xs
xsm
sm
md
lg

“สมปอง” ชี้ กต.แปลคำพิพากษาศาลโลกบิดเบือน ตำหนิ “บิ๊กโอ๋” กินข้าว “เตีย บัญ” เสียมารยาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมปอง สุจริตกุล (ภาพจากแฟ้ม)
เวทีเสวนาปราสาทพระวิหารชำแหละเอกสาร กต.บิดเบือน “ดร.สมปอง” ชี้แปลคำพิพากษาศาลโลกคลาดเคลื่อน ตำหนิ “สุกำพล” กินข้าว “เตีย บัญ” เสียมารยาท หมิ่นประมาทศาล “ส.ว.ไพบูลย์” หวั่นหากยึดแผนที่ 1 ต่อ 200,000 เกิดสงครามชายแดน เตือนหากไม่ช่วยกันจะเสียดินแดนลุกลามถึงชายแดนใต้ เสนอตั้ง กมธ.วิสามัญติดตามคดีพระวิหาร



วันนี้ (27 ก.พ.) ที่รัฐสภา มีการจัดเสวนาเรื่อง “วันนั้น วันนี้ และวันหน้า : กรณีปราสาทพระวิหาร” โดยคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา มีผู้ร่วมเสวนา อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา, นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา, นายสมปอง สุจริตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง เป็นต้น

นายสมปองกล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศจัดทำเอกสาร “50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบ กรณีปราสาทพระวิหาร” ว่า ได้มีการแปลคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) คลาดเคลื่อนจากต้นฉบับที่ตนได้แปลไว้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ในการต่อสู้คดี อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าหนังสือว่าด้วยข้อสงวนคัดค้านของไทย ที่ทำขึ้นภายหลังที่ศาลโลกพิพากษาแล้วว่าตัวปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชานั้น ได้ขาดอายุความตามธรรมนูญศาลโลก ข้อ 61 ที่ระบุว่ามีอายุแค่เพียง 10 ปี แต่ตามข้อเท็จจริงไทยได้ตั้งข้อสงวนว่าอาจกลับเข้าไปครอบครองปราสาทพระวิหารในวันข้างหน้า และหนังสือว่าด้วยข้อสงวนยังมีผลบังคับจนถึงปัจจุบันโดยไม่ได้มีการขาดอายุความ

นายสมปองกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ที่ไปรับประทานอาหารกลางวันกับ พล.อ.เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมประเทศกัมพูชา เพราะคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลโลก อีกทั้งเป็นการเสียมารยาท เปรียบเสมือนเป็นการหมิ่นประมาทศาล

นายไพบูลย์กล่าวว่า ไทยได้ดำเนินการตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อที่ 94 ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลก จนได้รับคำชมเชยจากรองประธานศาลโลกว่าไทยดำเนินการครบถ้วน แต่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้หยิบยกข้อมูลดังกล่าวมาเป็นประเด็นต่อสู้ดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศได้มีการวิเคราะห์แนวคำตัดสินของศาลโลกไว้ 4 ทาง ได้แก่ 1. ไม่รับตีความ 2. เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505 3. ให้ยึดตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ตร.กม. และ 4. คำวินิจฉัยออกมากลางๆ เพื่อไม่ให้ทั้งสองประเทศปะทะกัน ดังนั้นอยากให้ทุกคนไม่นิ่งเฉยให้ดำเนินการอย่างไรก็ได้ ว่าถ้าหากคำวินิจฉัยเป็นไปตามข้อ 3 จะต้องเกิดสงครามชายแดนอย่างแน่นอน นอกจากนี้ หากไทยไม่ช่วยกันก็จะเสียดินแดนไปเรื่อยๆ ลามไปถึงพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ อยากเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามคดีปราสาทพระวิหาร

ด้านนายสุวันชัยกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้คาดคะเนผลการพิจารณาตีความคำพิพากษาของศาลโดยมีความเป็นไปได้ในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ใน 4 แนวทาง ได้แก่ 1. ศาลโลกตัดสินว่ากัมพูชาไม่มีอำนาฟ้อง และศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณา พร้อมจำหน่ายคดี 2. ศาลโลกรับตีความคำพิพากษาโดยกำหนด ขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร เป็นไปตามเขตที่กั้นรั้วลวดหนามตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505 3. ศาลโลกรับตีความคำพิพากษาโดยกำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารเป็นไปตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ตร.กม. และ 4. ศาลโลกรับตีความคำพิพากษาโดยกำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามแนวทางอื่นที่ศาลโลกเห็นว่าสมควร

นายสุวันชัยกล่าวอีกว่า หากศาลโลกรับตีความคำพิพากษา ศาลน่าจะตีความในความเห็นต่างกันในประการที่ 1 และ 2 ส่วนประการที่ 3 ศาลไม่น่าจะตีความให้เนื่องจากศาลเคยปฏิเสธมีคำพิพากษาในเรื่องดังกล่าวเมื่อปี 2505 อีกทั้งการตีความไม่สามารถกระทำเกินขอบเขตของคำพิพากษาเดิมได้ นอกจากนี้ การที่กัมพูชาร้องขอให้ศาลย้อนกลับไปตีความคำพิพากษาโดยขอให้ศาลตัดสินว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารบนอาณาเขตของกัมพูชา เป็นไปตามเส้นเขตแดนที่ปรากฎในแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ตร.กม.นั้น ไม่ใช่เป็นการขอตีความคำพิพากษา หากแต่เป็นการขอทบทวนคำพิพากษาซึ่งไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากเลย 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาดังบัญญัติในธรรมนูญศาลโลกข้อ 61 วรรคห้า

นายสุวันชัยกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หากศาลโลกมีคำพิพากษาแล้วไทยมีความเห็นว่าจะไม่ปฏิบัติตามตามธรรมนูญศาลโลกแล้ว ศาลโลกไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับคดีให้คู่ความปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก แต่ตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 94 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ปฏิบัตตามข้อผูกพันซึ่งตกแก่ตนตามคำพิพากษาของศาลโลก คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้คณะรัฐมนตรีความมั่นคง (UNSC) ซึ่งถ้าเห็นว่าจำเป็นก็อาจให้คำแนะนำ หรือวินิจฉัยมีมาตรการที่ทำให้เกิดผลตามคำพิพากษานั้น” ซึ่งหมายความว่า ประเทศกัมพูชาอาจร้องต่อ UNSC ได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากัมพูชา ไม่เคยร้องต่อ UNSC แสดงว่ายอมรับว่าไทยทำตามคำพิพากษาศาลโลกแล้วใช่หรือไม่

นายสุวันชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า การร้องให้ UNSC มีคำสั่งบังคับผลการลงมติจะต้องได้ทั้งหมด 9 เสียง จากเสียงสมาชิก 15 ประเทศ โดยภายใน 5 เสียง จะต้องประกอบด้วยเสียงของประเทศสมาชิกถาวรทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย หากขาดเสียงหนึ่งเสียงใดไปคำร้องใดๆ ถือเป็นอันตกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนท้าย นายสุวันชัยกล่าวถึงความผิดพลาดของเอกสาร “50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบ กรณีปราสาทพระวิหาร” เรื่องคำนิยามของคำว่า “สันปันน้ำ” ที่ให้ความหมายว่า คือ แนวสันต่อเนื่องในภูมิประเทศ เมื่อฝนตกจะแบ่งน้ำนั้นเป็นสองส่วน ซึ่งอาจไม่ใช่สันเขาหรือขอบหน้าผาก็ได้ และตรงบริเวณปราสาทพระวิหาร จนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริง ซึ่งผิดจากรายงานของ พ.อ.มองกิเอร์ ประธานฝ่ายฝรั่งเศสของคณะกรรมการปักปันชุดที่ 2 ที่ระบุว่า สันปันน้ำที่เขาพนมดงรัก อยู่ที่เส้นขอบหน้าผา ซึ่งแสดงว่ามีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น