xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หุ้นไทยแรงเกิน...ถึงเวลาพักฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ...จริงๆ สำหรับตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ปี 2555 มาจนถึง 2556 เพราะเพียงแค่เดือนแรกของปีอย่างมกราคม นักลงทุนต่างประเทศก็ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยไปแล้ว 15,037.03 ล้านบาท และมีผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนตามปริมาณเม็ดเงินที่ทะลักเข้ามาด้วย

ความกังวลที่เกิดขึ้น...ขณะนี้ คือความหวั่นวิตกจากผู้เชี่ยวชาญการลงทุนหลายฝ่ายที่ประเมินว่าหุ้นไทยตอนนี้ร้อนแรงเกินไป อีกทั้งยังปรับตัวขึ้นแรงในกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มหลัก...จนอาจนำไปสู่ฟองสบู่ในตลาดหุ้นไทย เมื่อดัชนีหลักทรัพย์ขึ้นมายืนเหนือ1,500 จุด ซึ่งเป็นนิวไฮในรอบ18ปี และแทบจะใกล้เคียงเป้าหมายทั้งปีของโบรกเกอร์แต่ละสำนัก

ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายหุ้นไทยเกิน6 หมื่นล้านบาทต่อวัน นั้นถือว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป และปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มหุ้นขนาดเล็ก ได้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลใจให้กับทางสมาคมโบรกเกอร์แม้ว่าจะเป็นพัฒนาการที่ทางสมาคมและตลาดหลักทรัพย์ต้องการให้เกิดขึ้น แต่เนื่องจากเกิดขึ้นเร็วและเป็นไปอย่างร้อนแรงเกินไป ทำให้มีการหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ในเรื่องที่จะให้โบรกเกอร์มีการพิจารณาการให้วงเงินซื้อขายกับลูกค้าในระดับเหมาะสม และเป็นไปด้วยความรอบคอบระมัดระวังมากขึ้นด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการให้วงเงินลูกค้ามากเกินไป เพราะหากเกิดความเสียหายอาจจะกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักทรัพย์ได้

ทั้งนี้...เรื่องดังกล่าว น่าจะพอสรุปถึงความร้อนแรงของตลาดหุ้นไทยได้ในระดับหนึ่ง ว่าความร้อนแรงที่ไปเกิดขึ้นในหุ้นขนาดเล็ก เป็นสิ่งที่น่าวิตกสำหรับผู้ควบคุม เมื่อมันเป็นการปรับตัวที่นอกเหนือปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งถูกตอกย้ำโดย จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ที่กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นมาเร็วนั้นถือว่ายังไม่เกิดเป็นฟองสบู่ เพราะมีปัจจัยพื้นฐานรองรับจากที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)Forword P/E ของตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ 14 เท่า ซึ่งแสดงว่ากำไรของบจ.เติบโต 14% ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม อาจเกิดฟองสบู่ในหุ้นขนาดกลางและเล็ก ที่ปัจจุบันมีการเก็งกำไรที่สูง ทำให้มีค่า P/E ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิน 40 เท่า โดยปัจจุบันมีจำนวน 70 ตัว จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯมีมาตรการดูแล หากหุ้นไหนมีการซื้อขายที่ร้อนแรงก็จะให้โบรกเกอร์ต้องดำเนินการให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนที่จะซื้อ (Cash Balance) โดยหุ้นที่ติด Cash Balance ทุกตัวนั้นลดความร้อนแรงในการซื้อขายลง

“หุ้นที่มีการซื้อขายร้อนแรงอยู่นั้นอยากให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อนที่จะเข้าลงทุนว่าสามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน และหากจะลงทุนในที่มีการซื้อขายแรงนั้นก็จะต้องใช้เงินสดในการลงทุน อย่ากู้เงินเพื่อนำมาซื้อหุ้นเพราะ หากเกิดผลเสียหายจะได้ไม่กระทบกับนักลงทุนและโบรกเกอร์และอุตสาหกรรม”

ล่าสุด ชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ก็ออกมาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ ด้วยคำยืนยันพร้อมข้อมูลว่า พฤติกรรมการเก็งกำไรหุ้นเกิดขึ้นจริง แต่เกิดขึ้นในกลุ่มหุ้น Non SET 100 มากกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้ทางผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะมีความกังวลว่านักลงทุนที่ไม่ชินกับการเก็งกำไรจะเกิดความเสียหายจากการลงทุนในตลาดหุ้น

