xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

คนกรุงพิชิตเพื่อไทย ส่งสัญญาณถึงรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต


ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมาเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยต่อชาวกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะทุ่มเทความพยายามในการหาเสียงเลือกตั้งมากเพียงใด ไม่ว่าจะใช้ยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีใดก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ยังคงเป็นความพ่ายแพ้เช่นเดิม และนี่เป็นสัญญาณที่คนกรุงส่งไปยังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ให้ประจักษ์ว่าเวลาของเธอเหลือน้อยลงไปทุกที

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถครอบครองพื้นที่เชิงอำนาจในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นอาณาบริเวณที่พรรคเพื่อไทยไม่อาจแผ่ขยายอำนาจเข้ามาครอบครองได้ตามความปรารถนา กรุงเทพฯจึงเป็นเสมือนพื้นที่ต้องห้ามสำหรับพรรคเพื่อไทย

เป็นเรื่องน่าสนใจว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสร้างยุทธศาสตร์การหาเสียง มีทุนมหาศาล และมีอำนาจรัฐตำรวจอยู่ในมืออย่างเบ็ดเสร็จ จึงล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในกรุงเทพมหานคร

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้อำนาจรัฐมาโดยใช้ปัจจัยหลัก 4 ประการคือ ยุทธศาสตร์นโยบายประชานิยม การใช้ภาพของทักษิณ ชินวัตร การใช้กลไกจัดตั้งหัวคะแนน และการใช้กระแสความเชื่อจิตสำนึกที่ผิดพลาดเกี่ยวกับประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง

แต่ปัจจัยเหล่านี้ บางปัจจัยมีข้อจำกัดสำหรับการนำมาใช้ในกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะปัจจัยทักษิณ ชินวัตร เพราะความรู้สึกเชิงลบของชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ที่มีต่อทักษิณ ชินวัตรนั้นยังไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นหากขืนใช้ทักษิณ ชินวัตรเป็นส่วนหนึ่งในการหาเสียง แทนที่จะได้คะแนนก็อาจจะเสียคะแนนยิ่งขึ้น ปัจจัยนี้จึงถูกพรรคเพื่อไทยตัดออกไปจากการหาเสียงในกรุงเทพมหานคร

ส่วนปัจจัยด้านกลไกจัดตั้งหัวคะแนน พรรคเพื่อไทยมีกลไกจัดตั้งหัวคะแนนที่มีประสิทธิภาพจำกัดมากในกรุงเทพมหานคร โดยมีเพียงโซนกรุงเทพฯตอนเหนือ และโซนกรุงเทพฯตะวันออกบางเขตเท่านั้น ส่วนเขตฝั่งธนบุรีซึ่งมีเฉลิม อยู่บำรุงเป็นขุนศึก ก็เป็นเพียงขุนศึกชราเขี้ยวเล็บสึกกร่อน และไร้น้ำยาในการ จัดตั้งไปแล้ว พรรคเพื่อไทยจึงไม่มีขีดความสามารถขยายกลไกการจัดตั้งหัวคะแนนออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆของกรุงเทพมหานครได้อย่างทั่วถึง

ด้านการใช้กระแสจิตสำนึกที่ผิดพลาดของคนเสื้อแดงก็ทำได้ไม่เต็มที่นัก เพราะในพื้นที่กรุงเทพฯ กลุ่มเสื้อแดงเป็นกลุ่มชนส่วนน้อย มิหนำซ้ำกลุ่มเสื้อแดงบางส่วนที่เป็นชนชั้นกลางก็มีแนวโน้มตาสว่าง เข้าใจอะไรมากขึ้น โดยเริ่มมองเห็นความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาลหุ่นเชิดยิ่งลักษณ์ ที่บริหารประเทศได้ไม่สมราคาคุย แทนที่กระชากค่าครองชีพลง กลับกระตุกค่าครองชีพขึ้นไปอย่างมหาศาล ทำให้ข้าวของราคาแพงขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล ทั้งสินค้าประเภทอาหาร พลังงาน และสินค้าอุปโภคอื่นๆ คนเสื้อแดงเหล่านั้นจึงเริ่มเอาใจออกห่างพรรคเพื่อไทยและหันไปลงคะแนนให้ผู้สมัครอิสระแทน

