ผ่าประเด็นร้อน
ในที่สุดศาลปกครองสูงสุดก็ได้พิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้านจำนวน 24 คนที่ฟ้องตำรวจฐานกระทำเกินกว่าเหตุและมิชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งหมดจำนวน 1 แสนบาท จากกรณีสลายการชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา อย่างรุนแรง
โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม ปี 2545 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ครั้งนั้นชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันต่อต้านอย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการทำลายวิถีชีวิตของพวกเขา ทำลายสิ่งแวดล้อม และรัฐได้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนข้ามชาติเท่านั้น
ก่อนเกิดเหตุชาวบ้านนัดรวมตัวกันคัดค้าน โดยเคลื่อนขบวนไปที่ถนนจุติอนุสรณ์ ใกล้กับโรงแรมเจบีหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ ทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังจะมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่โรงแรมดังกล่าว แต่กลับถูกขัดขวางจากตำรวจมีการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง มีการทุบตีอย่างป่าเถื่อน ใช้แก๊สน้ำตาสลาย ทำลายรถยนต์ที่เป็นยานพาหนะของผู้ชุมนุมเสียหายไปหลายคัน ซึ่งมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายปรากฏให้เห็นถึงความโหดร้ายที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจกลุ่มหนึ่งกระทำต่อชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ
สำหรับตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เป็นผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติการ “คุมเกม” อย่างแข็งขันนอกจาก พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บังคับการจังหวัดสงขลา และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ขณะนั้นมียศพันตำรวจเอก เป็นกำลังสำคัญ
คดีดังกล่าวชาวบ้านได้ “กัดฟัน” สู้คดีกันในชั้นศาลมานานกว่า 10 ปี และระหว่างนั้นชาวบ้านที่ฟ้องร้องตำรวจก็ถูกข่มขู่คุกคามอยู่ตลอดเวลา บางรายต้องหลบหนีหัวซุกหัวซน สร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส
โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้นได้ตัดสินให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายกับชาวบ้าน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เป็นการขัดขวางการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับไม่ยอมรับและยื่นอุทธรณ์จนนำไปสู่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว
คำตัดสินของศาลดังกล่าวมองอีกด้านหนึ่งยังเป็นการประจานการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางกลุ่มที่ “รับใช้การเมือง” ซึ่งนายตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์และนำไปสู่ความเจ็บปวดครั้งนั้นก็ยังเป็นตัวละครที่โลดแล่นอยู่หน่วยงานที่ระบุว่าเป็นผู้รักษากฎหมายเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่หากพิจารณาจากเส้นทางแล้วคนพวกนี้ล้วนเคยสร้างปัญหาในพื้นที่มาแล้วทั้งสิ้น บางคนเคยถูกชาวบ้านประท้วงขับไล่ แต่ก็ยังเติบโตในหน้าที่การงานตลอดมา ที่สำคัญพวกเขายังมีส่วนสำคัญในการเพิ่มเชื้อไฟในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ลุกลามมาจนถึงวันนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกัน ในโอกาส “วันครู” เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่หลายคนกำลังรำลึกและให้ความสำคัญกับคุณครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้เสียสละ แต่มีใครที่นึกย้อนกลับไปบ้างว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นลุกลามมาจนถึงปัจจุบันนั้นล้วนมีนายตำรวจประเภทดังกล่าว มี “รัฐตำรวจ” มีส่วนในการ “จุดเชื้อ” สุมไฟ แต่มาวันนี้ตำรวจที่ว่านั้นได้เปลี่ยนบทบาทใหม่กำลังรับใช้การเมืองในตำแหน่งใหม่ ที่เห็นเด่นชัดก็มี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่กำลังไปได้สวยในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จากวลีที่เขียนเป็นคำขวัญเตือนใจไม่ต่างจากสลักบนหน้าผากตัวเองว่า “มีวันนี้เพราะพี่ให้” โดยไม่ต้องไปสนใจว่าพี่คนนั้นจะเป็นโจร เป็นอาชญากรหลบหนีสารพัดคดี รวมทั้งไม่สนใจว่าตัวเองเป็นผู้รักษากฎหมาย
ดังนั้น คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่เกิดขึ้นนอกจากเป็นที่พึ่งสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานนับสิบปี แต่ถึงอย่างไรก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความถูกต้องชอบธรรม ขณะเดียวกันแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยผ่านมาและเริ่มลืมเลือน กำลังเคลิบเคลิ้มกับบทบาทหวือหวาของตำรวจดังกล่าว เนื่องจากการเมืองที่ตัวเองรับใช้อยู่นั้นเป็นผู้กุมกลไกอำนาจรัฐสูงสุด ทำให้สังคมต้องหันกลับมาฉุกคิดขึ้นมาได้บ้างว่าคนพวกนี้เคยมีประวัติอย่างไร เคยสร้างความเจ็บปวดให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างไรบ้าง เพราะอดีตย่อมสะท้อนถึงปัจจุบันทำให้เข้าใจถึงการสร้างภาพฉาบฉวยตบตา
ตราบใดก็ตามที่เจ้าหน้าที่ไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย และเลือกปฏิบัติ ในอนาคตมันก็มีโอกาสซ้ำรอยเดิมเหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ก็เป็นได้
เพราะชาวบ้านเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พึ่งพาคนพวกนี้ไม่ได้ แทนที่จะทำหน้าที่เป็นรักษากฎหมาย เป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา แต่พฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็นกลับเป็นตรงกันข้าม เลือกข้างรับใช้การเมืองให้ตัวเองได้ประโยชน์เพื่อหวังตำแหน่งลาภยศเท่านั้น
ตราบใดก็ตามที่สังคมเริ่มรังเกียจเจ้าหน้าที่ และรู้เท่าทันมากเท่าใด มันก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นทุกวัน!!