ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “เครือเนชั่นระดมทุน 2 พันล้าน เคลื่อนทัพทีวีดิจิตอลเต็มพิกัด NMG โชว์กำไร 2555 พุ่ง 80%
นั่นคือพาดหัวหนังสือพิมพ์คมชัดลึกฉบับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556
“เครือเนชั่นหวัง 5 ปี รายได้ทะลุหมื่นล้าน”
นั่นคือพาดหัวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556
“INVESTORS,STOCK ANALYSTS FLOCK TO NMG’S DIGITAL TV OPEN HOUSE”
นั่นคือพาดหัวหนังสือพิมพ์ THE NATION ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556
“ฟ้ากว้าง ทางทีวีดิจิทัล”
นั่นคือพาดหัวปกนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ปีที่ 21 ฉบับที่ 1082 ฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556
เรียกได้ว่า “เครือเนชั่น” ภายใต้การบัญชาการของ “สุทธิชัย หยุ่น” ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ระดมสื่อในเครือที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ ปฏิบัติการปั่นเพื่อระดมทุนจำนวน 1,950 ล้านบาทในการยื่นประมูลใบอนุญาตโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมามากมายว่า นี่ใช่เป็นปฏิบัติการ “สุทธิชัยปั่น” หรือไม่
เพราะต้องไม่ลืมว่า หนึ่งในบุคคลสำคัญซึ่งยืนทะมึนอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของปฏิบัติการครั้งนี้ก็คือ “เสริมสิน สมะลาภา” ที่วันนี้เป็นทั้งผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)
เป็นเสริมสิน สมะลาภาที่ผู้คนในแวดวงตลาดหลักทรัพย์และวงการหุ้นรู้จักกันดีในฐานะอดีตกรรมการผู้จัดการ “บริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด(มหาชน)” หรือ NPARK
งานนี้ สุทธิชัย หยุ่นถึงขนาดประกาศออกมาด้วยความมั่นใจว่า “สำหรับผม นี่เป็นภารกิจสุดท้าย ถ้าทำสำเร็จจะไปเที่ยวแล้ว เชื่อว่าก่อนสิ้นปีจะเกิด...ถ้าบอกว่า ประมูลเสร็จต้องออกอากาศได้ใน 30 วัน เราทำได้ทันที ไม่มีใครพร้อมเท่าเรา” พร้อมคุยฟุ้งอีกต่างหากว่าภายใน 5 ปี รายได้จะทะลุถึงหลักหมื่นล้าน
เช่นเดียวกับเสริมสิน สมะลาภาที่กล่าวย้ำว่า การระดมทุนของเครือเนชั่นจะสร้างผลตอบแทนที่ดีและมั่นคงให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว ทั้งยังทำให้กลุ่มเนชั่นมีฐานทุนที่ใหญ่ เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนด้านสื่อในภูมิภาคนี้
ถึงตรงนี้ แม้จะยังไม่มีบทสรุปว่า เป้าหมายในการระดมทุนประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ราคาหุ้นของทั้ง 3 บริษัทขยับขึ้นมาชนิดที่ไม่อาจกระพริบตาได้เลยทีเดียว
เนชั่นพร้อมกว่าใครจริงหรือ ทีวีดิจิทัล คุ้มค่าจริงหรือ
กล่าวสำหรับการรุกคืบทางธุรกิจของเครือเนชั่นนั้น ถ้าหากติดตามความเคลื่อนไหวในรอบหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีการลงทุนในหลากหลายกิจการด้วยกัน ทั้งในธุรกิจสื่อและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทางด้านโทรทัศน์ เครือเนชั่นเปิดช่องใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย อาทิ สถานีข่าวระวังภัย แมงโก้ทีวี คิดส์โซน กรุงเทพธุรกิจทีวี แต่สุดท้ายไม่ทราบว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นจึงมีการยุบรวมหลายต่อหลายช่องเข้าด้วยกัน เช่น สถานีข่าวระวังภัยและแมงโก้ทีวีซึ่งเปิดตัวอย่างใหญ่โตแต่สุดท้ายก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของคมชัดลึกทีวี
ขณะที่รายการโทรทัศน์ที่เครือเนชั่นรับจ้างผลิตและสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำก็ประสบปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวีอย่าง รายการข่าวข้นคนข่าว และ รายการเช้าข่าวข้นคนข่าวเช้า ที่ถูก บมจ.อสมท จำกัด(มหาชน) ถอดออกจากผังรายการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของเครือเนชั่นค่อนข้างมาก เนื่องจากทั้งสองรายการถือเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่คิดเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ในจำนวนที่มากโข
นอกจากนี้ เครือเนชั่นยังรุกเข้าไปสู่ธุรกิจการศึกษาด้วยการเทกโอเวอร์ มหาวิทยาลัยโยนก พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยเนชั่น ซึ่งก็มีข้อมูลยืนยันว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขผู้เรียน ทำให้ต้องสั่งการให้สื่อในเครือทำการประชาสัมพันธ์อย่างขนานใหญ่
ขณะเดียวกันในห้วงเวลาดังกล่าว เครือเนชั่นก็มีการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของโครงสร้างผู้บริหาร รวมถึงโครงสร้างพนักงานที่มีการลดพนักงานหลายต่อหลายครั้ง รวมแล้วเป็นจำนวนหลายร้อยคน
สำหรับในปฏิบัติการระดมทุนในครั้งนี้ เครือเนชั่นของสุทธิชัย หยุ่น ใช้บริษัท 3 บริษัทในการระดมทุนคือ หนึ่ง-บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือNMG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ สอง-บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ NBC และสาม- บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ NINE โดย NMG จะเข้าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตัลประเภทธุรกิจกลุ่มช่องทั่วไป(วาไรตี้) ส่วน NBC จะเป็นผู้ประมูลใบอนุญาตช่องข่าว ขณะที่ NINE จะเข้าประมูลใบอนุญาตช่องเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ ในการระดมทุนดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1 ในวันที่ 25 เมษายน 2556 เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3,3377 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิม 1,647.74 ล้านหุ้น อัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละ 1 บาท พร้อมแจกวอแรนท์อายุ 5 ปีโดยให้สิทธิ 1 หุ้นใหม่ต่อ 1 วอแรนท์ในราคา 1 บาท และออกหุ้น ESOP(Employee Stock Options) หรือสิทธิให้พนักงานซื้อหุ้นในระยะเวลา 5 ปีที่ราคา 1 บาทเช่นกัน
รวมเป็นเงินที่คาดว่าจะได้รับ 1,647.74 ล้านบาท
ส่วนคณะกรรมการบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ก็มีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 เช่นกันให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 541 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิม 353.74 ล้านหุ้น ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อต่อ 2 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 3 บาท พร้อมแจกวอแรนท์อายุ 5 ปีให้สิทธิ 2 หุ้นใหม่ต่อ 1 วอแรนท์ ราคาใช้สิทธิ 3 บาท ทั้งนี้ หากผู้ถือหุ้นรายย่อยของ NBC ใช้สิทธิเพิ่มทุนไม่ครบ NMG มีความประสงค์จะรับซื้อหุ้นเพิ่มทุนทีเหลือทั้งหมด
