xs
xsm
sm
md
lg

โลภและอ่อนต่อโลก : เหยื่อของการถูกต้มตุ๋น

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

การหลอกลวง หรือที่เรียกเป็นภาษาพูดทั่วๆ ไปว่า การต้มตุ๋น เพื่อประสงค์ต่อทรัพย์สินหรือสิ่งอื่นใดซึ่งผู้ถูกต้มตุ๋นมีอยู่ และเป็นสิ่งที่ผู้ทำการต้มตุ๋นอยากได้ มิใช่เป็นสิ่งใหม่ในสังคมมนุษย์ปุถุชน แท้จริงแล้วพฤติกรรมที่ว่านี้ได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในโลกใบนี้มานานแล้ว จะเห็นได้จากข้อห้ามทางศาสนาทุกศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพียงแต่วิธีการหลอกลวงหรือต้มตุ๋นได้เปลี่ยนรูปแบบแตกต่างกันออกไปตามยุคสมัย และภาวะแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่สาเหตุให้ถูกต้มตุ๋นก็ยังคงเป็นเพราะความโลภ และอ่อนต่อโลกเหมือนเดิม

ในสังคมไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้มีรูปแบบของการหลอกลวงหลากหลายรูปแบบ แต่เท่าที่ผู้เขียนจำได้ และตกเป็นข่าวดังเห็นจะได้แก่การหลอกลวงในรูปแบบของการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น แชร์ลูกโซ่ และการขายสินค้าในรูปแบบของการหาสมาชิก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการหลอกลวงโดยมุ่งไปที่เหยื่ออันเป็นปัจเจกเป็นรายไป เช่น การตกทอง การแทงไพ่สามตัว ซึ่งพบเห็นบ่อยในงานวัดและบนรถไฟ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวข้างต้นแทบจะไม่ปรากฏ อาจเนื่องด้วยมีคนรู้ทัน และแบ่งปันประสบการณ์จึงทำให้นักหลอกลวงทำมาหากินไม่ได้แล้ว แต่นั่นมิได้หมายความว่าการหลอกลวงต้มตุ๋นจะหมดไปจากสังคมมนุษย์โดยสิ้นเชิง เพียงแต่มีการเปลี่ยนรูปแบบเท่านั้น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีข่าวการหลอกลวงต้มตุ๋นเกิดขึ้น และเป็นข่าวดังอีกครั้งเมื่อมีผู้ที่สั่งซื้อตุ๊กตาเฟอร์บี้หลายสิบคนได้สั่งซื้อตุ๊กตาทางอินเทอร์เน็ต โดยโอนเงินเข้าบัญชีผู้ขายก่อน แต่เมื่อถึงเวลาที่จะได้รับสินค้าปรากฏว่าไม่ได้รับ ครั้นถูกถามก็บ่ายเบี่ยงออกไปโดยอ้างเหตุต่างๆ นานา จนผู้สั่งซื้อแน่ใจว่าคงจะไม่ได้สินค้าจึงเข้าแจ้งความต่อตำรวจและร้องเรียนสื่อจึงเกิดเป็นข่าวขึ้นมา

ทำไมการต้มตุ๋นจึงเกิดขึ้นได้ง่าย และกลายเป็นช่องทางทำมาหากินของคนเลวที่ได้เงินมาง่ายๆ แต่กฎหมายป้องกันและปราบปรามได้ยาก

ก่อนที่จะตอบปัญหานี้ ขอให้ย้อนไปดูพฤติกรรมการหลอกลวงที่ง่ายที่สุด และไม่น่าจะมีคนในยุคที่ผู้คนมีการศึกษา และเข้าถึงข้อมูลได้ค่อนข้างทั่วถึง จากรูปแบบของการหลอกลวง และแนวทางในการป้องกันดังต่อไปนี้

1. แชร์น้ำมันแม่ชม้อย โดยมีรูปแบบการลงทุนในลักษณะการลงทุนซื้อน้ำมัน และแบ่งเงินปันผลในอัตราที่สูงประมาณร้อยละ 10 ต่อเดือน ปรากฏว่าได้มีลูกค้านำเงินมาลงทุนมากมาย และในระยะแรกๆ ทุกคนได้รับผลตอบแทนดี และตรงเวลา จึงมีการชักชวนกันลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่ครั้นนานเข้ามีปัญหาในการนำเงินมาจ่ายเมื่อคนใหม่เข้ามาลงทุนน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันต้องจ่ายเงินปันผลคนเก่าเท่าเดิมจึงเกิดเหตุการณ์ปั่นป่วนเมื่อลูกค้าไม่ได้เงินส่วนแบ่ง และกลายเป็นข่าวแพร่หลายออกไป และผู้ลงทุนแห่ไปขอถอนทุนแล้วไม่สามารถถอนได้จึงมีการแจ้งความดำเนินคดีเกิดขึ้น และสุดท้ายปรากฏว่าผู้ดำเนินกิจการแชร์คือ นางชม้อย ทิพย์โส ถูกดำเนินคดี และต้องโทษจำคุก

