เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 บนถนนจุติอนุสรณ์ทางเข้าโรงแรมเจ.บี. หาดใหญ่ เมื่อ 11 ปีที่ผ่านมา ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาตีแผ่พูดคุยกันในสังคมไทยอีกครั้ง เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ผู้ที่ตกเป็นจำเลยในเหตุการณ์ครั้งนั้น คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติภายใต้การนำของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร และมี ผบ.ตร.ที่ชื่อพล.ต.อ.ศันต์ ศรุตานนท์ในขณะนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาคดีนี้ไปเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา โดยพิพากษาว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความผิดที่ไปละเมิด (สลายการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ) ผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ และให้ชดเชยการละเมิดสิทธิในการชุมนุมของประชาชนในครั้งนั้นเป็นเงิน 100,000 บาท(หนึ่งแสนบาท) นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ผู้ปกครองใช้อำนาจต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมและถูกพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองว่ามีความผิดและต้องชดใช้การทำความผิดที่ก่อขึ้น
หลังจากที่สิ้นสุดคำพิพากษาสื่อมวลชนทุกแขนงได้รายงานข่าวคดีอันเป็นประวัติศาสตร์ ทำให้สังคมไทยได้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาอีกครั้ง เหตุการณ์ที่มีความสับสนอลหม่านสยดสยองของเหตุการณ์ที่ปรากฏผ่านสื่อ ไม่ว่าการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการทุบตีกันหัวร้างข้างแตก การเตะถีบทุบตีเข้าใส่ซึ่งกันและกัน อุปกรณ์เครื่องใช้จำพวกหม้อข้าว จานข้าว ขวดน้ำ ฯลฯ ปลิวว่อน มีการทุบตีทำลายรถยนต์ของผู้ร่วมชุมนุมอย่างบ้าเลือดจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้รถยนต์ของผู้ชุมนุมที่จอดอยู่ในบริเวณนั้นเสียหายพังยับเยินไปสิบกว่าคัน มีการกระชากลากถูผู้ชุมนุมไปตามพื้นถนน เสื้อผ้าขาดวิ่นหลุดลุ่ย รวมไปถึงเลือดและบาดแผลที่ปรากฏผ่านสื่อทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและตำรวจที่เข้าสลายการชุมนุม (ซึ่งผู้บาดเจ็บที่เสียเลือดเนื้อส่วนใหญ่เป็นฝ่ายประชาชนผู้ชุมนุม) เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลางใจเมืองหลวงของภาคใต้ที่เป็นเมืองแห่งธุรกิจการท่องเที่ยวคืออำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ภาพเหตุการณ์หลังจากนั้นก็คือการจับกุมผู้ร่วมชุมนุมในเหตุการณ์จำนวน 12 คนเป็นชาย 6 คนผู้หญิง 6 คน ใส่ไว้บนรถสายบัวที่ใช้สำหรับขังนักโทษชั่วคราว อดีตผบ.ตร.(พล.ต.อ.ศันต์ ศรุตานนท์) ได้เดินนำผู้สื่อข่าวมาที่รถขังผู้ต้องหาทั้ง 12 คนที่ถูกขังอยู่บนรถ พร้อมกับให้สัมภาษณ์ออกสื่อว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องสลายการชุมนุม เพราะได้ใช้ความอดทนอดกลั้นมานานแล้ว..” หลังจากนั้นก็นำผู้ต้องหาทั้ง 12 คนไปขังไว้ในค่ายตำรวจตระเวนชายแดนที่ชื่อว่าค่ายท่านมุกในเขตพื้นที่อำเภอนาทวี ในวันต่อๆ มาก็ได้ทำการจับกุมเพิ่มเติมส่งฟ้องศาลโดยตั้งข้อหาที่มีความผิดรวมๆ กันจำนวนหลายสิบข้อหา
ในคำฟ้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนั้น บอกว่าผู้ต้องหาทั้งหมดมีความผิดในทางอาญาแผ่นดินในประเด็น “ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย, พกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ,ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธและร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป, ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์, มั่วสุมกันกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธโดยผู้กระทำความผิด เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้ที่มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น,ไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้”