ยุทธศาสตร์หลักที่เคยทำให้พรรคเพื่อไทยเอาชนะในการเลือกตั้งทั่วไปจึงเหลือเพียงยุทธศาสตร์เดียวที่ยังพอมีประสิทธิผลอยู่บ้างคือยุทธศาสตร์ประชานิยม แต่ยุทธศาสตร์นี้ก็ได้ได้ผลเฉพาะคนบางกลุ่มที่เป็นชาวบ้านทั่วไป หาเช้ากินค่ำเท่านั้น แต่ไร้ประสิทธิผลอย่างสิ้นเชิงสำหรับการจูงใจชนชั้นกลางซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร

ฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยก็คงคิดว่าการใช้ยุทธศาสตร์ประชานิยมอย่างเดียวคงไม่มีพลังเพียงพอในการเอาชนะการเลือกตั้งได้ จึงได้คิดค้นยุทธศาสตร์เพิ่มเติม อันได้แก่ยุทธศาสตร์การบริหารแบบไร้รอยต่อ ยุทธศาสตร์การสร้างภาพลักษณ์ของผู้สมัคร การใช้โพลชี้นำ และยุทธศาสตร์การชูภาพยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่ทว่ายุทธศาสตร์การบริหารแบบไร้รอยต่อก็หาได้บังเกิดผลตามที่พรรคเพื่อไทยคาดหวัง กลับกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คนกรุงเกิดความรู้สึกเชิงลบยิ่งขึ้น เพราะยุทธศาสตร์นี้มีนัยถึงการผูกขาดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ อันเป็นสภาวะที่ไม่น่าเพียงปรารถนาสำหรับคนกรุงส่วนใหญ่ที่เล็งเห็นพิษภัยอันร้ายแรงของการผูกขาดอำนาจที่อาจเกิดขึ้นหากพรรคเพื่อไทยยึดกรุงเทพมหานครได้

ยุทธศาสตร์ที่พอจะมีพลังอยู่บ้างในการโน้มน้าวจูงใจคนกรุงได้ส่วนหนึ่งคือการสร้างภาพลักษณ์ของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย การเขียนบทละครเพื่อสร้างภาพลักษณ์จึงถูกจัดทำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ภาพของผู้สมัครออกมาเป็นภาพที่เป็นมิตร ยิ่มแย้มแจ่มใส มีจิตใจมุ่งมั่น อ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นกันเองกับผู้คน หลังจากมีการสร้างภาพลักษณ์ของผู้สมัครพรรคเพื่อไทยอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าทำให้คะแนนนิยมของผู้สมัครผู้นี้เพิ่มขึ้นไม่น้อย เพราะแม้ว่าคนกรุงส่วนใหญ่จะสามารถแยกแยะออกว่าอะไรคือความจริงอะไรคือมายาภาพ แต่ก็ยังมีคนกรุงอีกส่วนหนึ่งยังคงยึดติดกับความฉาบฉวยสวยงามของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น และลุ่มหลงกับสิ่งเหล่านั้น

ส่วนยุทธศาสตร์การใช้โพลชี้นำกระแสก็มีการทำอย่างเป็นกระบวนการผ่านโพลบางสำนักและสื่อมวลชนแดงบางฉบับ ปั่นคะแนนนิยมที่เกินจริงของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย โดยผลโพลก่อนการเลือกตั้งหลายครั้งระบุว่าผู้สมัครพรรคเพื่อไทยชนะขาดทิ้งห่างจากผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า 10 % การที่คะแนนโพลทิ้งห่างเช่นนี้ย่อมทำให้ผู้ที่มีคะแนนตามหลังสูญสิ้นกำลังใจได้ และทำให้ผู้เลือกตั้งยอมรับสภาพความพ่ายแพ้ก่อนการเลือกตั้ง เพราะว่าเมื่อไรก็ตามที่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งมีคะแนนนำมากกว่า 10 % โอกาสที่ผู้สมัครคู่แข่งจะไล่ตามทันเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก ผลที่ตามมาคือเมื่อผู้เลือกตั้งคิดว่าแพ้แน่ๆแล้วจะไปเลือกตั้งให้เสียเวลาทำไม ดังนั้นผู้เลือกตั้งบางส่วนที่คิดว่าจะลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้สมัครที่มีคะแนนตามหลังอยู่จึงอาจตัดสินใจไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และอาจนำสู่ความพ่ายแพ้อย่างแท้จริงของผู้สมัครคนนั้นในวันเลือกตั้ง