แต่อย่างไรก็ตาม แชร์ลูกโซ่ในลักษณะนี้ก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบและยังมีคนตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า และที่เป็นเช่นนี้น่าจะด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1.1 ผู้ที่ลงทุนในระยะแรกๆ ได้รับเงินปันผลดี และตรงเวลาจึงพากันชักชวนเพื่อนฝูงมาลงทุน ทำให้มีลูกค้ารายใหม่เข้ามามากพอที่จะนำเงินมาจ่ายรายเก่าในลักษณะงูกินหาง คือรายใหม่จ่ายรายเก่าไปเรื่อยๆ

1.2 ลูกค้ารายเดิมเมื่อได้เงินปันผลแล้วแทนที่จะนำมาเก็บออมหรือนำไปลงทุนในกิจการอื่น กลับนำเงินมาลงทุนเพิ่มสมทบเข้าไปเรื่อยๆ

จากการที่ลูกค้าเพิ่มขึ้นในสองลักษณะ คือ ลูกค้าใหม่ และลูกค้าเก่าลงทุนเพิ่มนี้เองทำให้วงเงินลงทุนดูเหมือนจะมากขึ้นในแง่ของตัวเลขการลงทุน แต่ถ้าดูเป็นเงินที่เหลืออยู่จะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะในวงเงินลงทุน 100 % จะจ่ายคืนผู้ลงทุนได้เพียง 10 เดือนถ้าให้ผลตอบแทนร้อยละ 10 ต่อเดือน ดังนั้น ถ้าในช่วง 10 เดือนไม่มีลูกค้าใหม่หรือคนเก่าไม่ลงทุนเพิ่มก็เกิดปรากฏการณ์เงินสดขาดมือ หรือขาดสภาพคล่องทันที และนี่เองคือจุดจบของแชร์ลูกโซ่

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ถ้าผู้ลงทุนมีตรรกะในการคิดว่า เมื่อธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงเช่นนี้ ทำไมผู้ประกอบการไม่ขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือถ้าไม่อยากกู้ก็สามารถระดมทุนจากเพื่อนฝูงญาติในวงแคบๆ มาลงทุน จะต้องเรียกทุนจากบุคคลทั่วไปทำไม เพียงแค่นี้ก็จะทำให้ได้แง่คิด และไม่กล้าลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ และจะช่วยให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการต้มตุ๋นได้

2. การหลอกลวงโดยมุ่งไปที่ปัจเจกบุคคลอันเป็นการต้มตุ๋นเฉพาะหน้าเป็นรายๆ ไปไม่หวังผลระยะยาว เช่น การตกทอง ซึ่งในยุคหนึ่งเกิดขึ้นอย่างดาษดื่น ผู้หลอกลวงด้วยวิธีนี้จะเลือกเหยื่อ และสถานที่ทำการเฉพาะหน้า คือ เมื่อเห็นเหยื่อมาคนเดียว และดูท่าทางไม่ทันคนหรือเป็นประเภทบ้านนอกเข้ากรุง ก็จะเดินตามและทำทองปลอมอาจจะเป็นสร้อยคอหรือแหวนหล่น และทำทีเป็นได้พบและเสนอแบ่งปันให้เหยื่ออ้างมาพบพร้อมกัน ครั้นเหยื่อแสดงท่าทีอยากได้ก็ทำทีเป็นแบ่งให้โดยขอให้เหยื่อจ่ายเงินค่าทองครึ่งหนึ่งของที่ได้พบ และเมื่อเหยื่อบอกไม่มีเงิน ก็เสนอให้นำเอาสร้อยคอของเหยื่อซึ่งเส้นเล็ก และมีน้ำหนักทองน้อยกว่ามาแลกกับเส้นใหญ่ที่ได้พบเป็นการแบ่งกัน เมื่อเหยื่อหลงกลก็จะได้ทองแท้ไป

จากพฤติกรรมที่ว่านี้ ถ้าเหยื่อเพียงได้คิดว่าทำไมเขาต้องแบ่งเรา และเรามีสิทธิ์อะไรจากเขาเพียงเดินมาพร้อมกัน รวมไปถึงมีคนโง่ที่ไหนจะเอาทองมีค่ามากกว่ามาแลกกับของที่มีค่าน้อยกว่าในเมื่อสิทธิ์เป็นของเขาในฐานะผู้พบ และถ้าเป็นคนที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย และมีศีลธรรมก็ต้องคิดว่าทำไมไม่นำของนี้ไปแจ้งความประกาศหาเจ้าของที่แท้จริง แทนที่จะนำมาแบ่งกันเพียงแค่นี้ ก็จะรอดจากการตกเป็นเหยื่อได้

ในทำนองเดียวกับลูกค้าที่สั่งซื้อตุ๊กตาเฟอร์บี้ ถ้าเพียงแค่คิดว่าเมื่อราคาท้องตลาดสูงกว่าทำไมผู้ขายจึงยอมขายในราคาถูกกว่าทั้งๆ ที่มีลูกค้ารออยู่ เพียงแค่นี้ก็รอดจากการตกเป็นเหยื่อแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น