xs
xsm
sm
md
lg

ใครปล้น “โรงเรียนอัสสัมชัญ” !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ซาตาน เป็นคำศัพท์ในภาษาอังกฤษซึ่งยืมมาจากภาษาฮิบรูอีกที ซาตานคือผู้ที่เป็นศัตรูของพระเจ้าในศาสนาคริสต์ เป็นตัวต้นตอของความชั่วร้าย ปิศาจ และความมืด ซาตานแตกต่างจากปิศาจทั่วไปเพราะซาตานคือเจ้าแห่งปีศาจทั้งมวล มารร้ายที่ล่อหลอกมนุษย์ให้หลงผิด และกระทำความชั่ว

ผีห่าซาตานนี้เองที่ทำให้มนุษย์หลงผิดกระทำความชั่ว ยิ่งถ้าเป็นนักบุญหรือนักบวชที่ผิดศีลกระทำบาปแล้ว เราก็เรียกว่า “พวกซาตานในคราบนักบุญ” ซึ่งอันตรายเสียยิ่งกว่าซาตานทั่วไปเสียอีก เพราะจะสามารถซ่อนรูปให้คนที่ไม่รู้จักได้หลงผิดเชื่อว่าซาตานตนนี้มีความเมตตาตามรูปแบบของนักบวชที่พึงกระทำ

แต่ก็ต้องขอบคุณอีกครั้งสำหรับผู้บริหารโรงเรียนอัสสัมชัญที่ได้เกณฑ์นักเรียนมาฟังแบบไม่ต้องมีปากเสียงเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556 และเชิญนักข่าวมาแถลงข่าวและชี้แจงเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556 เรื่องความเป็นไปในโรงเรียนอัสสัมชัญโดยไม่ต้องมีผู้ปกครองและครูที่มาตั้งคำถาม เพราะอย่างน้อยที่สุดสังคมก็ควรจะได้รับความจริงกับวิกฤตการณ์และข้อกล่าวหาของโรงเรียนที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นข้อมูลฝั่งเดียวก็ตาม

ข้อสำคัญที่สุดถ้าการแถลงข่าวครั้งนั้นมีการโกหกด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จให้สื่อมวลชนด้วยแล้ว สังคมก็จะได้ช่วยกันวินิจฉัยได้ว่าคนที่แต่งตัวเป็นนักบวชนั้นแท้ที่จริงแล้วถูกครอบงำจิตใจโดย “ผีห่าซาตาน”หรือไม่?

บังเอิญการแถลงข่าวของผู้บริหารโรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นการจัดขึ้นเพื่อ “ตัดหน้า” การประชุมของสมาคมผู้ปกครองและครูที่จะจัดขึ้นในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556 จึงทำให้การแถลงข่าวถูกสงสัยได้ว่าหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามจากผู้ปกครองและครูหรือไม่ แต่คงไม่สำคัญเสียยิ่งกว่าเสียงจาก “ครูโรงเรียนแห่งนี้” เห็นว่าการแถลงข่าวตามที่ปรากฏในวันดังกล่าวนั้นเป็นเรื่อง “โกหก” และไม่น่าเชื่อจะว่าจะออกมาจากปากของคนที่เรียกตัวเองว่า “นักบวชคาทอลิค” ที่ชื่อ ภราดา ดร.อานันท์ ปรีชาวุฒิในประโยคที่ว่า

“ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ทางโรงเรียนจะต้องปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่บุคคลกรทางการศึกษาระดับปริญญาตรี ให้เพิ่มเป็น 11,680 บาท แต่ครู 450 คนของโรงเรียนอัสสัมชัญ ไม่มีใครเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ดังนั้นจึงไม่ต้องปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่ครู”

ตรงนี้แหละที่ครูจำนวนไม่น้อยมีความเคลือบแคลงสงสัยว่าการแถลงข่าวเอาดีเข้าตัวนั้น หากสมมุติมีการลงข่าวอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว ก็แสดงว่าเป็นการแถลงข่าวตัดหน้าเพื่อตีกินหลอกลวงสังคมใชหรือไม่? แล้วจะให้เชื่อข้อมูลที่เหลือได้อย่างไร?
ภาพ ใบเงินเดือนของครูคนหนึ่งที่โรงเรียนอัสสัมชัญเดือนมกราคม พ.ศ. 2556
ก็ในเมื่อหลักฐานได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ตามภาพใบเงินเดือนข้างต้นของครูท่านหนึ่งโรงเรียนนี้อยู่ที่ 9,140 บาท มิได้เป็นตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพราะทางโรงเรียนมิได้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ครูเป็น 11,680 บาท

ข้อสำคัญที่สุดหากไม่ตกวิชาคณิตศาสตร์ บวกลบธรรมดา เงินเดือนจริงของคุณครูคนนี้อยู่ที่ 9,140 บาท ย่อมห่างไกลกว่าตัวเลขที่แถลงข่าวว่าครูทุกคนได้เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท จริงหรือไม่?

เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แม้แต่ตัวอย่างเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 ฐานเงินเดือนปริญญาตรีของข้าราชการทั่วไปอยู่ที่ 7,940 บาท แต่โรงเรียนเอกชนแห่งนี้ก็จ่ายเพียง 7,490 บาท (ขาดไป 450 บาท) หรือ ฐานเงินเดือนปริญญาโทของข้าราชการทั่วไป ต้องจ่าย 9,700 บาท ก็จ่ายเพียง 9,150 บาท (ขาดไป 550 บาท)

คำถามมีอยู่ว่าสภาพเงินเดือนครูที่ต่ำกว่าข้าราชการที่เกิดขึ้นมาประมาณ 5 ปีนี้เกิดขึ้นกับโรงเรียนเอกชนแห่งนี้ทั้งที่มีชื่อเสียงและมีลูกผู้ปกครองที่จ่ายเงินค่าเทอมมหาศาลได้อย่างไร? และเงินที่ควรจะจ่ายครูหายไปไหน?

ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารโรงเรียนนี้น่าจะตอบคำถามให้มีความกระจ่างชัดเพิ่มเติมว่า ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดค่าวิทยฐานะของครูที่เป็นค่าวิชชาชีพครูให้คนละ 2,000 บาท นั้นโรงเรียนแห่งนี้ก็ให้ถึงเพียงแค่เดือนเมษายน 2555 แล้วก็ยกเลิก ต่อมาแม้จะเปลี่ยนเป็นให้ค่าครองชีพชั่วคราวก็ให้เพียง 1,500 บาท พอถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ก็ยกเลิกการจ่ายค่าครองชีพชั่วคราวนี้อีก

และเพราะเหตุใด เงินบำเหน็จบำนาญโรงเรียนที่ต้องจ่ายสะสมไปที่มูลนิธิเซนต์คาเบรียลเพื่อรองรับการจ่ายครูโรงเรียนนี้มาอย่างยาวนาน พอในปี 2555 กลับปรากฏว่าครูต้องมารับบำเหน็จบำนาญจากโรงเรียนอัสสัมชัญแทน ทำให้ยิ่งน่าสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นแทนที่จะจ่ายเงินจากมูลนิธิเซนต์คาเบรียล และเงินที่เคยสมทบในมูลนิธีเซนต์คาเบรียลหายไปไหน?

ยิ่งไปกว่านั้นกองทุนที่นักเรียนศิษย์เก่าและอดีตอธิการบดีร่วมกันจัดตั้งขึ้นได้แก่ กองทุนสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการโรงเรียนอัสสัมชัญ กองทุนพัฒนากิจการลูกเสือโรงเรียนอัสสัมชัญ และกองทุนพัฒนากิจการกีฬาโรงเรียนอัสสัมชัญ ปรากฏว่ามีการนำไปใช้ทั้งๆที่มีข้อกำหนดตามวัตถุประสงค์ให้นำเงินจากอัตราผลตอบแทนไปใช้เท่านั้น จนปัจจุบันนี้เมื่อถูกสอบถามก็ยังไม่มีการเปิดเผยว่านำเงินไปใช้มากน้อยเพียงใด

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง กลับมีการเพิ่มค่าเทอมและค่าธรรมเนียมตลอดจน “กู้เงิน” จากผู้ปกครอง เช่น นักเรียนที่เรียนภาคภาษาอังกฤษจะต้องจ่ายเงินค่าเทอมปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท ค่าบำรุงพัฒนาการศึกษาอีก 250,000 บาท และผู้ปกครองยังต้องซื้อบอนด์ให้โรงเรียนกู้อีก 300,000 บาท ส่วนนักเรียนทั่วไป ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาปีละไม่ต่ำกว่า 66,000 บาท – 106,000 บาท ทำให้มีคนสนใจเข้าเรียนน้อยลง สอบเข้าพอเป็นพิธีไม่เต็มตามจำนวนเพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมามาก กลายเป็นโรงเรียนที่เน้นหนักในเรื่องเงินและวัตถุเป็นสำคัญ

“เงินและวัตถุ”
ที่จัดเป็นความสำคัญเร่งด่วนในยุคนี้ จึงทำให้กฎระเบียบหย่อนยานลง แม้แต่โทรศัพท์มือถือ การ์ตูน เครื่องเล่นเกม ก็กลายเป็นสิ่งที่นักเรียนสามารถนำเข้ามาได้ในโรงเรียน ก็เหมือนเป็นการเอาใจลูกค้าในทางธุรกิจให้มีความพึงพอใจสูงสุด จริงหรือไม่?