พร้อมๆกับการประกาศผลโพลเช่นนี้ สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์บางฉบับที่มีจิตใจสีแดงอย่างไม่ลืมหูลืมตาก็ช่วยโหมกระแส โดยนำผลโพลที่ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยนำห่างจากผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นไปพาดหัวตัวใหญ่ในหน้าหนึ่ง อันเป็นขยายการรับรู้และเพิ่มพลังการโน้มน้าวจูงใจให้แก่ผู้เลือกตั้งในวงกว้าง ว่าถึงอย่างไรผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้แน่ๆ

ทว่ายุทธศาสตร์การใช้โพลชี้นำนั้นมิได้บังเกิดผลตามที่บางกลุ่มคาดหมาย เพราะว่าถูกถ่วงดุลจากนิด้าโพลที่ทำการสำรวจโดยใช้หลักวิชาการอย่างถูกต้องเที่ยงแท้ และไม่ยอมรับใช้การเมือง ในช่วงระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ผลของโพลสำนักนี้จึงออกมาเพียงว่าผู้สมัครพรรคเพื่อไทยนำพรรคประชาธิปัตย์เพียงเล็กน้อย และการทำโพลในช่วงสับดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้งของสำนักนี้ซึ่งประกาศผลโพลหลังจากการปิดหีบเลือกตั้ง ก็เป็นโพลเดียวที่ระบุว่าผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง ขณะที่โพลของสำนักอื่นๆระบุตรงกันว่าผู้สมัครพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง

การมีโพลที่ใช้หลักวิชาการอย่างเคร่งครัดและไม่อยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมืองทำให้คนกรุงผู้มีปัญญาและวิจารณญาณที่ดีสามารถนำข้อมูลไปเปรียบเทียบเพื่อประกอบการตัดสินใจได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น และแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการกำหนดทิศทางของการเมืองในทางใดทางหนึ่ง

ส่วนการอาศัยภาพลักษณ์ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยผู้สมัครพรรคเพื่อไทยเพื่อหวังโน้มน้าวใจคนกรุงเทพเป็นยุทธศาสตร์ที่มีการเร่งระดมใช้ในช่วงปลายฤดูการเลือกตั้ง แต่ทว่าผู้สมัครพรรคเพื่อไทยคงลืมนึกไปว่าภาพลักษณ์ของยิ่งลักณ์ ชินวัตรในสายตาของคนกรุงเทพเป็นอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นแทนที่จะเป็นบวกต่อผู้สมัครจึงกลายมาเป็นลบแทน

ผลการเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะแพ้อย่างยับเยิน แต่ก็ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯครั้งก่อนพอสมควร ดังเห็นได้จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปี 2552 ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยได้ 661,669 คะแนน ส่วนการเลือกตั้ง ปี 2556 ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยได้ 1,077,899 คะแนน โดยได้คะแนนเพิ่มขึ้นถึง 416,200 คะแนน

ผมคิดว่าคะแนนที่พรรคเพื่อไทยได้เพิ่มขึ้นน่าจะมาจากยุทธศาสตร์ประชานิยมและยุทธศาสตร์การสร้างภาพลักษณ์ผู้สมัคร บวกกับยุทธวิธีบางอย่างในการจัดตั้งของอำนาจรัฐตำรวจและทหารบางหน่วยที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล แต่คะแนนทั้งหมดที่พรรคเพื่อไทยได้มานี้ ผมคิดว่าคงเป็นการทุ่มเทความคิด ทรัพยากร อำนาจ และการจัดตั้งอย่างเต็มกำลังแล้ว และคงเป็นจุดสูงสุดเท่าที่พวกเขาจะสามารถทำได้

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้นคะแนนที่ผู้สมัครได้รับ 1,256,349 คะแนน คะแนนส่วนใหญ่หาใช่เกิดจากผลงานของผู้สมัครและความนิยมชมชอบในผลงานของพรรคแต่อย่างใด แต่มากจากคนกรุงผู้ประสงค์พิชิตพรรคเพื่อไทยเป็นหลักมากกว่า

ดังนั้นผมจึงเห็นว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้ จึงเป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองของคนกรุงเสียงส่วนใหญ่ว่า ไม่เอารัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่เอาทักษิณ ไม่เอาเสื้อแดง

เมื่อคนกรุงเสียงส่วนใหญ่ประกาศเจตนารมณ์เช่นนี้ออกมาก็เป็นการส่งสัญญาณว่า เวลาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลดน้อยถอยลงทุกขณะ และควรเริ่มต้นทยอยเก็บข้าวของออกจากทำเนียบรัฐบาลได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น