รวมเป็นเงินที่คาดว่าจะได้รับ 1,061.22 ล้านบาท
ขณะที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด(มหาชน) ก็มีมติในวันเดียวกันให้อนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 174.25 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิม 85 ล้านหุ้น อัตราส่วน 1 ต่อ 1 หุ้นละ 4 บาท พร้อมแจกวอแรนท์อายุ 5 ปี ให้สิทธิ 1 หุ้นใหม่ต่อ 1 วอแรนท์ในราคา 4 บาท ทั้งนี้ หากผู้ถือหุ้นเดิมของ NBC และ NINE ไม่ได้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้เต็มจำนวน NMG มีความประสงค์จะรับซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด
รวมเป็นเงินที่คาดว่าจะได้รับ 340 ล้านบาท
กระนั้นก็ดี สิ่งที่ต้องไขปริศนากันต่อไปก็คือ การระดมทุนครั้งนี้ ซึ่งเป็นการระดมทุนก้อนมหึมานั้นเกิดขึ้นท่ามกลางข้อกังขาว่า ทีวีดิจิตอลจะสร้างรายได้คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุนไปหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกรับชมรายการโทรทัศน์ที่ค่อนข้างหลากหลาย
ทั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดและมีรายการให้เลือกรับชมมากมายนับร้อยช่อง แถมมีตัวเลขยืนยันว่า เป็นช่องทางที่มีตัวเลขผู้รับชมสูงไม่ต่ำกว่า 12-15 ล้านครัวเรือน
ทั้งสถานีโทรทัศน์ในระบบบอกรับสมาชิกที่ระดมแคมเปญเพื่อรักษาฐานลูกค้าของตนเองเอาไว้
นี่ไม่นับรวมถึงกลุ่มธุรกิจที่เคยเป็นผู้ซื้อโฆษณาซึ่งตัดสินใจลงทุนทำสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของตนเอง เช่น แกรมมี่ อาร์เอส เป็นต้น
ขณะที่ทีวีดิจิตัลที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย(กสทช.) เตรียมเปิดประมูลและอยู่ระหว่างการออกหลักเกณฑ์การประมูลก็มีจำนวนช่องที่มากถึง 48 ช่อง แบ่งเป็นช่องสาธารณะ 18 ช่อง ช่องชุมชน 12 ช่องและช่องธุรกิจ 12 ช่อง ซึ่งในการเปิดประมูลครั้งนี้ ก็มีธุรกิจสื่อให้ความสนใจเข้าร่วมแข่งขันกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งจากธุรกิจสื่อโทรทัศน์เดิมๆ อย่างช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 และไทยพีบีเอสที่พร้อมร่วมวงแบ่งเค้กในครั้งนี้ ทั้งจากธุรกิจสื่ออื่นๆ ที่ขณะนี้ก็มีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมแล้วจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นค่ายไทยรัฐ ค่ายเดลินิวส์ที่ประกาศตัวชัดเจนว่า เอาแน่ รวมทั้งค่ายอมรินทร์ฯ ที่ “ระริน อุทกะพันธุ์” ที่ประกาศลงทุนทำโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและพร้อมระดมทุนเพื่อเข้าสู่ทีวีดิจิตอลสาธารณะในครั้งนี้
สรุปก็คือ เครือเนชั่นจะใช้อะไรเป็นจุดขายเพื่อดูดโฆษณาหรือสร้างรายได้ให้กับตัวเองท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขนาดนี้
หุ้นเนชั่น..แรงเกิน!
ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทย ถือเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีความร้อนแรง จากเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศที่ทะลักเข้ามา และจากความร้อนแรงในฟองสบู่หุ้นไซส์เล็ก ที่ P/E Ratio เกินกว่า 40 เท่า และบางตัวผลดำเนินงานติดลบ โดยราคาหลักทรัพย์ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่หุ้นที่แต่เดิมนิ่งๆ ราคาไม่ค่อยขยับอย่างกลุ่มเนชั่นฯ
3 หุ้นในกลุ่ม นำทีมโดย บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย....... กรุ๊ป (NMG) ตามมาด้วย บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC)และ บมจ.เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ (NINE) ในช่วงนี้แม้แนวโน้มตลาดหุ้นจะเริ่มเข้าสู่ภาวะการปรับฐาน มีการปรับตัวลดลงแรง แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับราคาหุ้นทั้ง 3 ตัวมากนัก เพราะต่างสร้างสมบารมีด้วยราคาหุ้นที่สูงขึ้นเท่าตัวตุนไว้ก่อนแล้ว
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของกุมภาพันธ์ 56 กลุ่มเนชั่น ประกาศเพิ่มทุนทั้ง 3 บริษัทในเครือเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 2 พันล้านบาท โดย “สุทธิชัย หยุ่น” ประธานกรรมการ หรือหัวเรือใหญ่ให้เหตุผลการระดมทุนครั้งนี้ว่า เพื่อลงทุนในดิจิทัลทีวี ที่เชื่อมั่นว่าจะกลายมาเป็นหัวหอกของกลุ่มในสร้างรายได้และกำไรเข้าสู่อาณาจักรย่านบางนา ทดแทนของเดิมคือสื่อสิ่งพิมพ์ที่ภาพรวมอยู่ในสภาพทรงตัว
ทั้งนี้ ช่วงในวันที่ทางกลุ่มเนชั่น ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงแผนระดมทุนขนานใหญ่ ราคาหุ้นของทั้งกลุ่มปรับตัวลดลง แต่เมื่อพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของราคาในช่วงที่ผ่านมา นับว่ายังไม่สามารถบั่นทอนราคาที่ทยอยเพิ่มสะสมขึ้นมาได้ โดยหากเปรียบเทียบกับวันแรกของไตรมาส4/55 อย่าง 1ต.ค. 2555 กับ ณ ปัจจุบัน (26ก.พ.) จะพบว่า หุ้นแม่อย่าง NMG ตอนนี้อยู่ที่ระดับ 2.96 บาท เพิ่มขึ้น 1.56 บาท หรือ 111.42% จาก 1.40 บาทจากวันดังกล่าว ขณะที่ NBC …...ในวันที่ 26ก.พ.56 อยู่ที่ 9.20 บาท เพิ่มขึ้น 4.20 บาท หรือ 84% จากวันที่ 1ต.ค.55 ที่ระดับ 5.00 บาท เช่นเดียวกับ NINE อยู่ที่ 18.00 บาท เพิ่มขึ้น 12.95 บาท หรือ 256.43% จาก 5.05 บาท เมื่อ 1ต.ค.55
การก้าวกระโดดของราคาหุ้นทั้ง 3 จากเครือเนชั่น สร้างความน่ากังขา ให้กับนักลงทุน ด้วยราคาที่สูงระดับพีค จากการได้รับการปรับเพิ่มเป้าหมายลงทุนของหลายๆโบรกเกอร์ขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ทั้งที่ทุกอย่างยังเป็นแค่ลม ยังไม่ความชัดเจนใดๆเกิดขึ้น มีแต่การคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี เช่นเดียวกับแผนที่จะปรับเพิ่มอัตราค่าโฆษณา
อีกทั้งการเพิ่มทุนอันจะมีผลทำให้ราคาหุ้น Dilution Effect ลงถึง 75% ….นักลงทุนยอมเจ็บกับราคาหุ้นที่ไดรูทลง และพร้อมที่จะใส่เงินเพิ่มทุนเพื่อให้ได้จำนวนหุ้นเพิ่มเข้ามา ...หรือเป็นการลากของขาใหญ่ เพื่อสร้างราคา ..ตอนนี้นักลงทุนหลายคนเริ่มเชื่อว่าราคาหุ้นทั้ง 3 ตัวขึ้นมาแรงเกินเหตุ ไม่น่าจะเป็นเพราะปัจจัยพื้นฐาน ที่ประเมินว่าแนวโน้มธุรกิจจะเติบโต
ในงาน “NMG : Digital TV Landscape” ที่เกิดขึ้น นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานกรรมการ NMG ชี้แจงแผนการเพิ่มทุน 3 บริษัทในเครือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมในการยื่นประมูลใบอนุญาตโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 1.95 พันล้านบาท ในการประมูล 3 ช่องรายการ คือ ช่องข่าว ช่องวาไรตี้ และช่องรายการเด็ก/เยาวชน โดยแผนเพิ่มทุนจะแล้วเสร็จทันการเปิดประมูล และเริ่มออกอากาศได้ทันทีในเดือนสิงหาคมปีนี้
พร้อมกับการคาดการณ์กำไร-รายได้ที่เติบโตแบบขั้นบันใดไปอีก 5ปีข้างหน้า ว่าจะแตะระดับ 1,300 ล้านบาท จากปีแรกที่จะกำไร 124 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตของกำไรในปีแรกถึงปีที่5 ซึ่งสูงถึง 948% ทั้งที่สถานการณ์การเมืองในประเทศใช่จะมีเสถียรภาพเท่าที่ควร อีกทั้งปัจจัยลบจากปัญหาเศรษฐกิจในต่างประเทศ รวมถึงกระแสเม็ดเงินลงทุนไหลเข้า และค่าเงินที่แข็งค่ายังรุมเร้าประเทศไทย
“เสริมสิน สมะลาภา” แค่ปีเดียว...กระฉูด!
