xs
xsm
sm
md
lg

‘รายงานสเกมาฮอน’ ข้อต่อสู้ของไทยที่ไทยด้วยกันทำลายทิ้ง ?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

กระทรวงการต่างประเทศแถลงชี้แจงยืนยันว่าเอกสาร “50 ปี 50 ประเด็นถาม-ตอบกรณีปราสาทพระวิหาร” ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว โดยเฉพาะในข้อความนิยาม “สันปันน้ำ” ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 โดยนายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงฯ และหัวหน้าคณะเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงกลาโหม ปรากฏเป็นข่าวในสื่อทั่วไปทุกแขนงและข่าวสารนิเทศในเว็บไซต์ทางการของกระทรวงการต่างประเทศเอง

ทำงานเร็วมาก เพราะผมเปิดประเด็นเรื่องนี้ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556

ในการแถลงข่าวชี้แจงแบบศรีธนญชัยครั้งนั้นว่าไอ้ประโยคที่ผมเห็นว่าร้ายกาจที่สุดที่เขียนลงไปว่า “ทั้งนี้ ตรงบริเวณปราสาทพระวิหาร จนถึงวันนี้ยังไม่เคยมีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริง” นั้นหมายความ(เพียง)ว่ายังไม่เคยมีการสำรวจโดยคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JBC ในตอนท้ายยังสำทับเพื่อความหนักแน่นในตอนท้ายอีกดังนี้

“อนึ่ง ในสมัยที่คณะกรรมาธิการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส ได้ลงไปยังพื้นที่ดงรักเมื่อปี ค.ศ 1906 ก็ไม่มีหลักฐานว่าคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศสได้ตัดสินใจใด ๆ ในเรื่องนี้ หรือเรื่องอื่นใดเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร และนับจากนั้นก็ไม่เคยมีการพิสูจน์ทราบสันปันน้ำ

เพียงเพื่อยืนยันความถูกต้องของตัวเอง เพียงเพื่อตอบโต้คนไทยด้วยกันเองคนหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศไม่ลังเลที่จะตอกย้ำการเปลี่ยนจุดยืนใหม่ของประเทศไทยอันเป็นประโยชน์ต่อกัมพูชาอย่างยิ่งใน 2 ประเด็นสำคัญดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง : คณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศสเมื่อกว่า 100 ปีก่อนยังไม่เคยตัดสินใจเรื่องเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร และบริเวณ 195 กิโลเมตรจากช่องสะงำถึงช่องบก

ประเด็นที่สอง : หลังจากยุคคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศสแล้วก็ไม่เคยมีการพิสูจน์ทราบสันปันน้ำในบริเวณปราสาทพระวิหาร


ในประเด็นแรกนั้น ผมได้เคยเขียนเล่าไว้แล้วหลายครั้ง เช่นเดียวกับท่านผู้ทรงคุณวุฒิคนอื่นที่ต่อสู้ในกรณีปราสาทพระวิหาร ว่าข้อต่อสู้ที่ถือเป็นจุดยืนของประเทศไทยในคดีปราสาทพระวิหารภาคแรกระหว่างปี 2502 – 2505 นั้นคือคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศสตกลงว่าเขตแดนอยู่ที่สันปันน้ำ และสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา แม้จะไม่มีปรากฏในรายงานคณะกรรมาธิการฯ แต่ก็มีหลักฐานแวดล้อมหลายรายการ ทั้งหมดปรากฏอยู่ในคำให้การและคำติงของประเทศไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยื่นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2504 และ 2 กุมภาพันธ์ 2505 ลงนามโดยม.จ.วงษ์มหิป ชยางกูร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ตัวแทนของรัฐบาลไทยในการต่อสู้คดี อาทิ

คำให้การ – หมวด 5 “ความผิดพลาดในแผนที่ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 และที่ตั้งอันแท้จริงของสันปันน้ำ” ข้อ 76 – 8

คำติง – หมวด 2 “แผนที่หมาย 1 ของกัมพูชาไม่มีผลผูกพัน” หัวข้อย่อย (ช) “แผนที่หมาย 1 ไม่ได้เขียนขึ้นตามข้อตกลงของกรรมการผสม” ข้อ 42, 43 หัวข้อย่อย (ซ) “ถ้ากรรมการผสมได้ตกลงกันว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน ข้อตกลงนั้นจะต้องเป็นการกำหนดเส้นเขตแดนไว้ที่หน้าผา” ข้อ 45 – 53 และหมวด 5 “ข้อผิดพลาดในแผนที่หมาย 1 และที่ตั้งอันแท้จริงของเส้นเขตแดนสันปันน้ำบนเขาพระวิหาร” ข้อ 102

แม้เป็นข้อต่อสู้ที่คำพิพากษาหลักไม่ฟัง เอาแต่จะใช้หลักกฎหมายปิดปากกับประเทศไทยเท่านั้น แต่ในคำพิพากษาแย้งของผู้พิพากษาบางท่านก็กล่าวรับรองเรื่องนี้ไว้ชัดเจนยิ่ง โดยเฉพาะของท่านเซอร์เพอร์ซี่ สเปนเดอร์

ส่วนในประเด็นที่สองที่ว่าไม่เคยมีการพิสูจน์ทราบสันปันน้ำบริเวณปราสาทพระวิหารอีกเลยนั้นเป็นเรื่องใหม่ที่ผมคาดไม่ถึงว่ากระทรวงการต่างประเทศจะอัลไซเมอร์ถึงเพียงนี้ !

