xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ยื่นเงื่อนไขถกนิรโทษ ห้ามล้างผิดคนชั่ว โจกแดงตีกินเผาเมืองไม่ผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-พันธมิตรฯ ยื่นเงื่อนไขเข้าร่วมถกนิรโทษกรรม 11 มี.ค. ห้ามล้างผิดคนชั่ว “คดีโกง-คดีอาญา” ไม่งั้นวงแตก พร้อมจี้ยุติเสนอกฎหมายนิรโทษเพิ่ม และถอดกฎหมายปรองดองออกจากสภาฯ "เจริญ"รับลูกเพิ่มทหารร่วมวงเจรจา หัวโจกเพื่อไทยตีกิน ชงพ.ร.บ.นิรโทษ อ้างช่วยเหลือทุกสี กล้าพูด นปช.ชุมนุมเผาเมืองไม่ผิด ศาลแพ่งสวนไม่มีผลต่อคดีอาญาที่ฟ้อง 24 นปช.

วานนี้ (6 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เดินทางเข้าพบนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เพื่อยื่นข้อเสนอขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนเข้าร่วมหารือแนวทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

นายปานเทพ ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 5มี.ค.ที่ผ่านมา แกนกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ประชุมและมีมติว่า

1.แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ขอแจ้งจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านถึงที่สุดในการออกกฎหมายใดๆ เพื่อนิรโทษกรรมหรือล้างความผิดให้ผู้ทำความผิดทางอาญา หรือการความผิดในการทุจริตทุกกรณี แต่เห็นว่าการใช้หลักนิติรัฐเพื่อพิสูจน์ความจริงที่จะนำไปสู่ความสงบสุขได้

2.การนิรโทษกรรมให้ผู้มีความผิดลหุโทษและไม่ใช่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ผิดกฎหมาย เนื่องจากการใช้อำนาจรัฐช่วงเวลาเฉพาะกิจ เช่น การฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือพ.ร.บ.มั่นคงฯ แกนนำพันธมิตรฯ เห็นว่าการหารือต้องอยู่บนเงื่อนไขการมีส่วนร่วมกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ทุกกลุ่ม โดยควรเพิ่มตัวแทนองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ตัวแทนครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้สูญเสีย รวมทั้งตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมโดยที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุม เช่น ร้านค้าที่สี่แยกราชประสงค์กับสยามสแควร์ และผู้แทนคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)

3.การนิรโทษกรรมต้องไม่ใช้มติเสียงข้างมาก แต่ต้องลงมติเป็นเอกฉันท์

4.หากเงื่อนไขที่เสนอให้เพิ่มกลุ่มต่างๆ ปฏิบัติไม่ได้ ตนก็จะไม่เข้าร่วมหารือในวันที่ 11มี.ค.นี้ หรือหากปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ แต่ต่อมามีการแปรญัตติหรือเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ไม่เป็นไปตามที่มีข้อยุติอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้แทนกลุ่มต่างๆ กลุ่มพันธมิตรประชาชนฯ ขอจะคัดค้านและจะชุมนุมนอกสภาอย่างถึงที่สุด

5.หากท่านมีเจตนาดีต่อบ้านเมืองและไม่อยากเห็นความขัดแย้งนอกสภา ส.ส.ควรแสดงความจริงใจโดยหยุดเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทุกฉบับและควรถอนร่างพ.ร.บว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติทุกฉบับที่ยังค้างอยู่ในวาระการประชุมสภาฯ ออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

**“เจริญ”รับลูกเพิ่มทหารเข้าหารือ

นายเจริญกล่าวว่า การหารือเพื่อความสงบและสามัคคี ทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทน ซึ่งตนไม่ขัดข้องกับข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรฯ และจะมีการเพิ่มทหารเข้ามาอีก 1 กลุ่มในการหารือเรื่องนี้ เพราะทหารเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.มั่นคงฯ ซึ่งจะทำหนังสือไปยังรมว.กลาโหมและเชิญทุกกลุ่มอีกรอบ

ทั้งนี้ ต้องดูในวันที่ 11 มี.ค. เป็นหลักว่า แต่ละกลุ่มจะตอบรับอย่างไร แต่ขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ว่าการดำเนินการครั้งนี้ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังและไม่มีเกมการเมือง สำหรับการหารือในหลักการร่วมกันนั้น จะเน้นที่จุดร่วมที่เคยพูดคุยกันมาแล้ว คือ การนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มผู้ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.มั่นคงฯ ที่เป็นประชาชน ส่วนเงื่อนไขของแกนนำจะยังไม่พูดถึง