“แม้จะมีหลายคนพูดว่าตลาดหุ้นไทยเกิดฟองสบู่ แต่ผมว่าไม่ใช่ เพราะระดับหนี้สินต่อทุนโดยรวม ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในปัจจุบันมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.1-1.2 เท่า ซึ่งก็อยู่ในระดับที่รับได้ ไม่เหมือนเมื่อปี 2540 ที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนสูงถึง 5 เท่า”

และเมื่อเป็นเช่นนั้น..แม้จะได้รับคำยืนยันจากผู้บริหารระดับสูง ว่าโอกาสที่จะเกิดวิกฤตในตลาดหุ้นไทยยังมีความเป็นไปได้น้อย ...แต่สิ่งต่อมาที่นักลงทุนต้องการรู้ คือทิศทางตลาดหุ้นไทยจากนี้ไปจะเป็นเช่นไร และควรจะปรับตัวอย่างไรเพื่อสร้างผลตอบแทนจากสถานการณ์ดังกล่าว

บล. ทรีนีตี้ ได้ออกมาคาดการณ์สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ว่า ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสพักฐานหลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ 1) อัตรา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่หากปรับตัวกระโดดสูงขึ้นจะทำให้นักลงทุนขาดทุนในพันธบัตรจนต้องขายหุ้นเพื่อนำไปชดเชยผลขาดทุน (Cover Loss) 2) การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลี ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่อาจตัดสินใจไม่ดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดตามที่เคยตกลงไว้กับ Troika 3) กระบวนการตัดการใช้จ่ายอัตโนมัติของสหรัฐฯ (Sequestration) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม อาจส่งผลกระทบเชิงลบกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ และ 4) มาตรการชะลอความร้อนแรงของ Fund flow ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท

วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าปัจจัยต่างประเทศดังกล่าวอาจจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสพักฐาน แต่ยังคงมีปัจจัยบวกที่อาจทำให้ตลาดหุ้นไทยสามารถไปต่อได้เช่นกัน ซึ่งได้แก่ การทำ USD และ JPY carry trade เข้าสู่ตราสารทุนของประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทย และสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ยังคงเอ่อล้นจากการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) พร้อมกันของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลก

“เรามองว่าหุ้นที่จะ Outperform ตลาด ได้แก่หุ้นที่ยังคงปรับตัวขึ้นไม่มาก (Laggard) รวมไปถึงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานประเทศ หุ้นที่แนะนำสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ 1) หุ้นกลุ่มสื่อสาร ได้แก่ THCOM 2) หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ได้แก่ CK, PLE, NWR 3) หุ้นที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ BTS 4) หุ้นที่มีผลกำไรโดดเด่นและไม่ผันผวนตามตลาดมากนัก ได้แก่ PJW, RS, FPI, PRIN, SINGER”

ขณะเดียวกัน แนะนำให้นักลงทุนลดพอร์ตการลงทุนในหุ้นลงเล็กน้อยจากเดือนมกราคม โดยแบ่งพอร์ตการลงทุนเป็น 3 ประเภท ระยะเวลาการลงทุน 1 เดือน ดังนี้ 1. พอร์ตการลงทุนอนุรักษนิยม แนะนำให้นักลงทุนถือเงินสด 30% ลงทุนในหุ้น 30% ลงทุนในตราสารหนี้ 30% และลงทุนในทองคำ 5% 2. พอร์ตการลงทุนเชิงรุก แนะนำให้นักลงทุนถือเงินสด 10% ลงทุนในหุ้น 50% ลงทุนในตราสารหนี้ 25% และลงทุนในทองคำ 15 และ 3. พอร์ตการลงทุนแบบผสม แนะนำให้นักลงทุนถือเงินสด 20% ลงทุนในหุ้น 40% ลงทุนในตราสารหนี้ 30% และลงทุนในทองคำ 10%

ท้ายสุด...ดัชนีจะเคลื่อนไหวไปตามคาดการณ์หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบที่เป็นบทสรุปชี้ชัด ...แต่ความไม่ประมาท และเชื่อในคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญ ..ก็ไม่มีอะไรเสียหาย...และอาจจะช่วยให้เจ็บตัวน้อยที่สุด!!!



กำลังโหลดความคิดเห็น