ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในที่สุด เจ้าตลาดคอนวีเนียนสโตร์อย่าง “เซเว่นอีเลฟเว่น” ก็ประกาศเปิดกลยุทธ์บุกแหลกทุกทำเล ไล่สกัดคู่แข่งยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น “แฟมิลี่มาร์ท” ภายใต้อาณาจักรค้าปลีก “เซ็นทรัล” และ “สหพัฒน์” ที่ประกาศจับมือกับ “ลอว์สัน เจแปนอิงค์” เพื่อติดอาวุธยกเครื่องธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “108ช็อป” โดยเตรียมเผยโฉมร้าน “ลอว์สัน108” ในเร็วๆ นี้
การเซ็นสัญญาล่าสุดระหว่างบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) โดยขยายความร่วมมือให้ซีพีออลล์บริหารพื้นที่คอมมูนิตี้มอลล์ภายในโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ลุมพินี พาร์ค ทำเลสุขสวัสดิ์ ลุมพินีทาวน์ชิพ รังสิตคลอง 1 และลุมพินีเพลส ยูดี-โพศรี จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะมีการกันพื้นที่เพื่อก่อสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ขนาด 4-5 ไร่ ในแต่ละโครงการ หลังจากบรรลุข้อตกลงยึดครองทำเลขยายสาขาร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในคอนโดมิเนียมลุมพินีทุกแห่ง ทั้งโครงการใหม่และโครงการเดิมจน “แฟมิลี่มาร์ท” หลุดกระเด็นออกไป ถือเป็นหมากเกมใหม่
ไม่ใช่แค่การขยายสาขาที่บุกเข้าสู่ทำเลใหม่และทำเลเก่าที่มีศักยภาพของคู่แข่ง แต่ยังขยายไลน์เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อกินรวบตลาดให้ได้มากที่สุดตามนโยบายที่เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ต้องการขยายรายได้จากธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดของซีพี
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของร้านสะดวกซื้อด้วย ซึ่งตามแผนของ แอล.พี.เอ็น ในปีนี้จะเปิดตัวโครงการใหม่ 13 แห่ง ไตรมาสแรกจะเปิดตัว 3-4 โครงการ ได้แก่ ลุมพินีพาร์ค สุขสวัสดิ์ ลุมพินีคอนโดทาวน์ ลาดปลาเค้า (โครงการ2) และไตรมาส 2 เร่งบุกพื้นที่ในต่างจังหวัด ได้แก่ ชะอำ 2 โครงการ อุดรธานี 1 โครงการ จอมเทียนเฟส2 และอยู่ระหว่างเจรจาซื้อที่ดินที่หัวหินอีก 1 แปลง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะมีเพียงความร่วมมือเฉพาะกับแอล.พี.เอ็นเท่านั้น เพราะกลุ่มคอนโดมิเนียมถือเป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่เซเว่นฯ ต้องการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ซีพีออลล์ได้ประกาศเปิดแผนการลงทุนเชิงรุกแบบหนักหน่วงตลอดปี 2556 ใช้เม็ดเงินกว่า 6,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการขยายสาขาใหม่ที่ปรับเป้าจากปกติปีละ 500 สาขา เป็น 550 สาขา การรีโนเวตสาขาเดิม ก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) 2 แห่งที่จังหวัดชลบุรีและสมุทรสาคร ไม่นับรวมการสร้างศูนย์ย่อยทั่วประเทศ และยกเครื่องระบบไอที โดยวางทิศทางการขยายสาขาสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ตั้งเป้าอีก 7 ปีข้างหน้า เซเว่น อีเลฟเว่น จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นครอบคลุมทั้งหมด 691 อำเภอ จากทั้งหมด 928 อำเภอ หรือคิดเป็น 75% ของพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศและมีลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้ากว่า 8 ล้านคนต่อวัน
