xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 4-9 มี.ค.2556

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. กกต.มีมติ 3 ต่อ 1 ยังไม่ประกาศรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอสอบเรื่องร้องเรียน “สุขุมพันธุ์” ด้าน ผบ.ตร.เตรียมรับ “พงศพัศ” กลับเข้ารับราชการ!
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พร้อมด้วยแกนนำพรรค ปชป. ตระเวนขอบคุณประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.(4 มี.ค.)
หลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคประชาธิปัตย์ คว้าชัยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 มี.ค. ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่สอง วันต่อมา(4 มี.ค.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พร้อมด้วยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นรถติดเครื่องขยายเสียงตระเวนขอบคุณประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยติดข้อความที่ข้างรถว่า “ขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบให้ จะเป็นพลังให้เราทำงานต่อทันที”

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(4 มี.ค.) พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธาน กกต.กทม.ได้ส่งผลเลือกตั้งให้ กกต.กลาง พร้อมแนบรายงานกรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการปราศรัยใส่ร้าย ตามมาตรา 57(5) ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ 2 เรื่อง ให้ กกต.พิจารณา และว่า กกต.กลางมีอำนาจประกาศรับรองผลเลือกตั้งภายใน 7 วันนับจากวันเลือกตั้ง หรืออย่างช้าวันที่ 8 มี.ค.

อย่างไรก็ตาม 2 วันต่อมา(6 มี.ค.) กกต.กลาง 4 คน ได้ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะประกาศรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการหรือไม่ โดยไม่รอให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ที่ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศได้เดินทางกลับมาก่อน จากนั้นที่ประชุมมีมติ 3 ต่อ 1 เห็นควรยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่า ต้องสืบสวนสอบสวนกรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ถูกร้องคัดค้านให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากไม่แล้วเสร็จ กกต.สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อนได้

นายภุชงค์ นุตราวงค์ เลขาธิการ กกต.เผยว่า เรื่องร้องเรียนมี 3 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต.กทม.2 เรื่อง และฝ่ายสืบสวนสอบสวนของ กกต.กลาง 1 เรื่อง เป็นคำร้องที่กล่าวหาว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กระทำผิด ฐานปราศรัยใส่ร้าย หลอกลวง จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม ทาง กกต.กทม.ขอเวลาสืบสวนสอบสวน 15 วัน ก่อนเสนอ กกต.กลาง หากการสอบสวนแล้วเสร็จก่อน 30 วัน กกต.อาจประกาศรับรองผลก่อนเวลาที่กฎหมายกำหนดได้

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กกต.เสียงข้างน้อย 1 เสียง ที่เห็นว่าควรประกาศรับรองผลเลือกตั้งเลย คือ นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เนื่องจากมองว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม.พ.ศ.2528 มาตรา 48 กำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม.ต้องเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ กกต.เสียงข้างมากเห็นว่า พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น และประกาศ คปค.ที่กำหนดให้ กกต.สืบสวนสอบสวนกรณีมีเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า พ.ร.บ.องค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นๆ ประกอบกับ กกต.กทม.ยืนยันว่า จะสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ซึ่งปลัด กทม.ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการผู้ว่าฯ กทม.ได้

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า การรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ล่าช้าไม่ส่งผลกระทบอะไรกับการทำงาน และว่า ไม่รู้ว่ามีประเด็นอะไรร้องเรียนไปยัง กกต.บ้าง ได้ยินว่ามีกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กของนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และนายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการอิสระ ซึ่งไม่ได้เข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสีหรือทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม พรรคได้เตรียมทีมกฎหมายไว้ต่อสู้เรื่องนี้แล้ว รอให้ กกต.เรียกไปชี้แจงก่อน

ขณะที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงยกตัวอย่างว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 เคยร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อ กกต.ใน 6 ประเด็น เป็นกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำ นปช.ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ให้สัมภาษณ์ และโพสต์ในเฟซบุ๊กในลักษณะใส่ร้ายกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเนื้อหาลักษณะคล้ายคลึงกับการร้องคัดค้านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ดังนั้น จึงหวังว่า กกต.จะพิจารณาในแนวทางเดียวกัน โดยการยกคำร้องว่า ไม่ใช่เป็นการใส่ร้ายป้ายสี แต่เป็นการใช้สิทธิแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย และขอให้รีบรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยเร็ว

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาเผยว่า ทีมกฎหมายของพรรคอยู่ระหว่างถอดเทปคำปราศรัยทั้งหมดในช่วงโค้งสุดท้ายของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ 9 คน รวมทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่ถ่ายทอดผ่านทีวีดาวเทียมหลายช่อง เพราะคิดว่าน่าจะเข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสี พล.ต.อ.พงศพัศ และผิดกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 57 โดยจะส่งหลักฐานทั้งหมดให้ กกต.ในวันที่ 11 มี.ค.

