xs
xsm
sm
md
lg

ทำได้เหมือนพูด พูดได้เหมือนทำ : คุณธรรมที่นักการเมืองจะต้องมี

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพูดอย่างใด ทำได้อย่างนั้น ทำได้อย่างใด ก็พูดได้อย่างนั้น เหตุที่พูดได้ตามที่ทำ ทำได้ตามที่พูด ฉะนั้นจึงเรียกว่า ตถาคต” นี่คือพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายเกี่ยวกับความหมายของคำว่าตถาคต

โดยนัยแห่งพุทธพจน์นี้ พระพุทธองค์ทรงหมายถึงคำสอนใดที่พระองค์ตรัสแก่ผู้อื่น เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงทำได้ตามนั้น ซึ่งเป็นการยืนยันว่าพระองค์ไม่เคยทรงสอนในสิ่งที่พระองค์ทรงทำไม่ได้นั่นเอง

ท่านผู้อ่านที่เป็นชาวพุทธบางท่านอาจเกิดข้อกังขา ไม่มีบ้างหรือที่พระพุทธเจ้าทรงสอนในสิ่งที่พระองค์ทรงทำไม่ได้?

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ถ้าท่านผู้อ่านได้ลองย้อนไปดูพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพบกับปัญจวัคคีย์ครั้งแรกหลังจากที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว และปรากฏว่า ปัญจวัคคีย์หรือฤาษีทั้ง 5 ได้แสดงอาการกระด้างกระเดื่องในทำนองไม่เชื่อถือหลังจากที่พวกตนได้เห็นนักบวชในนามเจ้าชายสิทธัตถะได้เลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ด้วยคิดว่าเป็นคนมีความเพียรย่อหย่อน ไหนเลยจักบรรลุธรรมวิเศษได้ และได้จากไปทิ้งให้เจ้าชายสิทธัตถะอยู่โดยลำพังจนได้ตรัสรู้ในที่สุด

แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงขอให้ปัญจวัคคีย์ย้อนไประลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตว่า พระองค์เคยตรัสหรือไม่ว่า พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว และเมื่อปัญจวัคคีย์ได้ย้อนไปในอดีตก็ไม่ปรากฏว่าเคยตรัสเช่นนี้จึงได้เชื่อ และยอมฟังคำสอนจากพระองค์ พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงปฐมเทศนาที่ชื่อธัมมจักกัปปวัตนสูตร หรือสูตรที่ว่าด้วยการหมุนไปของวงล้อแห่งธรรม ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยอริยสัจ 4 มรรค 8 และญาณ 3 และมีผลให้ 1 ใน 5 ของปัญจวัคคีย์คือ อัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นสาวกองค์แรกของพระพุทธเจ้า

จากพุทธประวัติตอนนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสร้างความเชื่อมั่นในคำพูดอันเป็นลักษณะของคำมั่นสัญญาต่อคนหมู่มากของบุคคลซึ่งอยู่ในลักษณะผู้นำ และมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมทั้งในแง่บวกและลบในฐานะผู้ฟังและต้องทำตาม โดยการให้ผู้ฟังย้อนไปดูในอดีตว่าเคยพูดสิ่งใดแล้วทำได้หรือไม่ได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำพูดของนักการเมืองในโอกาสปราศรัยหาเสียงเรียกความเชื่อมั่นเพื่อหวังชัยชนะทางการเมือง และมีตำแหน่งบริหารรับผิดชอบในกิจการของประเทศหรือของหน่วยงานในระดับรองลงมา

ในรอบหนึ่งเดือนก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา คน กทม.อยู่ในฐานะผู้ฟังคำมั่นสัญญาจากผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สมัครจากสองพรรคการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีอยู่หลายประการเมื่อฟังแล้วและย้อนไปดูพฤติกรรมทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับการปราศรัยหาเสียง และเมื่อได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ก็พอจะนำมาอนุมานกับนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และน่าจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการแพ้ชนะการเลือกตั้งทางการเมืองในระดับท้องถิ่นในครั้งนี้

เริ่มด้วยพรรคเพื่อไทย ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคนี้ได้นำเสนอนโยบายที่เรียกได้ว่าเป็นประชานิยมสุดโต่ง และถือได้ว่าน่าจะเป็นเหตุปัจจัยให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะทางการเมืองเหนือคู่แข่งพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลปรากฏว่านโยบายที่ว่านี้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และปรากฏผลตามที่สัญญาไว้ ซึ่งอนุมานได้ว่าเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้

นโยบายที่ว่านี้ เท่าที่พอจะมองเห็นได้ว่าล้มเหลวหรือมิได้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้สรุปได้ดังนี้

1. ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนขั้นต้นของผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท

แต่เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล ค่าแรงขั้นต่ำไม่สามารถประกาศใช้ได้ทั่วประเทศพร้อมกันในทันที และที่ยิ่งกว่านี้ เมื่อประกาศใช้พร้อมกันปรากฏผลในทางลบคือ ผู้ประกอบการหลายรายปิดกิจการเพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้แบกรับภาระไม่ไหว และที่สำคัญเหนืออื่นใด ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นโดยอ้างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

ส่วนเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท จนถึงบัดนี้ยังเริ่มไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

2. นโยบายพลังงาน ที่เสนอว่าจะยกเลิกกองทุนน้ำมัน และทำให้ราคาน้ำมันลง

แต่ปรากฏว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาล ถึงแม้จะมีการยกเลิกกองทุนน้ำมัน แต่ก็เพียงระยะสั้นๆ และได้กลับมาเก็บต่อ ทั้งราคาน้ำมันก็ไม่ได้ลดลงแถมแพงกว่าเดิมด้วย ทั้งราคาก๊าซแอลพีจีก็กำลังจะปรับขึ้นด้วยจึงทำให้ต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อนำไปรวมกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

3. นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท ปรากฏว่าเมื่อได้ดำเนินการส่งผลทางลบโดยรวม ทำให้ราคาข้าวที่ส่งออกเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม เป็นต้น จึงทำให้ประเทศเสียเปรียบคู่แข่ง และสูญเสียอันดับหนึ่งของผู้ส่งออกข้าวให้แก่ประเทศคู่แข่งไปเรียบร้อยแล้ว

ยิ่งกว่านี้ เมื่อส่งออกได้น้อยลง ส่งผลให้ข้าวสารที่เก็บในโกดังเสื่อมคุณภาพและขายออกไม่ได้ในราคาที่ควรจะเป็น จึงทำให้เงินหมุนของ ธ.ก.ส.ขาดแคล นและส่งผลถึงการรับจำนำข้าวในปีต่อไป ทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินให้แก่ประเทศโดยรวมด้วย

เพียง 3 ตัวอย่างข้างต้นก็มากพอที่จะทำให้ประชาชนผู้ที่พอจะมีความรู้ มีความคิด หรือที่เรียกว่า ปัญญาชน เกิดความกลัวการเข้ามาครองอำนาจทางการเมืองการปกครองในส่วนกลางโดยอาศัยตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จึงหันไปเทคะแนนให้แก่ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่ปกติคนส่วนหนึ่งที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ แต่เลือกเพราะพรรคเพื่อไทยมากกว่า

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าย้อนไปดูการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งก็ดี หรือการแสดงความคิดเห็นในฐานะเป็นฝ่ายค้านก็ดี มาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมทางการเมืองเมื่อได้เป็นรัฐบาล จะพบว่าพรรคนี้จะทำได้น้อยหรือไม่ได้ทำตามที่เคยปราศรัยหาเสียงหรือแสดงความคิดเห็นไว้ จึงทำให้คนส่วนหนึ่งเบื่อ ไม่ยอมเลือกพรรคนี้ แต่เมื่อนำความเกลียดพรรคประชาธิปัตย์เปรียบเทียบกับความกลัวพรรคเพื่อไทยแล้ว คนยังยอมเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้

อีกประการหนึ่งที่ควรจะได้นำมาพูดถึงในครั้งนี้คือ พฤติกรรมคนทำโพลกับผลของโพลที่ปรากฏออกมาก่อนหน้าการเลือกตั้ง และแม้กระทั่งปิดหีบเลือกตั้งแล้วยังยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยชนะเหนือพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อผลการนับคะแนนออกมาจริงๆ กลับตรงกันข้ามกับพฤติกรรมของคนทำโพล จึงถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวและทำลายชื่อเสียงของคนทำโพลทุกสำนัก ยกเว้นนิด้า และที่เป็นเช่นนี้น่าจะด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. คนทำโพลอาจมีอคติด้วยเกลียดพรรคประชาธิปัตย์ และชอบพรรคเพื่อไทยเป็นพื้นอยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้การทำโพลเอนเอียง

2. การตั้งคำถามเป็นลักษณะชี้นำเพื่อสร้างความชอบธรรมรองรับผลการเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงถึงว่าจะชอบธรรมหรือไม่

3. คนกรุงเทพฯ ไม่ให้ความร่วมมือในการทำโพล ด้วยการไม่ตอบตรงตามความจริง

4. คนทำโพลเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้ด้วยอคติตามข้อ 1

ทั้ง 4 ประการนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว แต่ในความเป็นจริงอาจมีข้อผิดพลาดในทางวิชาการของคนทำโพลโดยไม่มีอะไรแอบแฝงก็ได้ และถ้าเป็นเช่นนั้นผู้เขียนก็ขออภัยในการแสดงความคิดเห็นด้วยมุมมองที่อาศัยภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่เกิดขึ้น และเป็นมาจากการทำโพลและเกิดความผิดพลาด 2-3 ครั้งก่อนหน้านี้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น