ปัจจุบัน หากเทียบกับประเทศในเครือข่ายแฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่นทั่วโลก จำนวน 48,097 สาขา ประเทศที่มีจำนวนสาขามากสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ญี่ปุ่น 14,579 สาขา สหรัฐอเมริกา 7,558 สาขา ไทยอยู่ในอันดับ 3 จำนวน 6,822 สาขา ตามด้วยเกาหลีใต้ 6,621 สาขา และไต้หวัน 4,830 สาขา
นอกจากนี้ จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในร้านต่อวัน พบว่า เซเว่นฯ ไทยมีจำนวนลูกค้าเข้ามาใช้บริการสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ 1,426 คนต่อร้านต่อวัน รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น 1,052 คนต่อร้านต่อวัน ไต้หวัน 990 คนต่อร้านต่อวัน สหรัฐอเมริกา 920 คนต่อร้านต่อวัน และเกาหลีใต้ 344 คนต่อร้านต่อวัน
ดังนั้น ถ้าบริษัทซีพีออลล์สามารถคว้าไลเซนส์เปิดให้บริการในประเทศจีนภายในปีนี้ และวางแผนยื่นขอต่อเนื่องในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งทั้งหมดจะเชื่อมโยงมายังตลาดไทย การขยายสาขาบริเวณชายแดนที่เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านในทุกๆ ภาค ทั้งภาคอีสานที่เชื่อมต่อพม่า กัมพูชา เวียดนาม ภาคใต้ เชื่อมต่อมาเลเซีย ภาคเหนือเชื่อมต่อพม่า ลาว เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558
อย่างไรก็ตาม ในสมรภูมิไทยจากจำนวนร้านสะดวกซื้อทั้งหมด 12,044 สาขา ไม่ได้ขับเคี่ยวกันเฉพาะกลุ่มท็อปไฟว์ คือ เซเว่น อีเลฟเว่น จำนวน 6,822 สาขา ตามด้วย “โลตัสเอ็กซ์เพรส” 1,059 สาขา 108ช็อปของสหพัฒน์ ซึ่งเตรียมแปลงร่างเป็น “108ลอว์สัน” มีจำนวน 929 สาขา แฟมิลี่มาร์ท 765 สาขาและเฟรชมาร์ท 755 สาขา
แต่ยังมีคู่แข่งที่มีทั้งเงินทุนและพุ่งเป้าต้องการเข้ามาแบ่งเค้กเกือบสิบราย ไม่ว่าจะเป็นมินิบิ๊กซี จิ๊ฟฟี่ หรือท็อปส์เดลี่ จนทำให้คอนวีเนียนสโตร์บางค่ายต้องยอมยกธงขาวอย่าง “วีช็อป” ทั้งที่เปิดสาขามากถึง 1,159 สาขา แต่สู้สงครามการแข่งขันไม่ไหวและหยุดดำเนินกิจการไปเมื่อปี 2554
ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เซเว่นฯ ต้องการยึดทุกทำเล พื้นที่ชุมชน หมู่บ้านเกิดใหม่ คอนโดมิเนียม คอมมูนิตี้มอลล์ โรงพยาบาล และปั๊มน้ำมัน โดยมีแบบร้านหลากหลาย ทั้งสแตนอะโลน อาคารพาณิชย์ หรือบูธ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และเน้นความเป็นร้านอิ่มสะดวก มีบริการครบแบบ “One Stop Service” ทั้งร้านกาแฟและเบเกอรี่ “คัดสรร” ร้านหนังสือ “บุ๊คสมาย” ร้านขายยา “โปรเจคต์เอ็กซ์ต้า” บริการชำระเงิน “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” บริการขายสินค้า “เซเว่นแค็ตตาล็อก” รวมทั้งจับมือกับซัปพลายเออร์พัฒนาสินค้าและวางขายเฉพาะเซเว่นฯ เพื่อสร้างความแตกต่างจากร้านค้าปลีกและโชวห่วยทั่วไป
ล่าสุด “เซเว่น แค็ตตาล็อก” ซึ่งถือเป็นช่องทางตลาดที่แข่งขันรุนแรง มี “His&Her” ของค่ายไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ในเครือสหพัฒน์เป็นคู่แข่งสำคัญ กำลังขยายศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และเตรียมลงทุนสร้างคลังสินค้าในทุกภาค เพื่อการจัดส่งสินค้าที่สะดวกและรวดเร็ว เพราะถือเป็นจุดขายสำคัญของธุรกิจแค็ตตาล็อก นอกเหนือจากรายการสินค้า ซึ่งมีจำนวนสินค้าที่จำหน่ายทั้งหมด 1,700 รายการ เป็นสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 40% และยอดขายส่วนใหญ่ 54%มาจากลูกค้าต่างจังหวัด อีก 46% มาจากลูกค้าในกรุงเทพฯ โดยสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,300 ล้านบาท และมีจำนวนสมาชิกเพิ่มเป็น 1.3 ล้านราย จากปัจจุบัน 1.2 ล้านราย