"มั่นใจว่า ถ้าแต่ละฝ่ายที่เข้าใจขอบเขต หลักการนิรโทษกรรมประชาชนก่อน ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหา คือ เงื่อนไขของแต่ละกลุ่ม การที่กลุ่มพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ถอนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ 4 ฉบับออกจากการพิจารณาของสภาฯ นั้น ตนไม่สามารถบังคับสมาชิกที่เสนอกฎหมายได้ จึงเป็นเรื่องของผู้เสนอที่จะพิจารณาถอนร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ แต่ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณากฎหมายดังกล่าว ซึ่งอีกไม่นานก็จะปิดสมัยการประชุมแล้ว"

**เพื่อไทยตีกินชงพ.ร.บ.นิรโทษ

ที่รัฐสภา นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายคารม พลพรกลาง ทนายกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมแถลงถึงการจะนำเสนอ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... ที่มีทั้งหมด 7มาตรา ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ในวันที่ 7 มี.ค. เวลา 13.00 น.

นายวรชัยกล่าวว่า ส.ส.มีเอกสิทธิ์ ที่จะเข้าชื่อ 20 คน เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ต่อประธานสภาฯ เพื่อให้มีการพิจารณาออกกฎหมายได้ ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนทุกสีทุกฝ่าย ที่ถูกดำเนินคดีอาญา ทั้งจากการยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือกลุ่มนปช.ที่ถูกแจ้งข้อหาก่อการร้าย ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณากันภายในสมัยประชุมสภาฯ นี้

"ขณะนี้ความเป็นจริงได้ปรากฎชัดแล้ว จากการตัดสินของศาลแพ่งที่ระบุว่าการเผาเซ็นทรัลเวิร์ด ไม่ได้เป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่มนปช. ผมและเพื่อนสมาชิกรวม 21 คน จึงเข้าชื่อกัน เพื่อหวังจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยไม่รวมบุคคลในระดับแกนนำ ผู้สั่งการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ระบุว่า ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549-10 พ.ค.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้น พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง แต่ไม่รวมการกระทำใดๆ ของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง"

***อ้างเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องโทษทุกสี

ด้าน น.พ.เชิดชัย กล่าวว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ไม่ได้มีอะไรแอบแฝง ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย รัฐบาล และพ.ร.บ.ปรองดอง แต่เพื่อต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาการชุมนุมทางการเมือง จะได้ยุติความขัดแย้งของคนในสังคม ให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนการแยกแยะระหว่างผู้ชุมนุมและแกนนำนั้น ก็ดูจากการที่กลุ่มพันธมิตร หรือกลุ่มนปช. ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีไปแล้ว หรืออย่างกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 2ผู้นำ ศอฉ. ได้ถูกดีเอสไอ ดำเนินคดี ซึ่งรายชื่อในกลุ่มนี้มีอยู่หมดแล้ว

ส่วน นายคารม กล่าวว่า จะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้เขียนไว้อย่างกว้าง ครอบคลุมการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ร่วมชุมนุมที่มีโทษทางอาญา ส่วนเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมก็จะดำเนินคดีทางแพ่งกันต่อไป ไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งเมื่อผ่านการโหวตวาระ 1 แล้ว คณะกรรมมาธิการวิสามัญก็จะการพิจารณาในลายละเอียดอีกครั้ง และเห็นว่า และหากมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคล้ายๆ กัน อย่างเช่นแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯคนที่ 1 ก็จะนำไปพิจารณาในรายละเอียดร่วมกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก และหวังว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม ยืนยันจะเดินหน้าเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวทันที โดยไม่รอข้อสรุปของการหารือระหว่าง นายเจริญ กับตัวแทนกลุ่มต่างๆ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 มี.ค. เนื่องจากตามขั้นตอนการพิจารณากฎหมาย สามารถนำมาพิจารณาพร้อมกันในสภาได้

เมื่อถามว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว จะครอบคลุมถึงผู้ต้องหาคดี หมิ่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่ นายคารม กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการตีความของคณะกรรมาธิการว่าจะเห็นชอบอย่างไร เพราะเราเขียนไว้กว้างๆ ว่า โทษทางอาญา

