xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.วางแผนพัฒนา O-Net ทั้งระดับประถม-มัธยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ร.ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วางแผนเร่งพัฒนาคะแนน O-Net ต่อเนื่องทั้งระดับประถม และมัธยม เตรียมประชุมกับเขตพื้นที่วางระบบการนิเทศก์ให้เข้มข้นขึ้นเพื่อติดตามช่วยเหลือ ร.ร.ใกล้ชิด

วันนี้ (2 ต.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้รายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสอง ของสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ทั้งระดับปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งในระดับปฐมวัย มีโรงเรียนเข้ารับการประเมิน 27,954 แห่ง ในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน 22,918 แห่ง คิดเป็น 81.98% และไม่ได้รับการรับรอง 5,036 แห่ง คิดเป็น 18.02% ส่วนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีโรงเรียนเข้ารับการประเมิน 31,480 แห่ง ได้รับการรับรอง 25,944 แห่ง คิดเป็น 82.41% และไม่ได้รับการรับรอง 5,536 แห่ง คิดเป็น 17.59% ซึ่งการประเมินครั้งนี้แม้จะมีโรงเรียนได้รับการรับรองมาตรฐานจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ สพฐ.หยุดเร่งรัดและพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ในการประเมิน พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอน และตัวบ่งชี้ที่ยังเป็นปัญหาคือ ตัวบ่งชี้ที่ 5 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน โดยเฉพาะคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net ซึ่งยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเร่งรัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้จากผู้วิเคราะห์มีข้อเสนอแนะให้ สพฐ. เร่งรัดพัฒนาระบบการนิเทศก์ให้มีความเข้มข้น และเข้มแข็งมากขึ้น ที่ประชุมจึงได้มอบให้ศูนย์พัฒนาการนิเทศและเร่งรัดคุณภาพการศึกษา สพฐ.จัดกลไกในการที่จะให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีกลุ่มนิเทศการศึกษาลงไปตรวจเยี่ยม และให้คำแนะนำต่างๆ แก่ทางโรงเรียนมากขึ้น

“สพฐ.จะร่วมมือกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) พัฒนาคลังข้อสอบ โดยขณะนี้ในส่วนของ สพฐ.ได้มีการพัฒนาคลังข้อสอบของ สพฐ. เองอยู่แล้ว เพื่อใช้ในการจัดสอบการทดสอบระดับชาติ หรือ NT ซึ่งจะทำคู่ขนานกันไป เพื่อรองรับนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ที่ให้ใช้ผลคะแนน O-Net ของเด็กมีผลต่อการมีหรือเลื่อนวิทยฐานะของครู โดยสพฐ.จะคัดเลือกตัวชี้วัดที่สำคัญในการทดสอบเด็กแต่ละช่วงชั้น และแต่ละชั้นปี โดยจุดเน้นของระดับประถมศึกษาจะเน้นเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ และการคำนวณ ส่วนระดับมัธยมศึกษาจะเน้นใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น