ท่านลืม “รายงานสเกมาฮอน” เสียแล้วหรือ ?


เพื่อเตรียมการต่อสู้คดี เพื่อหาหลักฐานหักล้างการบิดเบือนของแผนที่ระวางดงรักหลักฐานสำคัญของกัมพูชา รัฐบาลไทยในยุคปี 2504 ได้ร้องขอให้ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของความเป็นกลางลงสำรวจพิสูจน์ทราบสันปันน้ำในบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกท่านนั้นคือศ.วิลเลม สเกมาฮอน (Willem “Wim” Schermerhorn) ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกการสำรวจทางอากาศระหว่างประเทศ (International Training Centre for Aerial Survey) หรือ ITC มหาวิทยาลัยเดลฟท์ เนเธอร์แลนด์ ท่านผู้นี้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นรัฐบุรุษที่ได้รับการยกย่อง และในด้านความรู้ความเชี่ยวชาญทางภูมิศาสตร์ก็ได้รับการยกย่องเป็นที่ประจักษ์ จากการได้รับรางวัลเหรียญทองจากสมาคมนักภูมิศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระราชินิอังกฤษ ในการประชุมนักภูมิศาสตร์ทั่วโลก ณ กรุงลอนดอน ปี 2503 ซึ่งอยู่ในช่วงเดียวกับที่ตอบรับงานของรัฐบาลไทย

ปัจจุบัน ITC ของศ.วิลเลม สเกมาฮอนก็ยังอยู่ แต่ยกระดับและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น The International Institute for Geo-Information Science and Earth Observation มีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาออกไปแล้วมากมายทั่วโลก

แม้ศ.วิลเลม สเกมาฮอนจะไม่ได้เดินทางมาประเทศไทยเอง แต่ก็ได้ส่งผู้ช่วยของท่าน คือ นายเฟรเดอริค อัครมัน ผู้เชี่ยวชาญภูมิศาสตร์สันปันน้ำ เดินทางมาประเทศไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2504 และเดินทางจากพระนครไปสำรวจภูมิประเทศจริงบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นเวลา 10 วัน เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าสันปันน้ำที่แท้จริงอยู่ที่ใด และแผนที่ระวางดงรักผิดพลาดฉกรรจ์เพราะเหตุใด เพราะขณะที่ลงพื้นที่นั้นอยู่ในช่วงฤดูฝนพอดี

นายเฟรเดอริก อัครมัน แลเห็นน้ำฝนตกลงบนหน้าผา ซึ่งเป็นสันปันน้ำบริเวณตัวปราสาท น้ำฝนไหลลงมาทางทิศเหนือของตัวปราสาทอันเป็นอาณาเขตไทย และระบุว่าแผนที่ระวางดงรักไม่ลงรอยต่อสภาพภูมิศาสตร์จริง ไม่มีลำน้ำที่ชื่อโอตาเซ็มแต่ประการใด และยังระบุอีกว่าลักษณะของสันปันน้ำบริเวณนี้มีความต่อเนื่องกันไป เช่น ทางตะวันออกไปจนสุดพนมตรวนหรือสัตตะโสม

ศ.วิมเลม สเกมาฮอนทำรายงานเสนอรัฐบาลไทยพร้อมบทวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลการเดินสำรวจ ณ พื้นที่จริงกับแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศที่ศูนย์ฯของท่านมีอยู่เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2504 ทันการยื่นคำให้การของประเทศไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2504 พอดี เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้ผู้พิพากษาหลายท่านเชื่อถือ โดยมีระบุอยู่ในคำพิพากษาแย้งของเซอร์เพอร์ซี่ สเปนเดร์ด้วย

“รายงานสเกมาฮอน” ปรากฏเป็นเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 49

การอ้างอิงพยานหลักฐานสำคัญชิ้นนี้อยู่ในคำให้การหมวด 5 "ความผิดพลาดในแผนที่ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 และที่ตั้งอันแท้จริงของสันปันน้ำ" ข้อ 76 - 80


ไหนกระทรวงการต่างประเทศบอกว่านับแต่ยุคคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศสเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ไม่เคยมีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริงบริเวณปราสาทพระวิหารเลยไงล่ะ ?

กระทรวงการต่างประเทศยังเก็บ “รายงานสเกมาฮอน” ไว้อยู่หรือเปล่า ??

หรือว่าหาย ?

หรือว่าเป็นเอกสารลับมากระดับที่รองปลัดกระทรวงผู้แถลงข่าวก็ไม่รู้ ???

แม้ศ.วิลเลม สเกมาฮอนจะทำงานช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาหลังเกษียณจากบทบาททางการเมือง แต่เชื่อว่ารัฐบาลไทยก็ต้องสนับสนุนการเงินแก่การทำงานของของเจ้าหน้าที่สถาบันของท่าน ดีไม่ดีเงินสนับสนุนอาจมาจากเงินบริจาคของคนไทยทั้งประเทศคนละ 1 บาทที่รณรงค์กันในช่วงนั้นด้วยนะ

กระทรวงการต่างประเทศไทยวันนี้อาศัยสิทธิและหน้าที่อันใดไปทำลายรายงานสเกมาฮอนทิ้ง ด้วยการแถลงเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ว่าไม่เคยมีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริงบริเวณปราสาทพระวิหารมาก่อน ?
กำลังโหลดความคิดเห็น