**จ่อใช้คำสั่งศาลแพ่งต่อสู้คดีก่อการร้าย

นายคารมกล่าวถึงความความคืบหน้าการพิจารณาคดีก่อการร้ายที่แกนนำและแนวร่วม นปช. ตกเป็นจำเลยว่า ทีมทนายความ เตรียมขอคัดคำพิพากษาของศาลแพ่ง ที่มีคำสั่งให้บริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมให้กับบริษัทเซ็นทรัลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีถูกไฟไหม้จากช่วงการชุมนุม พร้อมระบุเหตุผลว่า ไม่ได้เกิดจากการก่อการร้าย โดยทีมทนายความ จะนำคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าวไปใช้ในการสืบพยานคดีก่อการร้ายที่จะมีขึ้น ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ หลังปิดสมัยประชุมสภา เนื่องจากจำเลยในคดีได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า สิ่งที่ต่อสู้ในช่วงของการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นเพียงการเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ทีมทนายความ จะมีการประชุมหารือกัน เพื่อพิจารณาว่า อาจจะต้องยื่นหนังสือถึงพนักงานอัยการ ให้ดำเนินการถอนฟ้องจำเลย ในข้อหาก่อการร้ายด้วย โดยอ้างอิงจากคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าว

**ชี้คำสั่งศาลแพ่งไม่มีผลผูกพัน 24 นปช.

นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีศาลอาญา กล่าวถึงกรณีที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาว่า พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 พ.ค.2553 ที่มีการเผาห้างเซ็นทรัลเวิล์ด ไม่ใช่การก่อการร้าย แต่เป็นเหตุจลาจล โดยยืนยันว่าคำพิพากษาของศาลแพ่ง ไม่มีผลผูกพันต่อคดีที่มีการยื่นฟ้องคดีอาญากับแกนนำ นปช.24 คน ในคดีการก่อร้าย เพราะศาลอาญาวินิจฉัยตามพยานหลักฐานในสำนวนเท่านั้น ส่วนคดีแพ่งและคดีอาญา โจทก์และจำเลยเป็นคนละชุดกัน จึงไม่มีผลผูกพันทางคดี หากทนายจำเลยจะใช้คำสั่งของศาลแพ่งมาอ้างด้วย ก็ทำได้ แต่ศาลจะรับฟังอย่างไรนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะจำเลยสามารถนำพยานหลักฐานทุกอย่างที่มีมาประกอบกัน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้

สำหรับพฤติการณ์ของแกนนำ นปช. ที่มีการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจะเป็นการก่อการร้ายหรือไม่นั้น มีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้ว โดยจะนำหลักฐานที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวบนเวทีสั่งบนเวทีสั่งผู้ชุมนุมให้เผาสถานที่ต่างๆ นำไปประกอบการพิจารณาด้วย

**"มาร์ค"เชื่อนิรโทษฉบับ"เจริญ"เจอทางตัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลรอหลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เพื่อที่จะขับเคลื่อนเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะถ้าไม่มีเรื่องเลือกตั้ง รัฐบาลก็คงดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งในพรรคคุยกันชัดเจนว่ากรณีของ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภา ประสานให้ไปหารือเกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ไม่ใช้รูปแบบที่จะเดินหน้าเรื่องปรองดองได้ โดยตนเชื่อว่ามีความพยายามที่จะเดินทุกทางที่ทำได้

“เชื่อว่าเจอทางตัน เพราะถ้าเป้าหมาย คือ สิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ ระบบนิติรัฐ นิติธรรม ไม่ว่าจะเดินทางไหนก็ตัน แต่ถ้าเลือกเส้นทางที่ยึดประโยชน์ส่วนรวม ก็ไปได้ ไม่ตัน ซึ่งหากเดินทางนี้ไม่ได้ ก็มีอีกหลายทางที่รัฐบาลพยายามทำ รวมถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้น ในระหว่างการเปิดสมัยประชุมนี้ จึงยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลอยากจะให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ หากไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง ก็ต้องแสวงหาหนทางที่สร้างปรองดองจริงๆ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของกลุ่ม โดยเริ่มต้นจากการถอน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในสภาก่อน แต่ถ้าไม่ทำก็แสดงให้เห็นว่ายังวนเวียนอยู่ที่เดิม”

**“คณิต”ตะเพิดกลับไปอ่านรายงานคอป.

นายคณิต ณ นคร อดีตประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวว่า ตนไม่ส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้ว เนื่องจากการทำหน้าที่ในฐานะประธานคอป.จบสิ้นไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และเป็นการทำงานผ่านมาถึงสองรัฐบาล ตนคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปร่วมชี้แจงอะไรต่อใครอีกแล้ว ซึ่งถ้าอยากทราบข้อเท็จจริงให้ไปศึกษาในรายของ คอป. ที่ใช้ตนเวลาศึกษาและค้นหาความจริงมาตลอดสองปี
กำลังโหลดความคิดเห็น