ข้อมูลที่ บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ชี้แจงสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่อตลท.เมื่อ มีนาคม 2555 เผยถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งสำคัญ เมื่อ กลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ ที่เป็นหนึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่หายไป พร้อมทั้งทดแทนด้วยคนใหม่อย่าง “เสริมสิน สมะลาภา” ที่โด่งดังมาจากหุ้นN-PARK โดย ณ วันที่ 13มี.ค. 55 ถือหุ้นในสัดส่วน 8.50% รองมาจาก นางมยุรี สุขศรีวงศ์ ซึ่งถือ10.30% และนายสุทธิชัย แซ่หยุ่น ซึ่งถือ 8.86%
ช่วงปี 2555 นอกเหนือจากการข่าวการประกาศพลิกฟื้นธุรกิจ พร้อมล้างขาดทุนสะสม 776 ล้านบาท และการร่วมมือบริษัท อีเลฟเวน มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (Eleven Media Group) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อเอกชนของพม่า ปูทางไปสู่การร่วมทุนผลิตหนังสือพิมพ์รายวันภาคภาษาอังกฤษและเว็บไซต์ข่าวในพม่า การเคลื่อนไหวของนายเสริมสิน ก็เป็นที่จับตาของสื่อมวลชน รวมทั้งนักลงทุนขาเล็กขาใหญ่มาโดยตลอด มีการเข้าเก็บหุ้นNMG ในสัดส่วนที่สูงหลายครั้ง เช่นกับในช่วงปลายปี ที่มีการตัดขายหุ้นบางส่วนออกไปให้ผู้อื่น แต่ยังดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารของบริษัทอยู่ในปัจจุบัน
การสะสมหุ้นNMG ของนายเสริมสิน ช่วงปีก่อนนับเป็นการเข้าลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก จนกลายเป็นเบอร์หนึ่ง แซงหน้า "ผู้ก่อตั้ง" อย่าง ธนาชัย และ สุทธิชัย ด้วยสัดส่วนที่เคยถือไว้ถึง 250 ล้านหุ้น หรือ15.17% (6ก.พ.55 และเหลือ 11.83% เมื่อ 12ก.ค.) จนคอลัมนิสต์บางคนถึงกับแซวว่า! ได้ข่าวดีอะไรมารึเปล่า!!
