xs
xsm
sm
md
lg

ภาษาไทยกับโรงเรียนเอกชนอิสลาม

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

ถ้านักเรียน คือ ภาพฉายของคุณภาพการศึกษา ที่สถาบันจัดไว้อย่างเข้มข้น โรงเรียนเอกชนอิสลาม ได้ดำเนินการตามปรัชญาการศึกษา โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มประสิทธิภาพ วาทกรรมนี้ ผู้เขียนกล่าวถึงโรงเรียนเอกชนอิสลามทั่วประเทศ

ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมฟังการโต้วาที (Debate) ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จากสถาบันการศึกษาทั่วภาคใต้ ในกิจกรรมโต้วาที ของเวทีมหกรรมเปิดบ้านการศึกษา “หาดใหญ่แฟร์” กลางเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ซึ่งจัดต่อเนื่องกันมาหลายปี ซึ่งเป็นเวทีแสดงศักยภาพทางวิชาการของนักเรียนทั่วทั้งภูมิภาค ภายใต้แนวคิดเพื่อสังคมที่ว่า “มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ร่วมคิด ร่วมสร้าง นำทางสังคม”

การโต้วาที เป็นกิจกรรมการพูด โดยใช้หลักการ เหตุผล ไหวพริบสติปัญญา และวาทศิลป์อย่างคมคายเชิงภาษา เพื่อโน้มน้าวผู้ฟังให้คล้อยตามกับสิ่งที่นำเสนอ ซึ่งในกิจกรรมโต้วาทีของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่นั้น มีนักเรียนโรงเรียนเอกชนอิสลาม เข้าร่วมกิจกรรมอย่างกระตือรือร้น ผู้เขียนได้รับฟังวาทศิลป์ของนักโต้วาทีรุ่นเยาว์ จากโรงเรียนเอกชนอิสลาม โต้กันในญัตติต่างๆ เช่นว่า “อยู่สบายในเมืองไทย ดีกว่าไปอาเซียน” หรือ “เลือกสบายกับขุนช้าง ดีกว่าอยู่อย่างทรมานกับขุนแผน” เป็นต้น ทำให้มองเห็น “คุณภาพการใช้ภาษาไทย” ของนักเรียนโรงเรียนอิสลาม ซึ่งสื่อสารได้อย่างชัดเจน ทั้งคำควบกล้ำ การแบ่งวรรคตอนในการพูด และคารมคมคายแห่งข้อมูลที่เลือกใช้อย่างชาญฉลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ได้ปฏิวัติความเชื่อที่ว่า นักเรียนโรงเรียนอิสลาม พูดภาษาไทยไม่ชัด ออกไปจากสารระบบความคิดที่มี และนี่อาจเป็นความแตกต่างแห่งคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเอกชนอิสลาม ที่ปลูกฝัง ฝึกฝนให้นักเรียนพูดภาษาไทยชัดเจนและถูกต้อง มากกว่าผู้นำประเทศบางคนเสียด้วยซ้ำ

หากจะมีข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผู้เขียน เสนอแนะว่า ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพที่สะท้อนผลลัพธ์การศึกษาหนึ่ง คือ ผู้เรียนมีการใช้ภาษาอย่างถูกต้องและเห็นคุณค่าของภาษาไทย ซึ่งนับว่าคุณภาพความสำเร็จชั้นเยี่ยมในผลการจัดการศึกษา และถ้าจะบ่มเพาะเยาวชนของชาติให้รู้จักรักษ์ภาษาไทย อันเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติ ผู้เขียนเสนอว่า การเลือกใช้กิจกรรมโต้วาที เป็นเทคนิคการเรียนการสอน จะเป็นกระบวนการสะท้อนผลลัพธ์ทางปัญญาและการใช้ภาษาที่เหมาะสม เพราะการโต้วาทีของเยาวชน มีผลลัพธ์ที่ได้รับคือรอยยิ้มและมิตรภาพระหว่างกัน ดังที่ผู้เขียนได้เห็นภาพนั้นในเวทีกิจกรรมโต้วาที ของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น