xs
xsm
sm
md
lg

อัดบัวแก้วมั่วหนังสือแจงเขาวิหาร แปลผิดบิดเบือน ปูดไทยส่อยอมเขมรตามศาลโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-“ซินหัว" ปูดผลเจรจาอาหารเที่ยงบนพระวิหาร ระหว่าง "อาโอ๋-เตียบันห์" เผยสองฝ่ายตกลงที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลโลก ด้านเจ้าตัวยันแค่กินข้าวเฉยๆ ไม่คุยเรื่องเขตแดน "มาร์ค"เตือน ระวังถูกเขมรตีกินอีก สว.อัดบัวแก้วสุดมั่ว ทำหนังสือแจง 50 ปี 50 ประเด็นเขาพระวิหาร ทั้งแปลผิด ทั้งบิดเบือน

วานนี้ (27 ก.พ.) สำนักข่าวซินหัว รายงานผลการเจรจาระหว่างพล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหมไทย และพล.อ. เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมกัมพูชา ขณะรับประทานอาหารร่วมกันในเขาพระวิหาร โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารกัมพูชาในพื้นที่เขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ร่วมประชุมว่า "รัฐมนตรีทั้งสองคนเน้นย้ำถึงข้อตกลงที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลโลก" ซึ่งกัมพูชากำลังยื่นคำร้องต่อศาลโลกให้วินิจฉัยพื้นที่รอบประสาทเขาพระวิหาร และศาลโลกกำลังจะมีคำวินิจฉัยภายในปีนี้

ขณะที่พล.อ.อ.สุกำพล ยืนยันร่วมกับ พล.อ.เตีย บันห์ ว่า ไทยและกัมพูชาพร้อมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลโลก

จากนั้น พล.อ.อ.สุกำพล ได้กล่าวถึงการร่วมรับประทานอาหาร กับพล.อ.เตีย บัญห์ ว่า เป็นการไปร่วมรับประทานอาหารกันเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะเสียเปรียบ เรื่องเขตแดนไม่มีการพูดกัน

ทั้งนี้ มีการคุยกันเรื่องป่าไม้ที่มีการลักลอบเข้ามาตัดไม้ ซึ่งได้บอกให้ทางกัมพูชาจัดการให้ และการดำเนินการเรื่อง MOU 43 ที่มีปัญหาอ้างสิทธิ์กันอยู่ ก็บอกให้ทำตามกติกาอย่างเคร่งครัด อย่าปล่อยให้คนเข้ามา ซึ่งทางกัมพูชาก็รับปากจะดูให้ ส่วนเรื่องเขาพระวิหาร ก็มี joint working group ทำงานอยู่ ก็ให้เป็นผู้ดำเนินการต่อไป และบอกทั้งสองฝ่ายต้องทำร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ไม่มีการคุยเรื่องประสาทเขาพระวิหารแต่อย่างใด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึงการพบกันระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพล เดินทางไปพบกับ พล.อ.เตีย บันห์ ที่เขาพระวิหารว่า ตนสนับสนุนการพูดคุยกันระหว่าง 2 ประเทศ แต่สิ่งที่หลายฝ่ายท้วงติง เพราะเป็นห่วง คือ ใครเป็นคนเชิญ และห่วงรูปแบบ และสถานที่พูดคุย เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้วในอดีต ในคดีเขาพระวิหาร ที่เวลาเราไปแล้วปรากฏว่าเขาแสดงตัวเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงไหนอย่างไร และบรรยากาศก็ชื่นมื่น ศาลโลกก็เอาไปเขียนว่าเรายอมรับความเป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งการพบกันครั้งนี้ ถ้าไปในพื้นที่ ซึ่งเราถือว่ายังเป็นของเราอยู่ แล้วเขาแสดงท่าทีเป็นเจ้าของแล้ว ควรจะหาวิธีการในการแสดงออก หรือบันทึกอะไรไว้บ้างหรือไม่ว่าเรายังยืนยันว่าตรงนั้นเป็นของเรา

“หวังว่าจะไม่มีการหยิบฉวยไปใช้เป็นเครื่องมืออะไร แต่ก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกัน ซึ่งยังพอมีทางแก้ แต่ว่าถ้าดื้อดึง ไม่ฟังใครกันเลย ก็เหมือนกับไม่ยอมมองให้เห็นถึงมุมมองที่จะต้องระมัดระวังในระหว่างที่คดีอยู่ที่ศาล”นายอภิสิทธิ์กล่าว

ที่รัฐสภา มีการจัดเสวนาเรื่อง “วันนั้น วันนี้ และวันหน้า : กรณีปราสาทพระวิหาร” โดยคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา มีผู้ร่วมเสวนา อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา นายสมปอง สุจริตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง เป็นต้น

นายสมปอง กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศจัดทำเอกสาร “50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบ กรณีปราสาทพระวิหาร” ว่า ได้มีการแปลคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) คลาดเคลื่อนจากต้นฉบับที่ตนได้แปลไว้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ในการต่อสู้คดี อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าหนังสือว่าด้วยข้อสงวนคัดค้านของไทย ที่ทำขึ้นภายหลังที่ศาลโลกพิพากษาแล้วว่า ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชานั้น ได้ขาดอายุความตามธรรมนูญศาลโลก ข้อ 61 ที่ระบุว่ามีอายุแค่เพียง 10 ปี แต่ตามข้อเท็จจริง ไทยได้ตั้งข้อสงวนว่าอาจกลับเข้าไปครอบครองปราสาทพระวิหารในวันข้างหน้า และหนังสือว่าด้วยข้อสงวนยังมีผลบังคับจนถึงปัจจุบันโดยไม่ได้มีการขาดอายุความ

"ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ พล.อ.อ.สุกำพล ที่ไปรับประทานอาหารกลางวันกับ พล.อ.เตีย บันห์ เพราะคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลโลก อีกทั้งเป็นการเสียมารยาท เปรียบเสมือนเป็นการหมิ่นประมาทศาล"

ด้านนายไพบูลย์ กล่าวว่า ไทยได้ดำเนินการตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อที่ 94 ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลก จนได้รับคำชมเชยจากรองประธานศาลโลกว่าไทยดำเนินการครบถ้วน แต่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้หยิบยกข้อมูลดังกล่าวมาเป็นประเด็นต่อสู้ดำเนินคดี เพราะกระทรวงต่างประเทศได้มีการวิเคราะห์แนวคำตัดสินของศาลโลกไว้ 4 ทาง ได้แก่ 1.ไม่รับตีความ 2.เป็นไปตามมติค.ร.ม. เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2505 3.ให้ยึดตามแผนที่ 1 : 200000 และ4.คำวินิจฉัยออกมากลางๆ เพื่อไม่ให้ทั้งสองประเทศปะทะกัน

"อยากให้ทุกคนไม่นิ่งเฉย ให้ดำเนินการอย่างไรก็ได้ หากคำวินิจฉัยเป็นไปตามข้อ 3 จะต้องเกิดสงครามชายแดนอย่างแน่นอน นอกจากนี้ หากไทยไม่ช่วยกัน ก็จะเสียดินแดนไปเรื่อยๆ รามไปถึงพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ อยากเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามคดีปราสาทพระวิหาร"

ส่วนนายสุวันชัยกล่าวว่า หากศาลโลกรับตีความคำพิพากษา ศาลน่าจะตีความในความเห็นต่างกันในแนวทางที่ 1 และ2 ส่วนแนวทางที่ 3 ศาลไม่น่าจะตีความให้ เนื่องจากศาลเคยปฏิเสธมีคำพิพากษาในเรื่องดังกล่าวเมื่อปี 2505 อีกทั้งการตีความไม่สามารถกระทำเกินขอบเขตของคำพิพากษาเดิมได้ นอกจากนี้ การที่กัมพูชาร้องขอให้ศาลย้อนกลับไปตีความคำพิพากษาโดยขอให้ศาลตัดสินว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารบนอาณาเขตของกัมพูชา เป็นไปตามเส้นเขตแดนที่ปรากฎในแผนที่ 1:200000 นั้น ไม่ใช่เป็นการขอตีความคำพิพากษา หากแต่เป็นการขอทบทวนคำพิพากษา ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเลย 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาดังบัญญัติในธรรมนูญศาลโลกข้อ 61 วรรคห้า

อย่างไรก็ตาม หากศาลโลกมีคำพิพากษาแล้ว ไทยมีความเห็นว่าจะไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งตามธรรมนูญศาลโลก ศาลโลกไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับคดีให้คู่ความปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก แต่ตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 94 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ปฏิบัตตามข้อผูกพันซึ่งตกแก่ตนตามคำพิพากษาของศาลโลก คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้คณะรัฐมนตรีความมั่นคง (UNSC) ซึ่งถ้าเห็นว่าจำเป็นก็อาจให้คำแนะนำหรือวินิจฉัยมีมาตรการที่ทำให้เกิดผลตามคำพิพากษานั้น ซึ่งหมายความว่าประเทศกัมพูชาอาจร้องต่อ UNSC ได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากัมพูชา ไม่เคยร้องต่อ UNSC แสดงว่ายอมรับว่าไทยทำตามคำพิพากษาศาลโลกแล้วใช่หรือไม่

ทั้งนี้ การร้องให้ UNSC มีคำสั่งบังคับ ผลการลงมติจะต้องได้ทั้งหมด 9 เสียง จากเสียงสมาชิก 15 ประเทศ โดยภายใน 5 เสียง จะต้องประกอบด้วยเสียงของประเทศสมาชิกถาวรทั้ง5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย หากขาดเสียงหนึ่งเสียงใดไปคำร้องใดๆ ถือเป็นอันตกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนท้าย นายสุวันชัย กล่าวถึงความผิดพลาดของเอกสาร “50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบ กรณีปราสาทพระวิหาร” เรื่องคำนิยามของคำว่า “สันปันน้ำ” ที่ให้ความหมายว่า คือ แนวสันต่อเนื่องในภูมิประเทศ เมื่อฝนตกจะแบ่งน้ำนั้นเป็นสองส่วน ซึ่งอาจไม่ใช่สันเขาหรือขอบหน้าผาก็ได้ และตรงบริเวณปราสาทพระวิหาร จนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริง ซึ่งผิดจากรายงานของพันเอก มองกิเอร์ ประธานฝ่ายฝรั่งเศสของคณะกรรมการปักปันชุดที่ 2 ที่ระบุว่า สันปันน้ำที่เขาพนมดงรัก อยู่ที่เส้นขอบหน้าผา ซึ่งแสดงว่ามีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น