xs
xsm
sm
md
lg

จวกแก๊งหากินบนวิกฤตพลังงาน-"เพ้ง"สั่งกฟผ.เจรจาซื้อไฟมาเลย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“เฮียเพ้ง” โยน กฟผ. เจรจาซื้อขายไฟฟ้าจากถ่านหิน 600 เมกะวัตต์แล้ว! อ้างเวลาทีหารือไทย-มาเลเซีย ไม่วาระซื้อขายพลังงาน ด้านส.ส.ปชป.จวก“กลุ่มที่ชอบตีเทนนิส”ดูแลกระทรวงพลังงานมาโดยตลอด หากินกับวิกฤติพลังงาน ส่วนวธ.รับลูกนายกฯ เร่งออกแบบผ้าไทยให้ รมต.ใส่ประชุม ครม.ประหยัดพลังงาน

วานนี้ (28 ก.พ.56) มีรายงานข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยและนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จะมีการหารือเรื่องพลังงานและ ปิโตรเคมี เนื่องจาก มาเลเซียอาจจะเสนอขายไฟฟ้าจากถ่านหิน 1,600 เมกะวัตต์ ซึ่ง ในเบื้องต้น ไทยจะรับได้ 600 เมกะวัตต์ และมาเลเซียพร้อม จะขายไฟฟ้าช่วงที่ สหภาพเมียนมาร์จะหยุดส่งก๊าซธรรมชาติ 200 เมกะวัตต์ ในเดือนเม.ย.นี้ เพื่อเสริม สภาพคล่องให้กับความมั่นคงไฟฟ้าของไทยด้วย.

ทั้งนี้เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อเวลา 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศมาเลเซีย น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมคณะรวมถึง นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เพื่อเข้าร่วมประชุมหารือประจำปีระหว่างไทย-มาเลเซีย (Annual Consultation) ครั้งที่ 5 โดยมีตัวแทนทั้งฝ่ายไทยและมาเลเซียให้การต้อนรับ

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รัฐมนตรว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การร่วมคณะมาเยือนประเทศมาเลเซียครั้งนี้ไม่ได้มีวาระในการเจรจาเพื่อขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มในช่วงที่ประเทศพม่าจะหยุดส่งก๊าซให้แก่ประเทศไทยในช่วงเดือน เม.ย.นี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ทาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ได้ดำเนินการประสานงานไว้ล่วงหน้าแล้ว

นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤติพลังงานในประเทศไทยว่า รัฐบาลต้องคำนึงถึงเสถียรภาพของไฟฟ้าที่ต้องทำให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมและการค้า โดยการลดความเสี่ยงความมั่นคงไฟฟ้าในอนาคต รัฐบาลต้องไม่ยืนขาเดียวในการพัฒนาไฟฟ้า แต่ต้องยืนอยู่บน 4 ขาประกอบด้วย 1.ไฟฟ้าพลังน้ำ 2.พลังงานหมุนเวียน 3.พลังงานไบโอแก๊ส และ4.เรื่องการประหยัดไฟฟ้า การอนุรักษ์พลังงาน และการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพที่ต้องรณรงค์ต่อเนื่อง ทั้งนี้เรื่องพลังงานหมุนเวียน คือพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม รัฐบาลไม่ส่งเสริมอย่างจริงจัง ซึ่งต้องเปลี่ยนทิศทางนโยบายและแนวคิด ต้องให้น้ำหนักพลังงานนี้ อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลจำกัดการซื้อและไม่คิดแก้ปัญหาการกินขาดหัวคิว ใบอนุญาตโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ เกือบ 2 ปีแล้วที่ทำให้เกิดภาวะชะงักทำให้ไม่มีการลงทุนด้านนี้ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ประเทศมีแหล่งผลิตวัตถุดิบการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ติดอันดับของโลกไม่น้อยกว่า 200ล้านตัน สามารถแปรรูปคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ 5แสนเมกกะวัตต์ เกือบ 20เท่าของการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน

เมื่อถามว่าการเก็บหัวคิวทำให้กระทบกับการลงทุน นายอลงกรณ์กล่าวว่า เรื่องโซล่าเซลล์มีการออกใบอนุญาตมาแล้ว เป็นชุดที่มีค่าแอดเดอร์หน่วยละ 8บาท แต่ปรากฏว่ามีการขอกันไปโดยที่ไม่ใช่เรียลเซ็กเตอร์ คือการเอาใบอนุญาตไว้ เอาโควต้าไว้แต่ไม่ได้ทำ ใครจะทำก็ต้องมาซื้อ ตอนนี้มีการโก่งราคาถึงเมกกะวัตต์ละ 12-15 ล้านบาท 10เมกกะวัตต์ก็เท่ากับ 120-150 ล้านบาท ไม่ทราบว่าใครจะลงทุนไหว ซึ่งขณะนี้ก็มีการพูดกันทั้งวงการว่ากระทรวงพลังงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม เล่นแง่แปรธาตุเรื่องนี้ โดยตนก็เสนอให้แก้ไขโดยการเปิดเสรี เช่นหากตอนนี้ค้างอีก 2,000 เมกกะวัตต์ที่เป็นใบอนุญาตค้างอยู่ ก็นำมาเปิดเสรีแล้วดูว่าจะขายได้หรือไม่ ใครจะมาซื้อใบละ 120-150 ล้านบาท ถ้ารัฐบาลมีความจริง ต้องการส่งเสริมจริงๆนั้น โดยไม่ต้องหากินเรื่องนี้ก็ให้เปิดเสรี ทั้งนี้ผู้ที่อยากลงทุนจริงๆ มีความพร้อมทั้งเงินลงทุน สถานที่ เทคโนโลยี ก็สามารถแสดงความต้องการได้ ส่วนพวกที่ถือใบอนุญาตไว้ก็เท่ากับว่าถือกระดาษไว้และเป็นการดัดสันดานพวกที่ขวางความเจริญของประเทศหากินกับเรื่องแบบนี้ อย่างไรก็ตามกลุ่มดังกล่าวคือ “กลุ่มที่ชอบตีเทนนิส” และดูแลกระทรวงพลังงานมาโดยตลอด