ด้านบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสเพิ่งประกาศจับมือกับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อลิอันซ์ ซี พี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) เปิดให้ลูกค้าสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ประกันรูปแบบต่างๆได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส กว่า 8,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น 6,800 แห่ง
ในส่วนนี้คาดว่าจะช่วยขยายฐานลูกค้าได้ 5% จากปัจจุบันมีลูกค้าเข้าใช้บริการ 7 ล้านคนต่อวัน และกว่า 20 ล้านคนต่อสัปดาห์
ต้องยอมรับว่า การยกเครื่องและปรับโฉมร้านสะดวกซื้อของเซเว่นอีเลฟเว่น โดยเฉพาะการสร้างบริการที่หลากหลายมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งรอบด้าน โดยเฉพาะกลุ่มดิสเคานต์สโตร์และซูเปอร์เซ็นเตอร์ที่หันมาเล่นสาขาขนาดเล็กเจาะชุมชน
อีกด้านหนึ่ง ซีพีออลล์กำลังเร่งรุกแผนขั้นต่อไป โดยดึงธุรกิจที่ทดลองตลาดในร้านเซเว่นฯ ออกมาลุยตลาดค้าปลีกอย่างเต็มตัวในแบรนด์ภายใต้ “ซีพีออลล์” ไม่ใช่ “เซเว่นอีเลฟเว่น” โดยวางธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ที่จับมือกับแอล.พี.เอ็น.และได้รับสิทธิ์การบริหารรูปแบบ รวมถึงการเลือกร้านค้ารองรับอยู่
แหล่งข่าวจากซีพีออลล์ระบุว่า บริษัทมีแนวคิดขยายไลน์ธุรกิจค้าปลีกตัวใหม่ๆ แยกออกจากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อสร้างเครือข่ายร้านค้าปลีกภายใต้แบรนด์ “ซีพีออลล์” เอง โดยเริ่มพัฒนาร้านกาแฟและเบเกอรี่แบรนด์ “เบลลินี่ เบค แอนด์ บรู” (Bellinee's Bake&Brew By CPAll) วางคอนเซ็ปต์เป็นร้านกาแฟสไตล์อิตาเลียนระดับไฮเอนด์ เปิดให้บริการตามศูนย์การค้า ระดับราคาอยู่ระหว่าง 65-120 บาท ซึ่งต่างจากแบรนด์ “คัดสรร” ในร้านเซเว่นฯ ที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป
สำหรับร้านกาแฟเบลลินี่ทดลองเปิดสาขาแรกในโครงการพลาซ่า ลากูน วังหิน เมื่อเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งหากประสบความสำเร็จ บริษัทมีแผนขยายสาขาต่อไปและมองไปถึงตลาดต่างประเทศด้วย
“โครงการนี้เป็นการทดลองและถือเป็นครั้งแรกที่ซีพีออลล์ขยายไลน์ธุรกิจร้านค้าปลีกและต้องการสร้างรายได้จากร้านค้าปลีกตัวอื่นๆ นอกเหนือจากเซเว่นอีเลฟเว่น” แหล่งข่าวกล่าว
จากผลประกอบการเมื่อปี 2555 ซีพีออลล์ มีรายได้รวม 197,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.2% จากปี 2554 กำไรสุทธิ 11,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.7% ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากธุรกิจร้านเซเว่นอีเลฟเว่นถึง 194,695 ล้านบาท ผลกำไรสุทธิ 9,982 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีธุรกิจในเครืออีกหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์เซอร์วิส เซเว่นแค็ตตาล็อก บัตรเงินสด “สมาร์ทเพิร์ส” ซึ่งมียอดผู้ถือบัตรกว่า 3 ล้านใบ และบริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด ผลิตอาหารพร้อมรับประทานชั้นนำ เช่น ติ่มซำเจดดราก้อน เบเกอรี่อบสด และอาหารจัดเลี้ยงมายมีล กลับมีสัดส่วนรายได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์
เกมล่าสุดของซีพีออลล์จึงเป็นการขยายสงครามตลาดที่ได้ผลไม่ใช่แค่ขยายช่องทาง ขยายเครือข่าย หรือฐานรายได้ แต่ยังขยายธุรกิจร้านค้าปลีกที่ไม่ต้องผูกติดเงื่อนไขค่าไลเซนส์ที่แพงลิบลิ่วด้วย