xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพลชี้ ปชช.58% ระบุปัญหาไฟฟ้าดับสำคัญเร่งรัฐบาลป้องกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดุสิตโพลสำรวจความเห็นประชาชน พบส่วนใหญ่ 58% ระบุปัญหาไฟฟ้าดับหลังพม่าหยุดส่งก๊าซเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลควรเร่งหาทางป้องกัน 43% ค่อนข้างมั่นใจรัฐบาลรับมือได้ 46% ห่วงไฟฟ้าจะไม่พอใช้ในอนาคต


“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สอบถามความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,226 คน จากกรณีที่พม่าแจ้งหยุดส่งก๊าซธรรมชาติ ระหว่างวันที่ 4-12 เมษายนนี้ เพื่อซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติยาดานาที่มีปัญหาทรุดตัว ทำให้จำเป็นต้องปิดระบบก๊าซทั้งหมดเป็นผลให้หลายฝ่ายเริ่มวิตก หวั่นว่าไฟฟ้าในประเทศไทยจะดับทั้งประเทศ ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานก็ได้มีการเตรียมพร้อมและซ้อมแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน และขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันประหยัดไฟให้มากที่สุด

ผลสำรวจประชาชนคิดอย่างไร กรณีพม่าหยุดส่งก๊าซช่วง เม.ย. หวั่นไฟจะดับทั่วประเทศ

อันดับ 1 เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลควรเร่งหาทางป้องกัน จะต้องเตรียมความพร้อมและหามาตรการรองรับที่ชัดเจน 58.12 อันดับ 2 ถ้าไฟดับจริงกลัวว่าจะเกิดความวุ่นวาย ภาคธุรกิจต่างๆ และประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อน 27.52% อันดับ 3 อยากให้ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานของตนเองที่เพียงพอ ไม่ต้องพึ่งพาประเทศอื่น 14.36 %

ส่วนหากไฟฟ้าดับจริง ประชาชนมั่นใจมากน้อยเพียงใดว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมดูแลสถานการณ์ต่างๆ ได้อันดับ 1 ค่อนข้าง มั่นใจ 43.45 % เพราะ กระทรวงพลังงานเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีการเตรียมการและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้รัฐบาลน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ฯลฯ อันดับ 2 ไม่ค่อยมั่นใจ 36.86% เพราะประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้าปริมาณมากขึ้น เมื่อเกิดข้อผิดพลาดอาจควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ฯลฯ อันดับ 3 ไม่มั่นใจ 10.88% เพราะรัฐบาลไม่มีแผนรองรับที่ชัดเจน ทั้งกระทรวงพลังงาน กฟผ.ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน ฯลฯ อันดับ 4 มั่นใจมาก 8.81% เพราะเชื่อว่ารัฐบาลได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง ฯลฯ

สำหรับรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทุกคน ควรเตรียมพร้อมหรือมีวิธีการรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร รัฐบาล ควรเตรียมพร้อมหรือมีวิธีการรับมือดังนี้ คือ อันดับ 1 สั่งการลงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพื่อเตรียมรับมือและมีมาตรการป้องกันในเรื่องนี้โดยเร่งด่วน 51.40% อันดับ 2 รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดไฟ ประหยัดพลังงานตั้งแต่ตอนนี้ พร้อมแนะวิธีการรับมือกรณีไฟดับ ไฟตก 33.18% อันดับ 3 ติดตามข้อมูลข่าวสารจากประเทศพม่าอย่างต่อเนื่องและแจ้งให้ประชาชนได้ทราบอย่างทั่วถึง 15.42%

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเตรียมพร้อมหรือมีวิธีการรับมือดังนี้ คือ อันดับ 1 มีมาตรการรองรับหรือเตรียมหาพลังงานสำรองเพื่อมาทดแทนให้กับประชาชน 51.67% อันดับ 2 ให้ความรู้ คำแนะนำและแจ้งเตือนประชาชนให้ช่วยกันประหยัดไฟ/เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม 31.45% อันดับ 3 เฝ้าระวังและติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง รายงานผลให้กับรัฐบาลได้รู้ความคืบหน้าตลอดเวลา16.88%

ผู้ประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรม ควรเตรียมพร้อมหรือมีวิธีการรับมือดังนี้ คือ อันดับ 1 มีมาตรการรองรับหรือเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ แหล่งผลิตไฟฟ้าสำรอง การป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ ถ้าเกิดไฟดับ ไฟตกจริง/เข้มงวดเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย 53.98% อันดับ 2 ให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างจริงจัง ลดกำลังการผลิต ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการหยุดส่งก๊าซ 28.79% อันดับ 3 จัดเตรียมเวรยาม พนักงานหรือเจ้าหน้าที่อยู่ประจำการณ์ในช่วงที่ไฟฟ้าอาจจะดับลงได้ 17.23%

ประชาชนควรเตรียมพร้อมหรือมีวิธีการรับมือดังนี้ คือ อันดับ 1 ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป 53.83% อันดับ 2ทำตามคำแนะนำของภาครัฐ/เตรียมอาหารแห้ง ถังแก๊ส เทียน ตะเกียง ไฟฉาย ไว้ในยามฉุกเฉิน 26.63% อันดับ 3 ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ช่วยกันประหยัดไฟ ใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น 19.54%

ส่วนประชาชนคิดว่าพลังงานของไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร อันดับ 1 อาจไม่พอใช้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกไม่นานก็หมดไป 46.85% อันดับ 2 ควรหาพลังงานสำรองหรือพลังงานอื่นๆมาทดแทน 21.44% อันดับ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องรณรงค์ให้คนไทยทุกคนรู้จักการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด/ใช้เฉพาะที่จำเป็น 19.92% อันดับ 4 จะต้องมีการควบคุมการใช้ไฟฟ้าในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ 11.79%


กำลังโหลดความคิดเห็น