xs
xsm
sm
md
lg

ศาลชี้ตำรวจทำรุนแรง สั่งจ่ายค่าเสียหาย สลายม็อบโรงแยกก๊าซจะนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่-ศาลปกครองสูงสุด ชี้ขาดกรณีตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุสลายการชุมนุมม็อบค้านโรงแยกก๊าซจะนะ หลังคดียืดเยื้อนาน 10 ปี ระบุเป็นการชุมนุมโดยสงบ และเจ้าหน้าที่กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้อง 24 คน รวม 1 แสนบาท

วานนี้ (16 ม.ค.) ที่ห้องพิจารณาที่ 2 ศาลปกครองจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ศาลปกครองจังหวัด ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีตำรวจสลายการชุมนุมของชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 ที่บริเวณถนนจุติอนุสรณ์ ใกล้โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ หรือโรงแรมหรรษาเจบีในปัจจุบัน เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม ได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ที่ใช้เป็นพาหนะได้รับความเสียหาย และไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้ต่อไป

โดยนายเจ๊ะเด็น อนันทบริพงศ์ ผู้ฟ้องที่ 1 กับพวก รวม 30 คนได้ยื่นฟ้องสำนักงานตรวจแห่งชาติ จังหวัดสงขลา และกระทรวงมหาดไทย เรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานดังกล่าว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมตามมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่บังคับใช้ในขณะนั้น ซึ่งศาลปกครองจังหวัดสงขลา และศาลปกครองสูงสุดมีคำสังรับฟ้องเฉพาะผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 ในส่วนที่เรียกค่าเสียหายการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเท่านั้น

ทั้งนี้ ศาลปกครองจังหวัดสงขลาได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ.426/2549 ซึ่งพิจารณาว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 ซึ่งชาวบ้านเตรียมยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ต่อนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นโดยมีกำหนดการเดินทางมาประชุม ครม.สัญจรที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ ในวันที่ 21 ม.ค.2545 ว่า เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ

ส่วนกรณีที่สำนักงานตรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ โดยระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวชุมนุมกันเกิน 10 คน มีผู้สั่งการอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการตระเตรียมอาวุธทั้งที่เป็นอาวุธ และมิใช่อาวุธโดยสภาพ ซึ่งสามารถตรวจยึดหนังสติ๊ก ลูกตะกั่ว กรรไกรปลายแหลม มีดสปาต้า และไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลม 175 อันนั้น ศาลพิจารณาเห็นว่า การชุมนุมโดยใช้สิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญย่อมกระทำโดยคนเดียวไม่ได้ และไม่ปรากฏว่า แกนนำมีการสั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุมสั่งสมอาวุธ

ในขณะเดียวกัน ศาลเห็นว่าหนังสติ๊ก ลูกตะกั่ว และมีดสปาต้านั้น ถือว่ามีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชุมนุม โดยเป็นอาวุธที่ผู้คัดค้านเตรียมมาเป็นการส่วนตัว มิได้มีการสั่งการจากแกนนำแต่งอย่างใด ส่วนไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมพบว่า ผู้ชุมนุมใช้เป็นเสาธง มิใช่อาวุธแต่เดิม แต่ได้ใช้เป็นอาวุธในเวลาต่อมา เมื่อตำรวจเข้าสลายการชุมนุม สำหรับการทำร้ายตำรวจ และทรัพย์สินของทางราชการ เกิดจากการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม และทำร้ายผู้คัดค้านจนบาดเจ็บ

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำตัดสินว่า การชุมนุมของชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 เป็นการชุมนุมโดยสงบ และการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยมิได้ดำเนินการตามหลักสากล คือ จากเบาไปหาหนัก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบต่อไปได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) จึงต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องที่ 1-24 โดยกำหนดให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องที่ 1-24 รวมกันจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น