คำถามมีอยู่ว่า ผู้บริหารเพิ่มการเก็บเงินจากผู้ปกครอง แต่เอาเงินที่จะต้องจ่ายครูและกิจกรรมของนักเรียนโรงเรียนนี้ที่เดิมมีจำนวนมหาศาลไปไว้ที่ไหน?

คำตอบที่น่าจะเป็นหากมองโลกในแง่ดีหน่อย ก็คือนำเงินทั้งหมดไปลงทุนที่โรงเรียน “อัสสัมชัญ ภาคภาษาอังกฤษ พระรามที่ 2” ตั้งอยู่ที่คลองโคกขาม ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรักไปประมาณ 30 กิโลเมตร ที่หลายคนมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่สมเหตุสมผลที่จะรองรับนักเรียนเพียงแค่ 1,800 คน

แต่ปัจจุบันมีนักเรียนประถมประมาณ 900 คน และมัธยม 90 คน เท่านั้น ยังห่างไกลอยู่มากจากเป้าหมายที่ประกาศเอาไว้ แต่ที่น่าสนใจว่าหากสมมุติว่ามีนักเรียนเฉพาะภาคภาษาอังกฤษจริง 1,800 คนจริงๆ มันจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงในการลงทุนครั้งนี้หรือไม่?

เพราะเป้าหมายการลงทุนครั้งนี้ก็คือการซื้อที่ดินถึง 231 ไร่ มีสวนสาธารณะ ทะเลสาบ ระบบไฟฟ้าใต้ดิน อาคารเรียนทันสมัย มีสนามกีฬาระดับสเตเดียมขนาด 15,000 ที่นั่ง สนามฟุตบอลต่างห่างสำหรับซ้อมอีก 2 สนาม โรงยิมเนเซี่ยมที่มีทั้ง 2 สนามบาสเก็ตบอล สนามวอลเลย์บอล สนามแบดบินตัน 4 สนาม สนามตระกร้อ 6 สนาม พร้อมที่นั่งอีก 5,000 ที่นั่ง มีศูนย์ฟิตเนส ที่มีห้องแอโรบิค มีห้องซาวน่า ห้องเทควันโด อีกทั้งยังมีสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกสามารถบรรจุผู้ชมได้ 1,000 ที่นั่ง อีกทั้งยังมีสนามเทนนิสมาตรฐานและ สนามเทนนิสผิวแข็งอีก 8 สนาม มีการลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการทั้งศาสตร์และศิลป์ อีกทั้งการลงทุนได้เตรียมสำหรับอพาร์ตเม้นท์สำหรับครูภาคภาษาอังกฤษ 200 คน ฯลฯ

ด้วยเหตุผลของการลงทุนที่ไม่น่าเชื่อว่าจะทำเพื่อรองรับนักเรียน 1,800 คนนี้เองทำให้มีหลายคนเชื่อว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการยุบโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม และอัสสัมชัญแผนกมัธยมให้เป็นโรงเรียนเดียวกันเพื่อที่จะได้รวมเงินและกองทุนของโรงเรียนแห่งนี้ ไปถมในการสร้างวัตถุโรงเรียนภาคภาษาอังกฤษที่พระราม 2 หรือไม่? และน่าเคลือบแคลงสงสัยว่าจะมีการย้ายโรงเรียนอัสสัมชัญไปที่พระรามที่ 2 ในท้ายที่สุดหรือไม่?

