xs
xsm
sm
md
lg

ตุ่นชาวบ้านกู้100ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลำปาง - เปิดใจเหยื่อผู้บริหารแบงก์ออมสิน ตุ๋นเซ็นกู้เงินซื้อบ้าน สุดท้ายมีแต่เสากับคานคอนกรีต พร้อมหนี้ก้อนโต และคำสั่ง "ล้มละลาย" ให้ดูต่างหน้า คาดเสียหายนับร้อยล้าน โดยที่ไม่เห็นเงินแม้แต่บาทเดียว พิรุธต้นสังกัดสั่งลงโทษ แต่ยังฟ้องลูกหนี้ซ้ำ

วานนี้(27 ม.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.ลำปางว่า จากกรณีมีผู้เสียหาย 11 ราย จาก 44 ราย เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมือง จ.ลำปาง ให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน 5 คน ประกอบด้วย นางเอื้ออารีย์ ชุตินทราศรี อดีตผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาตรอน จ.อุตรดิตถ์ นายวิเชียร ขลุ่ยทอง นางนิตยา มัชฌิมา นายพิชิต ธรรมวิภาค และว่าที่ร.อ.ภาคภูมิ กุญชร ในข้อฉ้อโกง หลังผู้เสียหายทั้งหมดตกเป็นลูกหนี้ โดยที่ไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว ทั้งยังถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย และเรียกใช้ชดใช้เงินกู้ยืมที่ค้างชำระ ซึ่งคาดว่ามียอดรวมกว่า 100 ล้านบาท

ซึ่งขณะนี้ลูกหนี้บางคนถึงกับสิ้นหวัง เพราะตั้งใจจะสร้างบ้านให้ตนเองและครอบครัวได้อยู่อาศัยหลังเกษียณอายุราชการ แต่สุดท้ายได้เพียงเสากับคานคอนกรีต พ่วงด้วยหนี้สินก้อนโตที่ถูกเรียกเก็บ และต้องถูกหักเงินจากบัญชีเงินเดือนทุกเดือนเมื่อถูกศาลพิพากษาล้มละลาย

นายพินิจ รื่นเริง อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 266/467 หมู่ 15 ต.พิชัย อ.มือง จ.ลำปาง ซึ่งตกเป็นลูกหนี้ของธนาคารเป็นเงิน 850,000 บาท เปิดเผยถึงขบวนการดังกล่าว ว่าเมื่อปี 2546 นางเอื้ออารีย์ ชุตินทราศรี ตำแหน่งเดิม คือ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาตรอน จ.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วยนายคมกริช กาศลังการ พนักงานปฏิบัติการ 5 ได้มาติดต่อเรื่องการขอสินเชื่อเคหะของธนาคาร และให้ตนเซ็นเอกสาร โดยระบุเพียงว่าจะนำไปตรวจสอบก่อนว่าผ่านเกณฑ์การพิจารณาเงินกู้หรือไม่ พร้อมกับขอเอกสารสำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านไปด้วย

เวลาผ่านไปกว่า 2 เดือนตนอยากรู้ความคืบหน้า จึงประสานไปยังธนาคารออมสิน สาขาลำปาง ปรากฏว่าไม่มีข้อมูลการยื่นกู้แต่อย่างใด จึงได้ตรวจสอบข้อมูลการกู้เงินภายในประเทศ พบว่าตนเองและพรรคพวกอีกจำนวนหนึ่ง มีข้อมูลเป็นลูกหนี้ธนาคารออมสิน สาขาตรอน โดยจำนวนเงินกู้มากบ้างน้อยบ้างไม่ โดยของตนมีหนี้รวม 850,000 บาท ต่อมาในเดือนกันยายน 2554 ได้มีหนังสือทวงหนี้จากธนาคารออมสิน ให้ชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย จากนั้นได้ถูกธนาคารฟ้องร้องให้ชำระหนี้ ทั้งที่ตนไม่เคยได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว แต่ขณะนั้นไม่มีหลักฐานต่อสู้ในชั้นศาล จนต่อมาถูกฟ้องล้มละลายอยู่ในตอนนี้

ด้านนายคมกริช กำทอง อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 46/3 ถนนกำแพงเมือง ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง หนึ่งในผู้เสียหาย ซึ่งตกเป็นลูกหนี้ วงเงิน 900,000 บาท กล่าวว่า ได้ตกลงซื้อที่ดินพร้อมบ้านกับเจ้าของโครงการเจนแอนจอย หรือสันติสุข หมู่ 15 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง วงเงิน 1.6 ล้านบาท แต่เจ้าของโครงการให้เซ็นเอกสารการซื้อขายที่ดิน พร้อมนำสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านไปให้ที่สำนักงานที่ดินเท่านั้น หลังจากนั้นก็ไม่ทราบเรื่องอีกเลย

