xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.แนะร้องผู้ตรวจฯ ฟัน กต.แพร่เอกสารเข้าทางเขมร - จี้รัฐเคลียร์ค้ำประกันจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง(แฟ้มภาพ)
ส.ว.ระยองเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสู้คดีพระวิหารต้องรัดกุมเรื่องอธิปไตย เหตุ กม.ชี้ชัดโทษมีแค่ประหาร-ติดคุกตลอดชีวิต ชี้ช่อง ปชช.ร้องผู้ตรวจฯ จัดการผู้เกี่ยวข้อง กต.แพร่เอกสารทำไทยเสี่ยงเสียเปรียบเขมร “คำนูณ” จี้รัฐแจงเงินค้ำประกันจำนำข้าว 55-56 จัดการยังไงหลังขาด 9 หมื่นล้าน หลังปล่อยข่าวสับสน เตือนมีผลกระทบทั้งสองด้าน บี้แจงบัญชีจำนำข้าวปีที่ผ่านมา และพาณิชย์ระบายข้าวครบหรือไม่

วันนี้ (18 ก.พ.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่การพิจารณาระเบียบวาระ ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้หารือ โดยนายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง กล่าวถึงกรณีคดีปราสาทพระวิหารว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำการใดๆ ให้ราชอาณาจักร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ในอำนาจอธิปไตยต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น เรื่องพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) กำลังจะมีการตัดสินในปลายปีนี้นั้น การเคลื่อนไหวใดๆ ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ฝ่ายความมั่นคง ต้องระมัดระวังและรอบคอบรัดกุมเป็นพิเศษ เพราะกฎหมายได้กำหนดโทษไว้เพียง 2 สถานเท่านั้น

นายสายกล่าวว่า กต.เผยแพร่เอกสาร “50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบ กรณีปราสาทพระวิหาร” ซึ่งมีหลายฝ่ายออกมาทักท้วง ไม่ว่าจะเป็นนายสมปอง สุจริตกุล อดีตทนายความผู้ประสานงานคดีปราสาทพระวิหาร หรือนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ว่าจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบหรือไม่ในการต่อสู้คดี ดังนั้น ตนก็อยากจะฝากว่า ประชาชนผู้มีสิทธิป้องกันประเทศสามารถจะร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้พิจารณาว่าเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดความเสียหาย

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอหารือไปยังรัฐบาลช่วยชี้แจงรายละเอียดโครงการรับจำนำข้าวในฤดูกาลผลิตปี 55-56 จากเดิมฤดูกาลผลิตนาปี ปี 55-56 ใช้เงินทั้งสิ้นตามแผน 2.4 แสนล้านบาท คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดวงเงินค้ำประกันเงินกู้และหรือให้กู้ต่อตาม พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ มาตรา 25 และมาตรา 28 แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพียง 1.5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นจำนวน 9 หมื่นล้านบาทให้ใช้จากสภาพคล่องส่วนเกินจากเงินของ ธ.ก.ส.เอง หรือให้ระดมจากตลาดเงินเอง

นายคำนูณกล่าวว่า ต้นเดือน ม.ค.56 ธ.ก.ส.แถลงว่าจะขอ ครม.เพิ่มวงเงินค้ำประกันกู้ต่ออีก 7 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 2.2 แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่า รมว.คลังให้สัมภาษณ์ในเชิงไม่เห็นด้วย ล่าสุดมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่ากระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.เพิ่มวงเงินรับจำนำข้าวจากสภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส.อีก 6 หมื่นล้านบาท จากเดิม 9 หมื่นล้านบาท หนังสือพิมพ์พาดหัวในเชิงว่า บีบ ธ.ก.ส.หาเงินเพิ่ม 6 หมื่นล้าน ดังนั้น ตนจึงอยากถามว่าตกลงจะเอาอย่างไร จะเป็นการเพิ่มวงเงินให้กู้ต่อตามมาตรา 25 และมาตรา 28 อีก 7 หมื่นล้านบาท ตามที่มีข่าวว่าพรุ่งนี้ ครม.จะอนุมัติแผนก่อหนี้สาธารณะประจำปีปรับแผน หรือว่าจะเป็นการเพิ่มวงเงินจากสภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส.เองอีก 6 หมื่นล้านบาท

นายคำนูณกล่าวอีกว่า แต่ละทางมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เพราะหากเป็นการเพิ่มวงเงินค้ำประกันแล้วให้กู้ต่อ รัฐบาลต้องตอบว่าเงินที่รัฐวิสาหกิจอื่นจะใช้จะเสียหายไปหรือไม่ และเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะมากเกินไปหรือไม่ แต่หากเป็นการให้ใช้จากสภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส. ก็จะต้องตอบว่าจะกระทบต่อผู้ฝากเงินและลูกค้าของ ธ.ก.ส.ในส่วนอื่นหรือไม่ สุดท้ายขอให้รัฐบาลแถลงผลการปิดบัญชีของโครงการรับจำนำข้าวประจำฤดูการก่อน ที่มีกำหนดในเดือน ก.พ.นี้ อีกประการคือ ให้แถลงว่ากระทรวงพาณิชย์ส่งเงินระบายข้าวให้ ธ.ก.ส.ครบถ้วนหรือไม่ ขาดเท่าไหร่ มีผลกระทบอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น