นายสนธยา คุณปลื้ม รับมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์ ได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณานำผ้าไทยมาใช้เป็นเครื่องแต่งกาย สำหรับรัฐมนตรีทุกกระทรวง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการประหยัดพลังงานของรัฐบาล โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการรวบรวมรูปแบบผ้าไทย ที่เหมาะสมกับการตัดเย็บของแต่ละท้องถิ่น มาออกแบบให้แต่ละรัฐมนตรีสวมใส่ พร้อมทั้งรณรงค์ให้มีการสวมใส่ทุกภาคส่วน

**โททาลแจ้งซ่อมแท่นก๊าซฯพม่าเสร็จ14เม.ย.

นายภาณุ สุทธิรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานจัดหาและตลาดก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.กล่าวว่า ล่าสุดโททาล ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการผลิตก๊าซยาดานา พม่า ได้แจ้งยืนยันว่าจะซ่อมฐานผลิตก๊าซที่ทรุดตัวเสร็จสิ้นตามแผน 14 เม.ย. แน่นอนดังนั้นการหยุดจ่ายก๊าซฯจึงจะไม่เกินไปจากกำหนดคือระหว่าง 5-14 เม.ย.นี้ ส่วนที่ยาดานาจะซ่อมฐานผลิตอีกรอบในเดือน พ.ค.57 นั้น ทาง
ปตท.ได้ขอเจรจาให้ซ่อมภายในช่วงสงกรานต์เนื่องจากจะเป็นช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ

ส่วนการเตรียมพร้อมด้านเชื้อเพลิงช่วง 5-14 เม. ย. นี้ ทาง ปตท.ได้สำรองน้ำมันให้เพียงพอทดแทนก๊าซพม่า รวมทั้งขอให้ผู้ผลิตก๊าซในประเทศและแหล่งเจดีเอ ผลิตก๊าซสูงสุดรวมทั้งนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามาเพิ่มขึ้นในเดือนเม.ย. โดยนำเข้า 2 ลำเรือ จากปกตินำเข้าเดือนละ 1 ลำเรือ ลำเรือละประมาณ 7 หมื่นตัน ทังนี้เพื่อให้มีก๊าซในปริมาณสูงสุด

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าแอลเอ็นจีขณะนี้มีราคาเพิ่มสูงมาก ราคา 18-19 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากราคาเฉลี่ยในไทยประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในขณะที่แอลเอ็นจีราคาเฉลี่ยปีที่แล้วอยูที่ 15ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยทั้งปีนี้ คาดจะนำเข้าไม่เกิน 2.4 ล้านตัน

***สศอ.เกาะติด3นิคมฯเสี่ยงรับมือไฟตก

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วง3นิคมฯที่อาจจะเสี่ยงปัญหาไฟฟ้าตกจากกรณีการหยุดจ่ายก๊าซฯที่พม่า 5-14 เม.ย. คือ นิคมฯบางชัน นิคมฯลาดกระบังและนิคมฯอัญธานี ที่อยู่ใกล้พื้นที่เสี่ยงต่อไฟตกดับในเขตลาดพร้าว รัชดา และบางกะปิเพราะจะมีแรงดันต่ำในขณะนั้น ซึ่งนิคมฯ 3แห่งจะมีโรงงาน 350 แห่ง ซึ่งพบว่า 6อุตฯอาจได้รับผลกระทบมากสุดเพราะใช้ไฟฟ้าสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ, เครื่องนุ่งห่ม, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, สิ่งพิมพ์, ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งในอาคาร ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด 42.7% หากเกิดปัญหาก็จะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ด้านนายกมล ตรรกบุตร นายกสมาคมวิศวกร กล่าวในงานเสวนาวิชาการ "ความพร้อมของไทยต่อสถานการณ์พลังงาน"ว่าไม่ห่วงเรื่องไฟฟ้าจะขาดในช่วงก๊าซพม่าหยุดส่ง 5-14 เม.ย. เนื่องจากในขณะนี้รัฐบาลเตรียมมาตรการต่างๆรองรับไว้แล้วทั้งซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่ม รณรงค์ประหยัดพลังงงาน รวมทั้งเห็นด้วยกับแนวคิดของรมว.พลังงาน ที่จะกระจายเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในอนาคตลดความเสี่ยง จากเดิมพึ่งพาก๊าซธรรมชาติถึง 70%เหลือ 45 %และผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และพลังน้ำเพิ่มขึ้น

แต่ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทันที เพราะขั้นตอนขณะนี้ ไทยได้แจ้งจะผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อองค์การพลังงานปรมณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ) ไปแล้ว ที่่ผ่านมาได้สำรวจความเห็นประชาชนร้อยละ 60 เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ แต่มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ต้องการเห็นการก่อสร้างในจังหวัดของตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น