเพื่อไทยแล้วสู้กับประชาธิปัตย์ยังมีโอกาสมากกว่า จนเป็นที่มาของการรวมกลุ่มกันใหม่ของวาดะห์ในรัฐบาลและเตรียมเปิดตัวเข้าเป็นกลุ่มการเมืองหลังในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคเพื่อไทยในอนาคตเมื่อการเลือกตั้งใหญ่มาถึง
การปัดฝุ่นของเฉลิมที่มอบบทบาทการเมืองในพื้นที่ให้กับกลุ่มวาดะห์ด้วยการให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ทำงานด้านการข่าว-งานมวลชนสัมพันธ์-การประสานกับผู้นำชุมชุมต่างๆในพื้นที่กับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ผ่านคำสั่งการตั้งเป็นที่ปรึกษาดังกล่าว จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องของการเมืองล้วนๆของเฉลิมและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
โดยที่หลายคนต่างเชื่อว่า เรื่องนี้ทักษิณ ชินวัตรก็ไม่ขัดข้องที่กลุ่มวาดะห์ทั้งหมดจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่เพื่อไทย ก็ขนาดพวกอดีตส.ส.ไทยรักไทยหลายสิบคนที่เคยหนีเอาตัวรอดตอนทักษิณลำบากหลัง 19 ก.ย. 49 และตอนยุบพรรคพลังประชาชน ทักษิณยังรับกลับมาอยู่เพื่อไทยเกือบหมด แล้วกับกลุ่มวาดะห์ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับทักษิณ ไฉนเลยทักษิณจะเปิดแขนรับกลับมาทั้งหมดไม่ได้ เพื่อให้กลุ่มวาดะห์เป็นหัวหอกในการสู้กับประชาธิปัตย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
การที่เฉลิม ตั้งกลุ่มวาดะห์เป็นที่ปรึกษาและเตรียมมอบบทบาทการเมืองให้ในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ภาคใต้ ไม่ผิดแน่นอน ที่จะบอกว่าทักษิณต้องรับรู้และเห็นชอบด้วยแล้ว เพราะเป็นวิธีการที่มีแต่ได้ ไม่มีอะไรต้องเสียหรือเสี่ยง
ในเมื่อหลายวิธีการที่รัฐบาลเพื่อไทยพยายามจะนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหา เช่นการจะใช้มาตรา 21 ของพรบ.มั่นคงฯ ในบางพื้นที่เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือผู้หลบหนีคดีในพื้นที่เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อกลับตัวกลับใจ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลเหมือนกันหมดในทุกพื้นที่หรือไม่ แต่ก็ต้องทำดีกว่าจะไม่คิดทำอะไรเลย
แล้วการจะให้กลุ่มวาดะห์เข้ามาช่วยงานอีกทาง หากล้มเหลวไม่มีอะไรดีขึ้น มันก็ไม่ได้ถือว่าเสียหายมากนักสำหรับรัฐบาลรวมถึงตัวเฉลิม
แต่หากสำเร็จระดับหนึ่ง คนในพื้นที่ให้การตอบรับการเข้ามาช่วยงานของกลุ่มวาดะห์ เช่นทำให้มีการพูดคุยกันมากขึ้นของคนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์
ก็เป็นความสำเร็จที่กลุ่มวาดะห์จะได้ไปทางการเมือง ตัวเฉลิม ก็จะได้เครดิตตามไปด้วยในฐานะคนดึงกลุ่มวาดะห์มาช่วยงาน
ครั้นหากล้มเหลวสิ้นเชิงไม่มีอะไรดีขึ้น แถมหนักกว่าเก่า ความรุนแรงกลับมากขึ้น เพราะคนในพื้นที่ไม่ยอมรับกลุ่มวาดะห์ที่ไปช่วยงานรัฐบาลนอมินีทักษิณ ชินวัตร
ถ้าออกมาแบบนี้ ตัวเฉลิม ก็ค่อยไปแก้ปัญหากันอีกที เผลอๆ ไม่แน่ ตัวเฉลิมก็อาจชิ่งหนีความรับผิดชอบ บอกที่สถานการณ์ภาคใต้ไม่ดีขึ้นเป็นเรื่องการเมืองในพื้นที่ คนยังไม่ยอมรับกลุ่มวาดะห์เต็มร้อย และยืนยันไปว่ายุทธศาสตร์การดึงวาดะห์มาช่วยงานไม่ผิดแต่วิธีการที่ใช้ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์
มีสิทธิ์ผู้คน อาจได้เห็นการชิ่งแบบเนียนๆ อย่างนี้ของเฉลิม ก็ได้
หากเป็นแบบนี้ ดูแล้ว ฝ่ายที่จะรับขี้ไปเต็มๆ ก็ไม่ใช่ใคร “กลุ่มวาดะห์”นั่นเอง!