ก่อนหน้านี้ นายเสริมสิน ถือเป็นนักลงทุน และเป็นผู้บริหารคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักในวงการนักลงทุน โดยเฉพาะในช่วงที่มีบทบาทสำคัญของใน N-PARK เพราะราคาหุ้นมีปรากฏการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นบ่อย แม้จะมีราคาไม่ถึง 1.00บาท แต่ในด้านเคลื่อนไหว รวมทั้งวอลุ่มซื้อขายแล้ว บางทีก็มีปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน NMG นายเสริมสิน ย่อมหลีกหนีสิ่งที่นำติดตัวมาจากN-PARK ไม่พ้น
จากหนี้สินที่มีอยู่ในระดับสูงร่วม 2.4 พันล้านบาท บวกกับขาดทุนสะสมในจำนวนที่สูง NMG ก็เริ่มเข้ากระบวนการปรับโฉมปรุงแต่งตนเอง ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ได้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนใหม่ นั่นคือเมื่อ 28ก.พ. 55 โดยคณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นลดทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทฯ จากจำนวน 1,647,740,300 บาท เป็น 873,302,359 บาท พร้อมลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) จากเดิมมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ลดเป็นหุ้นละ 0.53 บาท โดยจะนำจำนวนเงินที่ได้จากการลดมูลค่าหุ้น มูลค่า 774,442,077 บาท ไปชดเชยผลขาดทุนสะสม 776,459,251 บาท
พร้อมเปลี่ยนหัวมังกร เมื่อวันที่ 6มี.ค.55 ด้วยการลงจากเก้าอี้ของ
ประธานกรรมการคนเก่า นายธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง จากปัญหาสุขภาพ และมีมติแต่งตั้ง นายสุทธิชัย หยุ่น ทำหน้าที่ประธานกรรมการแทน นอกจากนี้ ยังปรากฏทีมผู้บริหารเลือดใหม่ประกอบด้วย นายเสริมสิน สมะลาภา ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ พร้อม กรรมการบริหาร อีก 3 คน คือ นางสาวดวงกมล โชตะนา กรรมการผู้อำนวยการ เนชั่นกรุ๊ป , นายพนา จันทวิโรจน์ กรรมการ ผู้อำนวยการ ธุรกิจต่างประเทศ เนชั่นกรุ๊ป และนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ NBC และทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ อีก 3 คน คือ นายศิวะพร ชมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการ NINE , ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเนชั่น และนายต่อบุญ พ่วงมหา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สนุกดอทคอม จำกัด ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ ธุรกิจดิจิทัล
นานาทรรศนะที่ชวนกังขา จากโบรกเกอร์
โบรกเกอร์แห่งหนึ่ง มองการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ของกลุ่มเนชั่นว่า กลุ่มเนชั่นกรุ๊ป ได้ประกาศเพิ่มทุนทั้ง 3 บริษัท คือ NMG บริษัทแม่ของ NBC (ถือหุ้น 60.79%) และ NINE (ถือหุ้น 78.46%) โดย NMG เพิ่มทุนไว้รองรับการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจาก NBC และ NINE แต่เป็นที่สังเกตว่าจำนวนเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนของ NBC เพิ่มทุนครั้งนี้ มากกว่าของ NINE เกิน 1 เท่าตัว จึงเชื่อว่า NBC จะเป็นหัวหอกหลังในการสร้างรายได้ด้านทีวีดิจิตอลให้แก่กลุ่มเนชั่นกรุ๊ป ขณะเดียวกันจำนวนเงินเพิ่มทุนของ NBC ที่มากกว่างบลงทุนที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก ทำให้เชื่อว่าค่าประมูลใบอนุญาต มีโอกาสสูงที่ฝ่ายวิจัยคาดไว้เดิมที่ 300-500 ล้านบาท และงบลงทุนน่าจะมากถึงกว่า 500 ล้านบาท