ส่วนความเคลื่อนไหวของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคเพื่อไทย หลังพ่ายเลือกตั้ง มีแนวโน้มว่าจะกลับเข้ารับราชการตำรวจอีกครั้ง โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เผยว่า ได้คุยเป็นการส่วนตัวกับ พล.ต.อ.พงศพัศแล้ว ยืนยันว่าจะขอกลับเข้ามารับตำแหน่งเดิม(รอง ผบ.ตร.) อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวไปถาม พล.ต.อ.พงศพัศ ถึงการกลับเข้ารับราชการตำรวจ พล.ต.อ.พงศพัศ ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ โดยบอกว่าแล้วแต่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณา ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่ให้คำตอบ โดยอ้างว่า ต้องรอ กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก่อน

ทั้งนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสม หาก พล.ต.อ.พงศพัศจะกลับเข้ารับราชการเป็นรอง ผบ.ตร.อีกครั้ง เนื่องจากข้าราชการต้องมีความเป็นกลาง แต่ พล.ต.อ.พงศพัศลาออกไปลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคเพื่อไทย จึงถือว่าฝักใฝ่การเมือง และสูญเสียความเป็นกลางแล้ว

2. พันธมิตรฯ ยื่น จม.รอง ปธ.สภาฯ ยันจุดยืนค้านนิรโทษฯ คดีทุจริต-ความผิดอาญา ขณะที่ ปชป.เมินร่วมหารือนิรโทษฯ จี้ รบ.ถอน กม.ปรองดอง 4 ฉบับก่อน!

(บน) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ยื่นหนังสือรอง ปธ.สภาฯ แสดงจุดยืนของพันธมิตรฯ ต่อการหารือเรื่องออก กม.นิรโทษกรรม (ล่าง) ส.ส.เสื้อแดงพรรค พท.ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ให้ ปธ.สภาฯ เพื่อเข้าที่ประชุมสภา
ตามที่นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย พยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยได้ประสานให้มีการหารือ 4 ฝ่ายในวันที่ 11 มี.ค.ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย(พท.)-พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นั้น

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีมติจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมหารือดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า พรรคมีจุดยืนสนับสนุนการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น และว่า หากรัฐบาลจริงใจที่จะเดินหน้ากระบวนการปรองดอง ต้องถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับออกจากวาระการประชุมสภาก่อน ส่วนการเชิญกลุ่มต่างๆ เข้าหารือนั้น พรรคเห็นว่ามีการเชิญแค่บางกลุ่ม ไม่ครอบคลุมตัวแทนทุกกลุ่ม จึงไม่น่าจะนำไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริง

ส่วนท่าทีของแกนนำพันธมิตรฯ นั้น เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้เข้ายื่นจดหมายแสดงจุดยืนของพันธมิตรฯ ต่อนายเจริญ โดยแกนนำพันธมิตรฯ มีมติว่า 1. จุดยืนพันธมิตรฯ คือไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านจนถึงที่สุดหากมีการออกกฎหมายใดใดเพื่อนิรโทษกรรมหรือล้างความผิดให้ผู้กระทำผิดทางอาญา หรือความผิดกรณีทุจริตทุกกรณี

2.ควรนิรโทษกรรมให้เฉพาะผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รวมทั้งควรเพิ่มตัวแทนในการหารือ เช่น ตัวแทนองค์การพิทักษ์สยาม ,นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ,ตัวแทนครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้สูญเสีย รวมทั้งตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ร้านค้าที่สี่แยกราชประสงค์และสยามสแควร์ ,ผู้แทนคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)