ให้รอดูกันว่า หลังนัดหมายที่วางกันไว้สำหรับการประชุมที่ปรึกษากลุ่มวาดะห์นัดแรกเมื่อ 1 มีนาคมที่ผ่านมา การประชุมดังกล่าวจะมีข้อเสนอหรือแผนงานอะไรที่เป็นรูปธรรมออกมาจากกลุ่มวาดะห์หรือไม่ และตัวเฉลิม จะตอบรับหรือให้ความสำคัญกับแนวทางข้อคิดเห็นของกลุ่มวาดะห์มากน้อยแค่ไหน
ว่าไปแล้ว กลุ่มวาดะห์เอง ก็เสี่ยงไม่น้อย ในการกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง แล้วเปิดตัวชัดว่าจะกลับมาอยู่กับเพื่อไทย เพราะกระแสไม่เอาทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ของกลุ่มวาดะห์ ก็ยังมีอยู่ หากกลุ่มวาดะห์เข้ามาช่วยงานรัฐบาลอย่างเต็มตัวครั้งแรกด้วยการเป็นที่ปรึกษาให้กับเฉลิม ปรากฏว่าผู้คนโดยเฉพาะคนในพื้นที่เลือกตั้งของกลุ่มวาดะห์เห็นภาพชัดว่า กลุ่มวาดะห์ไม่ได้มีบทบาทอะไรในการช่วยแก้ปัญหา แถมดูแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นแค่การเดินหมากการเมืองในพื้นที่ของเพื่อไทย-ทักษิณ-เฉลิมเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
แทนที่จะทำให้กลุ่มวาดะห์กลับมาได้อีกครั้ง ก็อาจเป็นตรงกันข้ามคือถึงขั้นปิดฉากถาวรไปเลย ตรงนี้ กลุ่มวาดะห์ก็คงคิดหนักในการกำหนดท่าทีของตัวเอง
อีกหนึ่งคนที่คงคิดหนักไม่น้อย ก็คือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลูกพี่เก่าของกลุ่มวาดะห์ ที่ล่าสุดมีชื่อโผล่ตามหน้าสื่อว่าจะกลับมาเป็นเป็นรัฐมนตรีในครม.ยิ่งลักษณ์ แต่ตอนหลังบอกว่าแนวโน้มหากกลับมาจริงน่าจะเป็น “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง”ไปก่อน ซึ่งล่าสุดยิ่งลักษณ์ก็ให้สัมภาษณ์เมื่อ 27 ก.พ. 56 ในลักษณะไม่ตอบรับแต่ก็ไม่ปฎิเสธข่าวดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่า บิ๊กจิ๋วเองก็คงคิดหนักเช่นกัน หากต้องกลับมาทางการเมืองมาเป็นที่ปรึกษานายกฯ แล้วไม่ได้มีบทบาทอะไรจริงจังโดยเฉพาะหากถูกดึงให้มาช่วยงานแก้ปัญหาภาคใต้เหมือนกับกลุ่มวาดะห์แล้วต้องมาพบภายหลังว่าเป็นแค่อีกหนึ่งเบี้ยให้ทักษิณทดลองใช้เดินในแผนแก้ปัญหาภาคใต้ ที่หากล้มเหลว ไม่เวิร์ค ก็จะทำให้เสียเครดิตตัวเองไป
การกลับมาของกลุ่มวาดะห์และข่าวการเคลื่อนไหวการเมืองที่มีชื่อบิ๊กจิ๋วกลับมาอีกรอบ พูดให้เห็นภาพก็ต้องบอกว่า ทักษิณยังเป็นผู้กำหนดเกมตัวจริง หาใช่ยิ่งลักษณ์และเฉลิมอย่างที่คนภายนอกมอง