xs
xsm
sm
md
lg

ภาคปชช.จี้"ปู-โอฬาร" ระงับเจรจาFTAยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 9.00 น. วานนี้ ( 28ก.พ. ) ที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WACTH) 28 องค์กร อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายสมัชชาคนจน และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ประมาณ 1,500 คน นำโดยน.ส.กรรณิการ์ กิตติเวชกุล แกนนำกลุ่ม รวมตัวเข้าร้องเรียนน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายโอฬาร ไชยประวัติ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอ ตามกำหนดการที่นายกฯและคณะ จะเดินไปกรุงบัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ในวันที่ 6-7 มี.ค. เพื่อเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทย และสหภาพยุโรป
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้พยายามให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อท้วงติงกับหน่วยรัฐบาลมาโดยตลอด ว่า การทำสัญญาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ไทยอาจจำต้องเจราในหลายประเด็น ที่ไม่เคยเจรจาเปิดเสรีมาก่อนในเอฟทีเอ อื่นๆ ทั้งมีประเด็นที่มีผลกระทบสูง อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองการลงทุนที่เปิดโอกาสให้ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ในการระงับข้อพิพาท ระหว่างรัฐและเอกชนและสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และดำเนินการตามขั้นตอนตามมาตรา 190
ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นการเตรียมเจรจา การร่างกรอบเจรจา และการพิจารณากรอบโดยรัฐมนตรีและรัฐสภา ล้วนมีข้อบกพร่องที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว และมีผลกระทบกับงบประมาณแผ่นดินมากว่าแสนล้านบาท ซึ่งถูกไม่ให้ความสำคัญ แต่กลับไปให้สิทธิพิเศษทางการค้าที่เป็นผลประโยชน์ระยะสั้น
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และนายโอฬาร ให้คำมั่นสัญญาประชาคม และมอบนโยบายจุดยืนที่ชัดเจนแก่คณะผู้เจรจา 5 ประการ คือ
1. ไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลทางยา มาตรการ ณ จุดผ่านแดน และไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมาย ระบบการคุ้มครองพันธุ์พืช ที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่
2. การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ในบทว่าด้วยการลงทุนต้องไม่มีผลให้มีการนำข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ การออกนโยบาย หรือมาตรการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้านสาธารณะสุข สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคงเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
3. ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตลอดการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
4. ถอนสินค้าเหล้าและบุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า
5. จัดหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วน ทั้งก่อนและหลังเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจารายงานความคืบหน้า พร้อมรับฟัง และดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล
กำลังโหลดความคิดเห็น