3.ในการลงมติ ต้องไม่ใช้มติเสียงข้างมาก แต่ต้องเป็นมติเอกฉันท์ 4.หากนายเจริญไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พันธมิตรฯ ขอให้เพิ่มกลุ่มต่างๆ ในการหารือ พันธมิตรฯ จะไม่เข้าร่วมหารือด้วย หรือหากนายเจริญปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ แต่ต่อมามีการแปรญัตติหรือเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่เป็นไปตามที่มีข้อยุติอย่างเป็นเอกฉันท์ พันธมิตรฯ จะคัดค้านและชุมนุมนอกสภาอย่างถึงที่สุด และ 5.หากนายเจริญไม่อยากเห็นความขัดแย้งนอกสภา ส.ส.ควรหยุดเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทุกฉบับ และควรถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับที่ยังค้างอยู่ในวาระการประชุมสภาออกมา

ขณะที่นายเจริญ ยืนยันว่า ไม่ขัดข้องกับข้อเสนอของพันธมิตรฯ ที่ขอให้เพิ่มกลุ่มในการหารือ และจะเชิญพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง นายเจริญ ยังขอให้ทุกฝ่ายสบายใจว่า การหารือครั้งนี้ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ไม่มีเกมการเมือง จะนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เท่านั้น สำหรับแกนนำจะยังไม่พูดถึง ส่วนที่พันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับออกจากสภาก่อนนั้น นายเจริญ อ้างว่า ไม่สามารถไปบังคับสมาชิกที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ การจะถอนกฎหมายเป็นเรื่องของผู้เสนอ แต่ยืนยันว่า ระหว่างนี้จะยังไม่มีการพิจารณากฎหมายทั้ง 4 ฉบับ

ด้าน พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตประธานองค์การพิทักษ์สยาม(อพส.) เผยว่า จะไม่ไปร่วมหารือเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับ อพส. ขณะที่นายคณิต ณ นคร อดีตประธาน คอป.ก็บอกเช่นกันว่า จะไม่เข้าร่วมหารือ เพราะ คอป.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้ว

ทั้งนี้ วันต่อมา(7 มี.ค.) นายวรชัย เหมมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ ได้เข้ายื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายวรชัย ยืนยันว่า แกนนำมวลชนและผู้สั่งการจะไม่ได้รับอานิสงส์จากกฎหมายดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาว่าทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมขอให้นายสมศักดิ์เร่งบรรจุร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้เข้าสภาโดยเร็ว

ด้านนายสมศักดิ์ บอกว่า จะตรวจสอบความถูกต้องและบรรจุในวาระการประชุมสภาฯ ภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนจะสามารถนำขึ้นมาพิจารณาได้เมื่อใด ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิก ซึ่งส่วนตัวสนับสนุนแนวทางการสร้างความปรองดองอยู่แล้ว

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ว่า การเสนอร่างกฎหมายใหม่เข้าสภาของนายวรชัย น่าจะเป็นตัวหลอกมากกว่า เพราะในการประชุมสภาเพื่อพิจารณากฎหมาย หากมีบุคคลใดเสนอร่างกฎหมายเข้าไป แล้วมี ส.ส.คนอื่นเสนอร่างกฎหมายเอาไว้แล้ว เช่น ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในวาระ อาจมีการอ้างว่าเป็นหลักการเดียวกัน จะได้ขอให้พิจารณารวมกันไป ดังนั้น การที่คงร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับเอาไว้ จะเป็นหัวเชื้อในการล้างผิดให้กับคดีทุจริต

เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่นายวรชัยและคณะเสนอ มี 7 มาตรา โดยเฉพาะมาตรา 3 มีความหมายกว้างมาก บัญญัติว่า ให้บรรดาการกระทำใดใดของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการอันมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ขณะที่มาตรา 3 วรรคสอง บัญญัติว่า การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดใดของบรรดาผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว

3. “ธาริต” สรุปคดี 396 โรงพัก ส่ง ป.ป.ช.สอบ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” พร้อมแจ้งข้อหา “พีซีซี” ฉ้อโกง-ผิด กม.ฮั้ว สั่งอายัดเงิน 438 ล้าน!
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เผยความคืบหน้าการสอบสวนคดีโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ(ทดแทน) จำนวน 396 แห่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ว่า ได้ลงนามเห็นชอบสรุปสำนวนในส่วนของนักการเมืองเสนอไปยังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แล้ว และว่า มีข้าราชการการเมืองเกี่ยวข้องในการกระทำผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำนวน 2 ราย คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ตร. ส่วนความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือกฎหมายฮั้ว มาตรา 11 ,12 และ 13 พบว่า นายสุเทพเข้าข่ายกระทำผิดเพียงคนเดียว

