ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียบร้อยโรงเรียน ประชาธิปัตย์ไปเป็นที่เรียบร้อย เมื่อที่สุดแล้ว “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ก็นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัย โดยผลการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ทั้ง 50 เขตอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ปี 2556 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,244,465 คน โดยมีผู้มาใช้สิทธิ 2,715,640 คิดเป็น 63.98% แบ่งเป็นบัตรดี 2,630,890 ใบ คิดเป็น 96.88% บัตรเสีย 37,000 ใบ คิดเป็น 1.37% บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 47,448 ใบ คิดเป็น 1.75%
ทั้งนี้ ผลการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ปี 2556 จาก 6,548 หน่วย คิดเป็น 100% มีดังนี้ อันดับ 1 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 16 คะแนน 1,256,349 คะแนน คิดเป็น 47.75 เปอร์เซ็นต์ อันดับ 2 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ พรรคเพื่อไทย หมายเลข 9 คะแนน 1,077,899 คะแนน คิดเป็น 40.97 เปอร์เซ็นต์ อันดับ 4 นายสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 17 คะแนน 78,825 คะแนน คิดเป็น 3.00 เปอร์เซ็นต์ อันดับ 5 นายโฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 10 คะแนน 28,640 คะแนน คิดเป็น 1.09 เปอร์เซ็นต์
เป็นชัยชนะที่ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ทำลายสถิติของ "สมัคร สุนทรเวช" ที่เคยได้รับเลือกตั้งที่ 1,016,096 เสียง คะแนนเสียงท่วมท้นส่งผลให้ ปชป. ยังคงครอง "เก้าอี้เสาชิงช้า" ยาวนานต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 และทำให้ "คุณชายหมู" เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 3 ที่นั่งเก้าอี้ติดต่อกัน 2 สมัย ต่อจาก "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" (2528-2535) และ "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" (2547-2551)
และถ้าจะกล่าวในแง่ความเป็นประชาธิปไตยต้องว่าน่าชื่นใจไม่น้อย ในจำนวนตัวเลขผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เทียบกับผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 4,244,465 คนแล้ว ก็คือ 63.98% อันเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาตั้งแต่ พ.ศ.2518 เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี เมื่อลงลึกในรายละเอียดของคะแนนแต่ละเขตแล้ว จากจำนวน 50 เขตเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ได้ไป 39 เขตเลือกตั้ง เพื่อไทยได้ 11 เขตเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฐานเสียงเดิมของการเลือกตั้งสนามใหญ่ที่ผ่านมาทั้งหมด
มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ใน 39 เขตเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์คว้าชัยชนะมาได้นั้น สามารถเจาะพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยเพิ่มมาได้ 5 เขตคือ ราชเทวี บึงกุ่ม มีนบุรี บางขุนเทียนและบางบอน
มีข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า ใน 5 เขตที่พรรคประชาธิปัตย์เบียดแซงพรรคเพื่อไทยขึ้นมาได้ หนึ่งในนั้นก็คือเขตบางกะปิที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ยืนทะมึนคุมพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
มีข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า ใน 5 เขตที่พรรคประชาธิปัตย์เบียดแซงพรรคเพื่อไทยขึ้นมาได้ หนึ่งในนั้นก็คือเขตบางบอน ซึ่งมีขุนศึกฝั่นธนบุรีอย่าง ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ยืนทะมึนคุมพื้นที่
และมีข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า ใน 5 เขตที่พรรคประชาธิปัตย์เบียดแซงพรรคเพื่อไทยขึ้นมาได้ หนึ่งในนั้นก็คือ เขตมีนบุรีที่มีจอมเก๋าเจ้าของพื้นที่อย่าง นายวิชัย มีนชัยนันทน์ ยืนทะมึนคุมพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่เหล่านี้
คุณหญิงสุดารัตน์ที่มีข่าวว่า เสียอกเสียใจและผิดหวังที่พ่อเจ้าประคุณทูนหัวแห่งดูไบไม่เลือก จงใจปล่อยให้แพ้หรือไม่
เกิดอะไรขึ้นกับวิชัย มีนชัยนันทน์ถึงไม่สามารถรักษาพื้นที่ของตัวเองเอาไว้ได้
ส่วนกรณีเขตบางบอนก็สะท้อนให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว สถานะของเป็ดเหลิมมิได้หนักแน่นดั่งขุนเขา หากแต่คลอนแคลนและไม่อาจไว้เนื้อเชื่อใจได้
นี่คือโจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่จะต้องเร่งแก้ปัญหา
กระนั้นก็ดี กล่าวสำหรับพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยสามารถตีตื้นชิงพื้นที่ได้ถึง 11 เขต ได้แก่ เขตดุสิต เขตหนองจอก เขตบางเขน เขตลาดกระบัง เขตหนองแขม เขตบางซื่อ เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตสายไหม เขตคันนายาว เขตคลองสามวา ก็เป็นสัญญาณการกระชับพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยที่น่ากลัวไม่ใช่น้อยเช่นกัน