จากนั้นมาเหตุการณ์ดังกล่าวก็ถูกกลืนหายไปในสังคมไทย ชาวบ้านที่จะนะ และเจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษาที่ถูกจับดำเนินคดีในวันดังกล่าว ก็ถูกนำตัวไปคุมขังและได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดีในเวลาต่อมา เป็นเวลาประมาณ 5 ปีต่อมาใน คือเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลชั้นต้นสงขลาตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้งหมด แต่ทางพนักงานอัยการผู้ทำหน้าที่ทนายให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ได้ยื่นอุทธรณ์คดี จนถึงวันที่ 3 มีนาคม 2552 ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืน กล่าวคือยกฟ้องจำเลยเหมือนศาลชั้นต้น แต่พนักงานอัยการได้ยื่นฎีกา ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างรอคำพิพากษาของศาลฎีกา
จากวันนั้นถึงวันนี้ถึงปีนี้รวมระยะเวลา 11 ปีกว่าๆ ในระหว่างคดีความอยู่ในศาล ฝ่ายชาวบ้านหรือผู้ที่ถูกสลายการชุมนุมก็ได้ใช้สิทธิในการพิทักษ์สิทธิของตัวเองและให้กระบวนการยุติธรรมได้เข้ามาตรวจสอบความถูกผิดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าฝ่ายไหนเป็นผู้กระทำความผิดกันแน่ โดยได้ฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อศาลปกครองสงขลา จำเลยที่ถูกผู้ชุมนุมยื่นฟ้องประกอบด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลยที่ 1, จังหวัดสงขลาจำเลยที่ 2 และกระทรวงมหาดไทยที่ 3 ซึ่งตุลาการศาลปกครองสงขลาได้ตัดสินคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549 ตามหมายเลขคดีที่ 454/2546 และคดีหมายเลขแดงที่ 51/2549 โดยพิพากษาสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความผิดและจะต้องจ่ายค่าเสียหายชาวบ้าน 24 รายๆ ละ 10,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยกำหนดให้ชำระภายใน 30 วัน ฝ่ายจำเลยอุทธรณ์และเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดก็ได้พิพากษาตามศาลปกครองชั้นต้น แต่ลดค่าละเมิดของฝ่ายจำเลยลงมาที่ให้จำเลยจ่ายจำนวน 100,000 แก่โจทย์
คดีสุดท้ายที่ต่อเนื่องกันมาคือคดีที่ผู้ชุมนุมได้ฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องจำเลยที่เป็นตำรวจเหล่านั้น ในขบวนการสืบพยานโจทย์เห็นได้ชัดเจนว่าทางฝ่ายอัยการ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความล่าช้าในคดี นายตำรวจทั้งหลายที่เดินทางมาศาลก็ไม่ยี่หระต่อความผิดที่ตัวเองได้ก่อขึ้น เพราะตั้งแต่ตกเป็นจำเลยในคดีมา 10 กว่าปี พวกเขาต่างก็ได้รับการปูนบำเหน็จเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มิได้เร่งรัดดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือผิดวินัยร้ายแรงตามกฎระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชาวบ้านได้ร้องขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กระทำตามกฎระเบียบที่มีอยู่แต่ก็มิได้สอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการผิดกฎหมาย ผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
ตำรวจที่ตกเป็นจำเลยในทางเป็นจริงพวกเขาถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่จะต้องถูกลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่าง ก.ตร.ควรที่จะเร่งพิจารณาและมีคำสั่งให้พักราชการหรือให้ออกจากราชการชั่วคราว เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีและเป็นธรรม แต่ก็หาได้มีการดำเนินการใดๆ แก่นายตำรวจเหล่านั้น แต่ละคนได้รับบำเหน็จเลื่อนขั้นเลื่อนชั้นกันทุกคน (ขอยืนยันว่าทุกคน) เสมือนว่าพวกเขาได้ทำความดีร่วมกับรัฐบาลที่เป็นผู้รู้เห็นในเหตุการณ์ ซึ่งก็รวมถึงนายตำรวจคนหนึ่งที่ร่วมในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในครั้งนั้นอย่างออกหน้าออกตา บัดนี้เขาได้รับการปูนบำเหน็จความดีความชอบมาตลอด และวันนี้เขาก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ถึงระดับได้เลื่อนชั้นให้ขึ้นมาเป็น ผบ.บชน.เขาผู้นั้นมีนามว่าพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เหตุการณ์เช่นนี้สะท้อนให้สังคมได้เห็นว่ารัฐบาลที่ชั่วร้ายกับนายตำรวจเลวๆ ก็ยังคงอยู่กับสังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลง.