xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรพันธสัญญา : พันธนาการที่สร้างหนี้ให้เกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: ศรีสุวรรณ จรรยา


โดย...ศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมการจัดการสิ่งแวดล้อมนิด้า
www.thaisgwa.com

นับแต่มนุษย์เริ่มมีการปฏิวัติเกษตรกรรมเรื่อยมาจนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และยุคข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีในปัจจุบัน สังคมไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามความทันสมัยและความกินดีอยู่ดีไปได้ เพราะกำลังผลิตส่วนใหญ่ของประเทศ คือ เกษตรกรยังไม่สามารถลืมตาอ้าปาก ขาดการเหลียวแลอย่างจริงจัง แต่กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมืองและกลุ่มนายทุน ผู้อยู่เบื้องหลังนักการเมืองมาตลอดระยะเวลาที่เราอ้างว่ามีประชาธิปไตย

กลุ่มทุนการเมืองในขณะนี้ที่ดูจะเข้มแข็งและยิ่งใหญ่มากคงหนีไม่พ้น “กลุ่มบรรษัทธุรกิจการเกษตร” เพราะบรรษัทธุรกิจการเกษตรเหล่านี้ได้ร่วมมือกับภาครัฐสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จ โฆษณาประชาสัมพันธ์ บทบาทของตนในการหยิบยื่นขนมหวานอาบยาพิษที่เรียกว่า “ระบบเกษตรพันธสัญญา” หรือ “Contract Farming” ให้กับเกษตรกรทั้งหลาย โดยข้ออ้างเพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคง จะทำให้เกษตรกรรวยถ้วนหน้า

เมื่อเกษตรกรเข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจกับทางบริษัทแล้วจะมีการนำปัจจัยการผลิตมาให้ รวมถึงมีการรับซื้อผลผลิตคืน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการผลิต โดยข้อตกลงที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบสัญญา “ลายลักษณ์อักษร” และหรือ “สัญญาใจ” ไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่ความคาดหวังของเกษตรกรจะเป็นจริงอย่างที่บริษัทโฆษณาจริงกระนั้นหรือแทบไม่มีให้เห็น ทางกลับกันกลับทำให้เกษตรกรหลายร้อยหลายพันรายหมดเนื้อหมดตัว ติดหนี้ติดสินล้นพ้นตัว มีทรัพย์สินที่ดิน ที่ไร่ ที่นา ต้องถูกธนาคารสถาบันการเงินยึดถือครอบครองไปสิ้น บางรายทนไม่ได้ต้องฆ่าตัวตายหนี้ความอัปยศอดสูไปเสียจากโลกนี้ เพราะเคลิ้มหลงไปกลับคำหวานของบรรษัทธุรกิจการเกษตรเหล่านั้น

เกษตรกรที่มักตกหลุมพรางในธุรกิจ “เกษตรพันธสัญญา” คือ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ ผู้เลี้ยงหมู ผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ชาวไร่อ้อย ชาวไร่ข้าวโพด ฯลฯ ซึ่งจะพบว่าเกษตรกรในระบบพันธสัญญาส่วนใหญ่ในขณะนี้กำลังตกอยู่ในภาวะมีหนี้สินล้นตัว เครียดวิตกจริต อยากจะเลิกแต่เลิกไม่ได้ และตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง และไร้อำนาจในการต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ เนื่องจากเมื่อเข้าร่วมระบบพันธสัญญาแล้ว จะตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะจะออกจากระบบก็ยังมีหนี้สินค้างอยู่มากกับสถาบันการเงินและบริษัทคู่สัญญา แต่หากดำเนินการต่อก็จะเกิดหนี้สินใหม่พอกพูนขึ้นตลอดเวลา หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าเกษตรพันธสัญญาเป็นอย่างไร ทำไมจึงทำให้กลายเป็นหนี้สิน เสียไร่ เสียนา เสียที่ดินบ้านช่องไปได้ เหตุก็คือ การล่อใจในรายได้ที่คิดว่าจะได้มากมายเมื่อเข้าไปร่วมเป็นเกษตรกรในพันธสัญญากับบรรษัทธุรกิจการเกษตรเหล่านั้น เช่น การทำเกษตรพันธสัญญาในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ประกันราคาของบริษัทอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง ไปโฆษณาชวนเชื่อให้เกษตรกรชาวไร่ ชาวนา เปลี่ยนอาชีพมาเลี้ยงไก่ไข่ในโครงการดังกล่าว โดยเกษตรกรต้องไปแสวงหาแหล่งทุนหรือสถาบันการเงินมาลงทุนในการสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์การเลี้ยงเองทั้งหมด ตามมาตรฐานของบริษัท แต่บริษัทจะจัดส่งไก่ที่พร้อมจะไข่ในอายุไก่ 18 สัปดาห์มาให้เลี้ยง เมื่อถึงโรงเรือนและนำไก่ขึ้นเลี้ยงแล้วไก่จะให้ไข่ทันที

ตลอดระยะเวลาที่ไก่จะให้ไข่ 56 สัปดาห์ ราคาไข่ไก่จะรับซื้อในราคาประกันฟองละ 1.90 บาท ส่วนอาหารไก่บริษัทจะจัดมาบริการถึงที่ในราคา 10.50 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อไก่ปลดระวางแล้วก็จะรับซื้อไก่ในราคากิโลกรัมละ 22 บาท ตลอดระยะเวลาของการเลี้ยงไก่บริษัทจะส่งสัตวแพทย์หรือพนักงานส่งเสริมการเลี้ยงไปคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากเกษตรกรนำไก่มาเลี้ยง 10,000 ตัว (เลี้ยงยิ่งมากยิ่งได้มาก) ซึ่งจะได้เงินตอบแทนล่วงหน้าเดือนละ 30,000 บาททุกเดือนจนกระทั่งปลดไก่ลง และหลังจากนั้นประมาณ 7-15 วันบริษัทจะนำเงินที่เหลือทั้งหมดมามอบให้ทันที และเมื่อจะเลี้ยงไก่ในรุ่นต่อไปก็จะมีระยะเวลาพักเล้าเพียง 4 สัปดาห์เท่านั้น บริษัทก็จะนำไก่รุ่นใหม่เข้ามาให้เลี้ยงใหม่อย่างต่อเนื่องทันที

คำโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าวทำให้เกษตรกรเป็นจำนวนมากตกหลุมพรางไปเป็นจำนวนมาก เพราะเกษตรกรเห็นตัวเลขของรายได้ย่อมตาโต และไม่เฉลียวใจเลยว่า หากบริษัทเหล่านั้นไม่ปฏิบัติตามสัญญา เกษตรกรจะมีอำนาจใดไปต่อรองบริษัทได้ และผลก็คือขณะนี้เกษตรกรดังกล่าวกำลังเดือดร้อนกันถ้วนหน้า แทบจะทุกจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออก เพราะถึงคราวที่เกษตรกรลงทุนลงแรงเลี้ยงไก่ไข่ตามพันธสัญญาจริง การปฏิบัติตามสัญญาไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้

เรื่องนี้มีตัวแทนเกษตรกรมาร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่มี ดร.ปริญญา ศิริสารการ เป็นประธานฯ ซึ่งได้ส่งคณะทำงานลงไปตรวจสอบจึงพบว่า เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบพันธสัญญาเป็นจำนวนมาก เช่น นำไก่ที่ยังไม่พร้อมไข่มาให้เลี้ยงก่อน ทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารจากบริษัทมาเลี้ยงจำนวนมาก โดยที่ไม่มีผลผลิตไข่ไก่ออกมา หรือบางครั้งมีการนำเอาไก่ที่เป็นโรคไม่สมบูรณ์มาส่งให้เกษตรกรเลี้ยง หากเกษตรกรปฏิเสธไม่รับไก่ไว้เลี้ยงก็จะถูกยกเลิกสัญญา (แล้วใครจะกล้าปฏิเสธเพราะลงทุนทำโรงเรียนไปมหาศาลแล้ว) หรือปล่อยให้เล้าว่างไปโดยไม่มีไก่เลี้ยงไปนาน จนกว่าบริษัทจะอยากให้เลี้ยงจึงจะนำไก่มาให้ใหม่ หรือมีการขึ้นค่าอาหารโดยไม่เป็นไปตามสัญญา และหากมีกรณีโรคระบาด ไข้หวัดนก เกษตรกรก็จะถูกบังคับให้ต้องปรับปรุงโรงเรือนให้เป็นระบบปิด โดยต้องซื้ออุปกรณ์การเลี้ยงทุกอย่างมากจากบริษัทเท่านั้น หรือแม้แต่เกษตรกรอยากจะนำมูลไก่ไปทำแก๊สชีวภาพ เพื่อสร้างพลังงานนำกลับมาใช้ในโรงเรือนก็ต้องเป็นอุปกรณ์ของบริษัทในเครือมาสร้างเท่านั้น ห้ามนำระบบอื่นมาใช้ แม้จะเป็นระบบที่ลงทุนต่ำกว่าของบริษัทหลายเท่าก็ตาม

ปัญหาเหล่านี้กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่และลุกลามไปทั่วประเทศแล้ว โดยที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่กล้าพูดอะไรมาก เพราะกลุ่มบริษัทหรือบรรษัทธุรกิจทางการเกษตรเหล่านั้น เป็นบรรษัทที่ใหญ่โตระดับประเทศ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย

เกษตรกรต้องแบกรับ “ความเสี่ยง” อยู่ฝ่ายเดียว รัฐบาลกลับปล่อยให้บรรษัท “ลิดรอนสิทธิ” ด้วยระบบความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของความ “ไม่เป็นธรรม” เนื่องจากบรรษัทอยู่ในสถานะเหนือกว่าทั้ง ทุน ความรู้ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย ทำให้เกษตรกรไม่สามารถต่อรองได้ เนื่องจากอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว และรัฐก็มิได้เข้ามาแทรกแซงเพื่อสร้างความเป็นธรรม เยี่ยงนี้เกษตรกรจะเข้มแข็งเป็นกระดูกสันหลังของชาติได้อย่างไร...
กำลังโหลดความคิดเห็น