ขณะเดียวกันผลของการเพิ่มทุนครั้งนี้ Dilution Effect ของการเพิ่มทุนทั้งหมดราว 75% (เกิดจากการเพิ่มทุนครั้งนี้รวมการแปลงสภาพวอร์แรนต์ในอนาคต) จะส่งผลให้กำไรต่อหุ้นของธุรกิจทีวีดาวเทียมของ NBC ในปัจจุบัน ถูกปรับลดจาก 0.5 บาทต่อหุ้น ลงมาอยู่ที่ 0.168 บาทต่อหุ้นทำให้มูลค่าพื้นฐานของธุรกิจทีวีดาวเทียมปัจจุบันหลัง XR ของNBCถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.00 บาท จากเดิม 9 บาท แต่เมื่อบวกกับมูลค่าค่าเพิ่มจากช่องข่าวทีวีดิจิตอลในอนาคต 3.26 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้ Fair Value หลัง XR อยู่ที่ 6.26 บาท ลดลง 43% ทั้งนี้ยังไม่รวมกำไรส่วนเพิ่มจากวอร์แรนต์ที่ได้รับฟรี ซึ่งเหมาะสมอยู่ที่ราว 1.35 บาท (หรือเป็นมูลค่าแฝงเพิ่มเติมอีก 0.45 บาทต่อหุ้นของ NBC ในปัจจุบัน)
บล. กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยแนะนำ "เพิ่มน้ำหนัก" เข้าลงทุนในหุ้น บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ภายหลังการเปิดช่องโทรทัศน์ดาวเทียม "กรุงเทพธุรกิจทีวี" และ "คิดโซนส์" ในช่วงที่ผ่านมา NMG ปรับตัวสูงขึ้นด้วยวอลุ่มเทรดคึกคักทำนิวไฮในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่มกราคม 2552 แนะนำ "ซื้อ"เป้าหมาย 3.50 บาท
บล.เกียรตินาคิน จำกัด ประเมินทิศทางของ NBC ว่า มีการเก็งกำไรจากการเปิดตัวช่อง "คมชัดลึกทีวี" อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแบรนด์จากช่องทีวีดาวเทียมเดิม คือ ช่อง Mango TV และ ช่องสถานีข่าวระวังภัย หลังจากทั้ง 2 ช่อง ไม่ประสบความสำเร็จในเชิงผลประกอบการอย่างที่วาดฝันไว้
ทั้งนี้ ให้ระมัดระวังการเก็งกำไรหุ้น เนื่องจากระยะสั้นราคาหุ้นอาจได้รับความกดดันจากผลประกอบการไตรมาส 4/2555 ที่อ่อนแอหลังจากที่ NBC ไม่ได้ต่อสัญญาทำรายการคุยข่าวสำคัญ 2 รายการกับช่อง Modern 9 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ทำให้คาดว่า กำไรสุทธิปี 2555 ลดลงเหลือ 48 ล้านบาท จากปี 2544 ที่มีกำไรสุทธิ 87 ล้านบาท ในขณะที่ราคาหุ้นก็เริ่มปรับตัวเข้าใกล้มูลค่าเหมาะสม จึงแนะนำให้ระมัดระวังการเก็งกำไรหุ้น
สุดท้ายแล้ว คงต้องบอกว่า แม้ บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จะปรับลดทุนจดทะเบียน และล้างขาดทุนสะสมแล้วเสร็จ แต่สินทรัพย์ของบริษัท ณ ปี 2555 ยังอยู่ในระดับที่สูงขึ้นแตะ 4 พันล้านบาท จากปี 2554 ที่อยู่ในระดับ 3.7 พันล้านบาท เช่นเดียวกับตัวเลขหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องจากปี 2552 ที่อยู่ระดับ 2.4 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 2.5 พันล้านบาทในปี 2555 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 191.33 ล้านบาท แต่ยังไม่มีสิ่งใดยืนยันว่าได้ว่า แนวคิดที่กลุ่มเนชั่นจะทำต่อจากนี้ ประสบความสำเร็จราบรื่นดังตัวเลขรายได้-กำไรที่วาดไว้ เห็นได้จากการลองผิดลองถูกอย่าง Mango TV และ ช่องสถานีข่าวระวังภัย ขณะที่ตัวเลขราคาหุ้น ณ ปัจจุบันก็ใกล้เคียงเป้าหมายของโบรกเกอร์อย่างหมิ่นเหม่ ทั้งที่ยังเป็นเพียงแค่เดือนที่ 2 ของปี ซึ่งการเปิดประมูลฯก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้ครบดังใจหวัง ราคาหุ้นที่แรงขึ้นมาทั้ง 3ตัวของกลุ่ม จึงไม่ต่างไปจากภาวะโอเวอร์ฮีต