นายธาริต ยังบอกอีกว่า จะดำเนินคดีกับบริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่เป็นคู่สัญญากับ ตร.ทั้งคดีฉ้อโกงผู้รับเหมา และความผิด พ.ร.บ.ฮั้ว ซึ่งต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินครึ่งหนึ่งของสัญญา คือ 2.9 พันล้านบาท จากมูลค่าโครงการ 5.8 พันล้านบาท

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมายืนยันว่า คณะรัฐมนตรีชุดที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง พร้อมมั่นใจว่าไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนมติ ครม.แต่อย่างใด จึงต้องถามดีเอสไอ เพราะที่ผ่านมามีการแจ้งข้อหาหลายคดี ที่หลายฝ่ายนึกไม่ถึงว่าดีเอสไอจะคิดได้ถึงขนาดนั้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ผู้บริหารบริษัท พีซีซีฯ ประกอบด้วย นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ,นายจตุรงค์ อุดมสิทธิกุล และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง 2 ข้อหา คือ ฉ้อโกงผู้รับเหมาช่วง และผิด พ.ร.บ.ฮั้ว โดยได้นำเอกสารหลักฐานเข้าชี้แจง 14 รายการ ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้หนีงานหรือฉ้อโกงตามที่ถูกกล่าวหา ส่วนความล่าช้าในการก่อสร้างเกิดจากผู้ว่าจ้างไม่ให้ความร่วมมือ มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ขณะที่การตรวจงานแต่ละครั้ง ใช้เวลามาก นอกจากนี้ยังยืนยันด้วยว่า ไม่ได้มีการจ้างช่วง เป็นเพียงการจ้างค่าแรง เพราะวัสดุก่อสร้างหลักเป็นของบริษัท พีซีซีฯ นำส่งทั้งหมด

ด้าน พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เผยว่า ดีเอสไอได้มีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาประตูช้างเผือก จ.เชียงใหม่ จำนวน 438 ล้านบาท และดอกเบี้ยจากเงิน 877 ล้านบาท ที่ ตร.จ่ายเป็นเงินค่าล่วงหน้า 15% แก่บริษัท พีซีซีฯ หลังจากธนาคารหักไว้ในบัญชีเพื่อเป็นสัญญาค้ำประกันโครงการทันที 438 ล้านบาท

ซึ่งวันต่อมา(8 มี.ค.) นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานกรรมการบริษัท พีซีซีฯ ได้เดินทางมาพบ พ.ต.ท.ถวัล แต่เช้า เพื่อต่อว่าเรื่องการอายัดเงินในบัญชีดังกล่าว เนื่องจากทำให้บริษัทเสียเครดิต และไม่มีเงินจ่ายลูกน้อง พร้อมประกาศว่าจะฟ้องร้องพนักงานสอบสวน จากนั้น พ.ต.ท.ถวัล ได้พานายพิบูลย์ไปพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ซึ่งนายพิบูลย์ได้ขอให้นายธาริตถอนการอายัดเงินในบัญชีธนาคารออมสิน 438 ล้านบาท และบัญชีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงพัก แต่นายธาริตบอกให้ทำหนังสือแจ้งเหตุผลการถอนอายัดบัญชี นายพิบูลย์จึงกลับไป และบอกว่าจะมายื่นหนังสือที่ดีเอสไออีกครั้งในวันที่ 11 มี.ค.

4. ศาลแพ่ง ชี้อีก คดีไฟไหม้ “เซน” ไม่ใช่ก่อการร้าย -สั่ง “เทเวศฯ” จ่ายสินไหม 1.9 พันล้าน ด้านสยามสแควร์ ได้ 1.7 ล้าน!

ผู้บริหารบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล  พอใจหลังศาลแพ่งสั่งบริษัท เทเวศประกันภัย จ่ายสินไหม 1.9 พันล้าน กรณีไฟไหม้ห้างสรรพสินค้าเซน ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง(5 มี.ค.)
หลังศาลแพ่ง พิพากษาให้บริษัท เทเวศประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรณีถูกเผาระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เป็นเงิน 3.7 พันล้านบาทเมื่อวันที่ 1 มี.ค. เนื่องจากเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การก่อการร้ายตามที่บริษัท เทเวศประกันภัยระบุนั้น ปรากฏว่า ยังมีคดีที่บริษัท เทเวศประกันภัย ถูกฟ้องให้จ่ายค่าสินไหมทำนองเดียวกันอีก โดยเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ศาลแพ่งได้พิพากษาให้บริษัท เทเวศประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซน ซึ่งถูกเพลิงไหม้ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เป็นเงินกว่า 1.9 พันล้านบาท โดยให้เหตุผลเดิมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การก่อการร้าย

