xs
xsm
sm
md
lg

“นิติธรรมสิ่งแวดล้อม” สรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดี ตร.สลายม็อบท่อก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 16 ม.ค.2556 “โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม” ได้สรุปประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในสาระสำคัญ คดีสลายการชุมนุมผู้คัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย แล้วนำเสนอไว้บนหน้าเฟซบุ๊กของโครงการฯ ดังนี้

วันนี้ (16 ม.ค.) เวลา 09.30 น. ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่เจ้าพนักงานตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 คดีหมายเลขดำที่ อ.426/2549 คดีหมายเลขแดงที่ อ.711/2555 ระหว่าง นายเจะเด็น อนันทบริพงศ์ ที่ 1 กับพวกรวม 30 คน กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน โดยมีประเด็นดังนี้

1.การที่เจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการสลายการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย เป็นการกระทำละเมิดผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 หรือไม่

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

เสรีภาพในการชุมนุม เป็นเสรีภาพที่มีความสำคัญ เพราะมีที่มาจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นกลไกในการเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย แสดงออกซึ่งปัญหาและข้อเรียกร้องของประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ในสังคม ทั้งยังช่วยให้รัฐมองเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ชัดเจน ทั้งนี้ การชุมนุมดังกล่าวต้องเป็นการชุมนุมที่สงบ และปราศจากอาวุธ

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ผู้ฟ้องคดีและกลุ่มประชาชนผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย ได้รวมตัวกันเพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนโครงการดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่จะเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) ณ โรงแรม เจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 21 ธันวาคม 2545 ผู้ฟ้องคดีและกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาถึง อ.หาดใหญ่ ในเวลา 20 นาฬิกา โดยมีรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนำขบวนมาตามถนนเพชรเกษม

กระทั่งถึงทางเข้าถนนจุติอนุสรณ์ บริเวณวงเวียนน้ำพุ แต่ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจจัดวางกำลัง และแผงเหล็กตั้งวางขวางกั้น ขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมจึงหยุดอยู่บนถนนจุติอนุสรณ์ บริเวณเชิงสะพานจุติบุญสูงอุทิศ และมีการเจรจากันระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจกับผู้ชุมนุม โดยเจ้าพนักงานตำรวจต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมจากที่เคยตกลงกันไว้เดิม แต่การเจรจาไม่เป็นผล โดยในระหว่างนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนนั่งล้อมวงอยู่ใกล้แผงเหล็ก และบางส่วนที่นับถือศาสนาอิสลามก็ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้กระทำการใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าจะใช้ความรุนแรง หรือมีการฝ่าแนวแผงเหล็กของเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ดำเนินการชุมนุมในลักษณะยั่วยุ หรือส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง หรือก่อให้เกิดการจลาจล รวมถึงก่ออันตรายโดยตรงต่อชีวิตร่างกายของประชาชนแต่อย่างใด

ดังนั้น การชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่ภายหลังจากนั้น เจ้าพนักงานตำรวจได้ตั้งแถวเพื่อผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมจน เกิดความวุ่นวายขึ้น และดำเนินการสลายการชุมนุม จนกลุ่มผู้ชุมนุมต้องสลายตัวไปในที่สุด

2.การที่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการสลายการชุมนุมดังกล่าว เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องชุมนุมกันอยู่บนถนนจุติอนุสรณ์ เป็นเพราะไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจได้ตั้งจุดสกัดไว้ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงไม่มีเจตนาที่จะปิดกั้นการจราจร และการที่เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการสลายการชุมนุมดังกล่าว เพียงเพื่อเปิดเส้นทางเข้าออกโรงแรม เจ.บี.ให้แก่คณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่อาจถือได้ว่า การสลายการชุมนุมนั้นเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ ตามมาตรา 44 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 อีกทั้งยังมีเส้นทางเข้าออกโรงแรม เจ.บี.ได้อีกหลายทาง การที่เจ้าพนักงานตำรวจเลือกที่จะใช้มาตรการสลายการชุมนุม จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เกินแก่ความจำเป็น

นอกจากนี้ การเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการตามลำดับขั้นตอนตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุมของประชาชน หรือมีลำดับขั้นตอนจากเบาไปหาหนักตามที่ระบุในแผนรักษาความสงบในการชุมนุมครั้งนี้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการสลายการชุมนุมดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย โดยไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมต่อไปได้ อันถือเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1-24

เมื่อการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานตำรวจอยู่ในสังกัด จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

3.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 ไม่อาจใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 44 เพียงใด

เมื่อพิจารณาลักษณะเสรีภาพในการชุมนุมแล้ว เห็นว่าบุคคลเพียงคนเดียวไม่อาจก่อให้เกิดการชุมนุมสาธารณะได้ แต่จะต้องเกิดจากการที่บุคคลหลายๆ คนมารวมตัวกัน การกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับการกระทำละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมจึงเป็นคนละส่วนกัน และแตกต่างจากการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซึ่งถูกกระทำละเมิดเป็นรายบุคคลได้ ดังนั้น การกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับการกระทำละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมในครั้งนี้ จึงเป็นการเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดี และบุคคลอื่นๆ ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 เป็นเงินรวมกัน จำนวนรวมทั้งสิ้น 100,000 บาท และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนแห่งการชนะคดี
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น