จนกระทั่งธนาคารแจ้งให้ทราบว่าเป็นหนี้อยู่ 900,000 บาท ขณะที่บ้านซึ่งเจ้าของโครงการต้องสร้างให้ตามสัญญานั้น หากเจ้าของโครงการได้รับเงินมากกว่า 50% ของเงินกู้ ก็ควรจะสร้างบ้านได้แล้วกว่า 50% แต่ขณะนี้กลับมีเพียงเสากับคานคอนกรีต ขณะที่ตนต้องตกเป็นลูกหนี้ของธนาคาร โดยที่เจ้าของโครงการรับเงินจำนวนดังกล่าวไปทั้งหมด

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวมีผู้ตกเป็นเหยื่อ 44 ราย แจ้งความร้องทุกข์วันที่ 22-23 มกราคมที่ผ่านมารวม 11 ราย เป็นชาวจ.ลำปาง 10 ราย ประกอบด้วย 1.นายพินิจ รื่นเริง อายุ 50 ปี 2.นายกษิดิ์เดช สนธิรัตน์ อายุ 47 ปี 3.นายธานินท์รัตน์ เทวาณา อายุ 34 ปี 4.นายวันชัย ล่ำลือ อายุ 51 ปี 5.นายธีรพล ภู่ขาว อายุ 43 ปี 6.นายเชิดศักดิ์ สิมะโชคชัย อายุ 50 ปี 7.นายคมกริช กำทอง อายุ 44 ปี 8.นางอรพิน ใจแก้ว อายุ 54 ปี 9.นางมาลี จันติมา อายุ 44 ปี 10.นายศรีนวล แก้วค้าง อายุ 56 ปี ชาวจ.อุตรดิตถ์ 1 คน คือ นายจักรพงศ์ ประสารศรี อายุ 55 ปี ความเสียหายรวมกว่า 20 ล้านบาท

สำหรับพฤติการณ์ของคดีเป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือ นางเอื้ออารีย์มาชักชวนให้ทำสัญญาซื้อบ้านพร้อมอยู่ หมู่บ้านเจแอนจอย หรือสันติสุข หมู่ 15 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง โดยจะมีเงินเหลือใช้คนละ 2-3 แสนบาท ต่อมานัดหมายให้ไปพบที่สำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง โดยให้เซ็นเอกสารไว้ล่วงหน้าทั้งที่ไม่มีรายละเอียด ระบุเพียงว่าจะนำไปตรวจสอบก่อนว่าผ่านเกณฑ์การพิจารณาเงินกู้หรือไม่ พร้อมกับขอเอกสารสำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านไปด้วย

แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไป 2 เดือน เหยื่อทั้ง 11 รายเข้าใจว่าไม่ผ่านการพิจารณาเงินกู้ จึงได้ตรวจสอบกับธนาคารออมสินภายในจ.ลำปาง ปรากฏว่าไม่พบเรื่องการตรวจสอบเอกสาร หรือการยื่นกู้เงินของเหยื่อ จึงได้ตรวจสอบข้อมูลการกู้เงินภายในประเทศ พบว่ามีข้อมูลปรากฏที่ธนาคารออมสิน สาขาตรอน จ.อุตรดิตถ์ ระบุว่าแต่ละคนได้รับเงินจากธนาคารออมสิน สาขาอ.ตรอน ไปคนละ 9 แสนถึง 2.8 ล้านบาท ทั้งที่แต่ละคนไม่เคยได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว

ต่อมา วันที่ 24 มกราคม นายวุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ส่งหนังสือชี้แจงมายังกองบรรณาธิการ ASTVผู้จัดการรายวัน ว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร โดยนางเอื้ออารีย์ ชุตินทราศี ผู้จัดการสาขาตรอน ได้อนุมัติสินเชื่อให้ลูกค้าในโครงการดังกล่าว 42 ราย ช่วงเดือนธันวาคม 2545 ถึงเดือนพฤษภาคม 2546 ต่อมาฝ่ายสอบทานสินเชื่อตรวจสอบพบว่าไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดไว้ จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวน และได้ลงโทษให้นางเอื้ออารีย์ออกจากงานเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ส่วนอีก 4 คนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และธนาคารไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการจ่ายเงินกู้ระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้กู้ทั้ง 11 ราย

สำหรับการชำระหนี้เงินกู้ของลูกค้า ที่กู้เงินตามโครงการดังกล่าว มีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้จำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้ง 11 คนตามข่าวผิดนัดชำระหนี้กับธนาคาร ซึ่งธนาคารได้ปรับโครงสร้างหนี้ให้ตามหลักเกณฑ์ แต่ยังผิดนัดชำระหนี้และขอผ่อนผันชำระหนี้ ซึ่งธนาคารได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แล้ว แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จึงขอประนอมหนี้อีกครั้งในปี 2553 และยังคงผิดนัดชำระอีก ธนาคารจึงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนติดตามหนี้โดยการฟ้องร้อง ซึ่งทั้งหมดถูกพิพากษาให้ชำระหนี้แล้วเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น