ทั้งนี้ ศาลระบุว่า ในทางนำสืบของจำเลย(บริษัท เทเวศประกันภัย) ไม่ปรากฏชัดว่าการก่อวินาศกรรมหรือเหตุการณ์รุนแรง เป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือเป็นการสั่งการโดยแกนนำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการนั้น และศาลเห็นว่า กลุ่มคนร้ายที่บุกรุกและเผาทรัพย์ในห้างสรรพสินค้าเซนมีจำนวนไม่มาก ใช้วิธีการไม่สลับซับซ้อน สำหรับถังก๊าซ น้ำมัน ระเบิดขวด หรือยางรถยนต์ ก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่หยิบฉวยได้จากบริเวณใกล้เคียงมาใช้เป็นเชื้อเพลิงและอาวุธ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุม เป็นการไม่นำพาต่อคำสั่งรัฐบาล ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย จนไม่สามารถควบคุมได้ ถือได้ว่าอยู่ในความหมายของคำว่า “การจลาจล” จำเลยจึงต้องชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ตามที่โจทก์ได้ทำประกันภัยเพิ่มนอกเหนือจากประกันภัยทั่วไป เป็นเงิน 1,977,305,182 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

ด้านนายนริศ เชยกลิ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) บอกว่า พอใจคำตัดสินของศาล ทั้งคดีเซ็นทรัลเวิลด์และเซน เพราะบริษัทจ่ายค่าประกันความเสียหายทุกชนิดปีละกว่า 10 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นายนริศ บอกว่า บริษัทยังไม่คิดฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับผู้ที่ก่อเหตุเผาห้างเซนแต่อย่างใด

ขณะที่บริษัท เทเวศประกันภัย ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด และการรับประกันภัยดังกล่าว บริษัทได้กระจายความเสี่ยงโดยทำประกันภัยต่อ ไปยังบริษัทรับประกันทั้งในและต่างประเทศ(รี-อินชัวเรอร์) หลายบริษัท จึงจำเป็นต้องปรึกษาบริษัทเหล่านั้น เพื่อขอแนวทางดำเนินการต่อไป พร้อมยืนยันว่า กรณีเพลิงไหม้ดังกล่าว บริษัทได้ตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว จึงไม่กระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทแต่อย่างใด

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(5 มี.ค.) ศาลแพ่ง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้กำกับดูแลศูนย์การค้าสยามสแควร์ เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท เมืองไทยประกันภัย ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีที่สยามสแควร์ถูกไฟไหม้ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553

โดยศาล พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว เห็นว่า แม้จะมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณพื้นที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 และในทางนำสืบ จำเลยระบุว่า ระหว่างการชุมนุม มีกลุ่มก่อการร้ายใช้อาวุธสงครามร้ายแรงก่อวินาศกรรมหลายครั้ง แต่การนำสืบไม่ปรากฏชัดว่าว่าการก่อวินาศกรรมหรือเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้น เป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือเป็นการสั่งการโดยแกนนำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการนั้น

ศาล ยังระบุด้วยว่า วันเกิดเหตุ เห็นว่าขณะคนร้ายเผาโรงภาพยนตร์สยาม แกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ไม่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองเหลืออยู่ และเหตุการณ์เผาโรงภาพยนตร์สยาม ทางจำเลยนำสืบไม่ได้ว่าเกี่ยวโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช.อย่างไร และไม่ว่าจะกระทำโดยคนใดหรือกลุ่มใด ก็มิใช่การกระทำที่หวังผลทางการเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า ความปั่นป่วน วุ่นวาย จนไม่สามารถควบคุมได้ ถือว่าอยู่ในความหมายของคำว่าจลาจล อัคคีภัยที่เกิดขึ้นจึงเป็นภัยที่เกิดจากการจลาจล ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามประกันอัคคีภัยดังกล่าว แต่มีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยซึ่งโจทก์ทำไว้ 2 แห่ง ที่ไม่มีข้อยกเว้นความเสียหายที่เกิดจากการจลาจล จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 2 คูหา รวมเป็นเงิน 1,780,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น