xs
xsm
sm
md
lg

ทอ.ปล่อย12เครื่องบินทำฝนหลวง ทบ.ร่วมมือมูลนิธิอุทกพัฒน์ บูรณาการน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(5 มี.ค.56)ป นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การป้องกัน แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในการบริหารจัดการน้ำชุมชนที่จะ ช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพในปี2556
นายสุเมธ กล่าวว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ อ.บาระกำ จ.พิษณุโลก พบว่าชาวบ้านยังทะเลากันในเรื่องต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และยังไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนานั้น ประชาชนในพื้นที่ยังไม่มีทั้ง 3ข้อ ซึ่งทุกวันนี้ถือว่าลำน้ำยม ถือเป็นพื้นที่ทีมีปัญหาหนัก เมื่อน้ำมาก็จะเกิดภาวะน้ำท่วมมาก ซึ่งต้องแก้ไข สิ่งที่สำคัญคือการร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทั้งกองทัพ และ รัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยรัฐบาลเองก็เริ่มให้ความสำคัญเรื่องน้ำมากขึ้น ทางมูลนิธิฯ ได้ทำแผนงานในเรื่องการจัดการเรื่องน้ำกับภาคประชาชน กำลังเตรียมเสนอให้รัฐบาล เชื่อมั่นในศักยภาพของกองทัพบก ที่จะให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เชื่อมั่นว่ากองทัพบกสามารถสนองตอบงานที่สั่งได้ทุกโครงการ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทางกองทัพได้เห็นความสำคัญในเรื่องอุทกภัย และช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง และ มีแนวคิดว่าการป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของ มูลนิธิฯ ในการพัฒนาจัดการน้ำของชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา น้ำท่วม และ ภัยแล้ง ปีนี้มูลนิธิ และ กองทัพมีโครงการแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำ และ การสำรองน้ำ ช่วยบรรเทาอุทกภัยและ ภัยแล้งในชุมชน 10 พื้นที่ จ.นครสวรรค์ สุโขทัย พิษณุโลก ปัตตานี ราชบุรี ทั้งนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณประมาณ 88 ล้านเศษ คิดเป็น 10 % ของงบประมาณ770 ล้านที่กองทัพได้รับมาตามแผนงานบริหารจัดการน้ำ โดยจัดสรรให้ทุกกองทัพภาคไปดำเนินการใน 79โครงการทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุน 7 หน่วยงาน ทางกองทัพบกพร้อมที่จะทำทุกอย่างให้เป็นไปตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกองทัพบกเสนอไปรัฐบาลเองว่าเรามีศักยภาพในการดำเนินการในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะเรามีหน่วยทหารช่าง เมื่อเสนอไปรัฐบาลก็ให้มา 88 ล้านบาท ตนก็ได้นำมาสนับสนุนโครงการของมูลนิธิฯ
อีกด้านเวลา10.00 น.ที่กองบิน46 จ.พิษณุโลก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีส่งหน่วยบินฝนหลวงกองทัพอากาศประจำปี2556 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจของกำลังพลกองทัพอากาศที่ปฏิบัติภารกิจสนองพระมหากรุณาธิคุณในโครงการพระราชดำริฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนปัญหาภัยแล้งในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้กองทัพอากาศได้จัดอากาศยานจำนวน 12 เครื่อง ได้แก่เครื่องบินBT-67จำนวน4เครื่อง เครื่องบินAU-23
จำนวน 6 เครื่อง และ Alphajet จำนวน 2 เครื่อง โดยได้มีการสาธิตการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัยของกองทัพอากาศ ประกอบด้วย การบินทำฝนหลวง การบินควบคุมไฟป่า การบินโปรยน้ำเพื่อลดปัญหาหมอกควัน รวมถึงการบินลาดตระเวนทางอากาศ การส่งเจ้าหน้าที่ค้นหาและช่วยชีวิตด้วยการลงเชือกทางดิ่ง การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศของเฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ และการบินทิ้งอุปกรณ์ยังชีพโดยใช้เครื่องบินซี-130
โดยพล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า กองทัพอากาศพร้อมนำทรัพยากรของกองทัพอากาศมาใช้ให้เป็นประโยชน์ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและแสดงให้เห็นว่าเครื่องบินต่างๆยังปฏิบัติหน้าที่ได้ดี ทั้งภารกิจฝนหลวง การดับไฟป่า ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมเมล็ดพันธ์หุ้มดินเหนียว สำหรับโปรยทางอากาศ โดยจะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 พันไร่ และภายใน 5 ปีจะได้ประมาณ5 พันไร่ ซึ่งเมื่อเมล็ดพันธ์ตกถึงพื้นที่จะฝังในพื้นดินประมาณ 40 ซม.และใช้เวลา 15 วันก็จะค่อยๆเติบโต ทั้งนี้การทำฝนหลวงถือเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกให้ร่วมกันอนุรักษ์และไม่ตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ
อย่างไรก็ตามกองทัพอากาศได้เตรียมเครื่องบินจำนวน12เครื่องเพื่อใช้ในภารกิจทำฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งมั่นใจว่า ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี แต่ยอมรับว่า รู้สึกห่วงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด ส่วนพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนล่างยังมีความชื้นอยู่บ้าง แต่ในอนาคตคาดว่า จะประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน ซึ่งทุกหน่วยงานต้องช่วยกันดูแล ส่วนการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำนั้นต้องดูผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะในแต่ละพื้นที่มีปัจจัยไม่เหมือนกัน ซึ่งต้องศึกษาอย่างละเอียด
กำลังโหลดความคิดเห็น