โดยเฉพาะพื้นที่เขตดุสิตซึ่งมี ส.ส.ของเพื่อไทยอยู่ในพื้นที่ก็ยังคงปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้เหมือนเดิม โดย พล.ต.อ.พงศพัศชนะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ไปด้วยคะแนน 21,818 คะแนน ต่อ 17,386 คะแนน
และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ เขตดุสิตเป็นเขตพื้นที่ทหาร ซึ่งนั่นหมายความว่า ทหารเทใจให้กับเพื่อไทยมากกว่าประชาธิปัตย์
ขณะที่เมื่อย้อนกลับไปในภาพรวม หากมองในเชิงปริมาณ มองในเชิงตัวเลข อาจให้ความหมายว่า 1,256,231 คะแนนของพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า 1,077,899 คะแนนของพรรคเพื่อไทยถึง 178,332 คะแนน แต่จำนวน 1,077,899 คะแนนก็คือตัวเลขที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีนัยสำคัญทางการเมือง ยิ่งหากมองจากพื้นฐาน 500,000 ถึง 600,000 คะแนนที่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนเคยได้มา ก็ยิ่งน่าจับตา เพราะเป็นการขยายตัวของฐานเสียงที่เพิ่มมากขึ้น
นี่เป็นคำถามที่สำคัญไม่น้อยเช่นกันว่า ทำไมคะแนนของพรรคเพื่อไทยจึงโตวันโตคืน
ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทย สามารถบริหารจัดการคะแนนและการเมืองได้ภายในระยะเวลาอันสั้นเพียงแต่ต้องมาพลาด ให้กับกลยุทธ์ทางการเมืองของประชาธิปัตย์ ที่ปลุกกระแสความหวาดกลัวและกดดันให้คนกรุงเทพฯต้องเลือกข้างเอาในช่วงโค้งสุดท้าย ถึงได้คะแนนถล่มทลายอย่างที่เห็น
ในทางกลับกันมองในมุมของพรรคประชาธิปัตย์ที่กวาดคะแนนทำสถิติล้านกว่าคะแนนนั้นก็หาใช่ว่าจะน่าใจดีอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะมีความ หวาดเสียว ให้พรรคประชาธิปัตย์ อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว หากนำสถิติข้อมูลย้อนหลังมาเทียบวัด
กล่าวคือเมื่อนำผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุดเมื่อไปเทียบกับการเลือกตั้งระดับชาติ คือการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งในเลือกตั้ง ส.ส.ระบบแบ่งเขตใน กทม. พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 23 ที่นั่ง ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. 10 ที่นั่ง โดยคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อใน กทม. พรรคประชาธิปัตย์ได้ 1,277,669 คะแนน ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ 1,209,508 คะแนนนั้น จะเห็นได้ว่าคะแนนเหล่านี้หากนำมาเปรียบเทียบกับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนลดลง 21,320 คะแนน หรือลดลงร้อยละ 1.67 จากคะแนนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 ส่วนพรรคเพื่อไทยได้คะแนนลดลงในสัดส่วนที่มากกว่าคือ ลดลง 131,609 คะแนนหรือลดลงร้อยละ 10.88 เทียบกับคะแนนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 ซึ่งจุดนี้นับเป็นความน่ากลัวของพรรคประชาธิปัตย์ไม่น้อยเช่นกัน
ส่วนเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปี2552 เมื่อเจาะรายพื้นที่อาจพบว่า ปชป.สามารถบุกยึดหัวเมืองสำคัญอย่าง "มีนบุรี-บางบอน" ที่เคยผูกติดกับพรรคเพื่อไทยได้สำเร็จ แต่สถิติย้อนหลังของ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์-ปชป." กลับพบพื้นที่ สีฟ้า ที่มีจำนวนลดลง และมีสีแดง เข้าไปแทนที่ โดยปี 2552 มีพื้นที่สีฟ้า 46 เขต ขณะที่ปี 2556 ลดลงเหลือเพียง 39 เขต จากทั้งสิ้น 50 เขต
อย่างไรก็ตาม เมื่อกางตัวเลขสถิติในการเลือกตั้งใหญ่ 2554 หรือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี2552 ที่ผ่านมา เทียบกับครั้งนี้ก็ต้องบอกว่า หาได้ใช่ชัยชนะอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ เพราะว่าหากมองคะแนนของกลุ่มที่ไม่เลือก หม่อมหมู จะพบว่ามีมากกว่า 1.35 ล้านคะแนน ซึ่งมากกว่าคะแนนที่เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กว่า 1.25 ล้านคะแนนนั่น หมายความว่า ในพื้นที่เมืองหลวงคนที่ไม่ชอบพรรค ปชป. และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังถือเป็นคนส่วนใหญ่ เพราะเมื่อรวมแล้วมีจำนวนมากกว่าคะแนนที่คุณชายหมูได้รับเสียอีก
ดังนั้น ตัวเลขนี้ยังแปลความได้ว่า นโยบายของพรรค ปชป. และคุณชายหมู ซึ่งอาจรวมไปถึงผลงานในสมัยแรกของเขา ยังไม่โดนใจคนส่วนใหญ่ของเมืองหลวงแห่งนี้ เพียงแต่ระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้น ยึดเอาเสียงข้างมากเป็นสำคัญ ทำให้สามารถเอาชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ ไปได้แบบน้ำลาย เหนียวคอ และแน่นอนการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงครั้งต่อไปพลพรรคประชาธิปัตย์จะต้องอยู่ในอาการหวาดเสียวกว่าครั้งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะตัวเลขย้อนหลังก็ปรากฏให้เห็นแล้วว่าเป็นอย่างไร
นี่คือคำเตือนและยังเป็นคำถามที่สำคัญไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่าจะปรับปรุงแก้ไขแนวทางอย่างไร จะทำอย่างไรให้คนกทม.ที่ถือว่าเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาเป็นของตัวเองอีกครั้ง