เงินลงทุนที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้คือประมาณ 2,500 ล้านบาท ถึงเวลานี้ผ่านไป 6 ปีแล้วการลงทุนก็น่าจะถึงประมาณ 1,000 ล้านบาทแล้ว แต่โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีเงินลงทุนเพียงพอจึงทำให้การลงทุนเกินตัวครั้งนี้มากระทบวิถีชีวิตของผู้ปกครอง ครู นักเรียน และเงินสะสมของโรงเรียนนี้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

นับเป็นการลงทุนที่แปลกประหลาดมากเพราะดูเหมือนสิ่งที่ปลูกสร้างวัตถุนั้นได้กลายเป็นเสมือนเป้าหมายในการทำธุรกิจเพื่อกำไรสูงสุด เร่งหาเงินและเงินกู้จากผู้ปกครอง ลดรายจ่ายให้ครูและกิจกรรมของนักเรียน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากปูชนียบุคคลของผู้บริหารของโรงเรียนอัสสัมชัญในยุคแรก ดังปรากฏเป็นหลักฐานของนักบวชคาทอลิค เจษฎาธิการ ฟ.ฮีแลร์ ได้เคยกล่าวแสดงถึงความเมตตา ให้โอกาส ให้ความรู้และสร้างคนให้เป็นคนดีเอาไว้ว่า:

"ยากดี มีจน เอ็งอยากจะเรียน ก็เข้ามาเถอะ หรือเอ็งจนเงิน แต่ไม่จนปัญญา ก็เข้ามาเถอะ"

เพราะความจริงแล้วการศึกษาที่ดีนั้นวัตถุมิได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่การศึกษาที่ดียู่ที่ คุณภาพการสอนและคุณภาพชีวิตของครู เนื้อหาวิชาการ และคุณธรรมที่จะสอนสร้างให้นักเรียนเป็นทั้งคนเก่งและคนดี ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่างหาก

แต่ในยุคนี้วาทกรรมเปลี่ยนไปมาก ภราดา ดร. อานันท์ ปรีชาวุฒิ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญยุคปัจจุบันกับอธิบายถึงแนวคิดในโรงเรียนยุคนี้ว่า:

"เราเลือกพ่อแม่เด็กพอสมควร ทั้งในเรื่องของความรู้และฐานะ และความพร้อมในการเข้าเรียน ทำให้สังคมของนักเรียนของแต่ละรุ่นเป็นสังคมที่ถูกลั่นกรองแล้ว ทำให้เขาสามารถเชื่อใจเพื่อนได้ เพราะมีสังคมเดียวกัน"

และในโอกาสโรงเรียนอัสสัมชัญ ภาคภาษาอังกฤษ ที่พระราม 2 กำลังสร้างปัญหาอยู่ในขณะนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่ตำนานทางประวัติศาสตร์ “พันท้ายนรสิงห์” คณะภราดาเซนต์คาเบรียล ดร.อานันท์ ปรีชาวุฒิ น่าจะได้มีโอกาสอ่าน หนังสือ “ดรุณศึกษา” ที่ เจษฎาธิการ ฟ.ฮีแลร์ ได้เคยแต่งเป็นกลอนเอาไว้เตือนใจเอาไว้ในเรื่อง “คนดีที่ประสงค์” ที่ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุดว่า:

“อันคนดี ที่ไทย ใฝ่ประสงค์
ไม่เจาะจง คนรวย หรือสวยสี
ไม่ใช่คน ปริญญา วิชาดี
แต่เซ็งลี้ ถึงขนาด ที่ชาติงอม
ไม่ใช่เช่น พุ่มพวง ลวงประดิษฐ์
งามวิจิตร แต่รูป จูบไม่หอม
ไม่ใช่เช่น ธำมะรงค์ เครื่องทรงปลอม
ที่เขาย้อม ทองเปลว เลวจริงจริง


อันคนดี ที่ไทย ใฝ่ประสงค์
คือคนตรง เช่นพันท้าย นรสิงห์
หัวเรือหัก พักให้ ใครมาติง
ขึ้นตลิ่ง ร้องให้ฟัน จนบัลลัย
คนเช่นนี้ มีน้อย เหมือนพลอยเพ็ชร
แต่ละเม็ด ค่าเท่า ภูเขาใหญ่
ควรเชิดชู คู่ควร กับดวงใจ
เพื่อชาติไทย รุ่งโรจน์ ปราโมทย์ เอย”

เมื่ออ่านแล้วคนที่รักโรงเรียนนี้ก็ควรจะร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริงฉีกหน้ากากผีห่าซาตาน และมาช่วยกันกำจัดซาตานในโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อกอบกู้เกียรติภูมิและชื่อเสียงของโรงเรียนประวัติศาสตร์แห่งนี้ให้กลับคืนมาดังเดิมโดยเร็วที่สุด จะดีไหม?


กำลังโหลดความคิดเห็น