คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 บนถนนจุติอนุสรณ์ ทางเข้าโรงแรม เจ.บี. หาดใหญ่ เมื่อ 11 ปีที่ผ่านมา ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาตีแผ่พูดคุยกันในสังคมไทยอีกครั้ง เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ผู้ที่ตกเป็นจำเลยในเหตุการณ์ในครั้งนั้น คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร และมี ผบ.ตร.ที่ชื่อ พล.ต.อ.ศันต์ ศรุตานนท์ ในขณะนั้น
ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาคดีนี้ไปเมื่อวันที่ 16 มกรามคม 2556 ที่ผ่านมา โดยพิพากษาว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความผิดที่ไปละเมิด (สลายการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ) ผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการโรงแยกก๊าซ และท่อส่งก๊าซไทยมาเลย์ และให้ชดเชยการละเมิดสิทธิในการชุมนุมของประชาชนในครั้งนั้นเป็นเงิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ผู้ปกครองใช้อำนาจต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม และถูกพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองว่า มีความผิด และต้องชดใช้การทำความผิดที่ก่อขึ้น
หลังจากที่สิ้นสุดคำพิพากษา สื่อมวลชนทุกแขนงได้รายงานข่าวคดีอันเป็นประวัติศาสตร์ ทำให้สังคมไทยได้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาอีกครั้ง เหตุการณ์ที่มีความสับสนอลหม่านสยดสยองของเหตุการณ์ที่ปรากฏผ่านสื่อ ไม่ว่าการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการทุบตีกันหัวร้างข้างแตก การเตะ ถีบ ทุบตีเข้าใส่ซึ่งกันและกัน อุปกรณ์เครื่องใช้จำพวกหม้อข้าว จานข้าว ขวดน้ำ ฯลฯ ปลิวว่อน มีการทุบตีทำลายรถยนต์ของผู้ร่วมชุมนุมอย่างบ้าเลือดจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้รถยนต์ของผู้ชุมนุมที่จอดอยู่ในบริเวณนั้นเสียหายพังยับเยินไปสิบกว่าคัน มีการกระชากลากถูผู้ชุมนุมไปตามพื้นถนน เสื้อผ้าขาดวิ่น หลุดลุ่ย รวมไปถึงเลือด และบาดแผลที่ปรากฏผ่านสื่อ ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม และตำรวจที่เข้าสลายการชุมนุม (ซึ่งผู้บาดเจ็บที่เสียเลือดเนื้อส่วนใหญ่เป็นฝ่ายประชาชนผู้ชุมนุม) เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลางใจเมืองหลวงของภาคใต้ ที่เป็นเมืองแห่งธุรกิจการท่องเที่ยวคือ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ภาพเหตุการณ์หลังจากนั้นก็คือ การจับกุมผู้ร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ จำนวน 12 คน เป็นชาย 6 คน ผู้หญิง 6 คน ใส่ไว้บนรถสายบัวที่ใช้สำหรับขังนักโทษชั่วคราว อดีต ผบ.ตร. (พล.ต.อ.ศันต์ ศรุตานนท์) ได้เดินนำผู้สื่อข่าวมาที่รถขังผู้ต้องหาทั้ง 12 คนที่ถูกขังอยู่บนรถ พร้อมกับให้สัมภาษณ์ออกสื่อว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องสลายการชุมนุม เพราะได้ใช้ความอดทนอดกลั้นมานานแล้ว..” หลังจากนั้นก็นำผู้ต้องหาทั้ง 12 คนไปขังไว้ในค่ายตำรวจตระเวนชายแดนที่ชื่อว่า ค่ายท่านมุกฯ ในเขตพื้นที่อำเภอนาทวี
ในวันต่อๆ มา ก็ได้ทำการจับกุมเพิ่มเติม ส่งฟ้องศาลโดยตั้งข้อหาที่มีความผิดรวมๆ กันจำนวนหลายสิบข้อหา ในคำฟ้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนั้นบอกว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดมีความผิดในทางอาญาแผ่นดินในประเด็น “ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย, พกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุ หรือข้อแก้ตัวอันสมควร ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ และร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป, ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์, มั่วสุมกันกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้ที่มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น, ไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้”
จากนั้นมา เหตุการณ์ดังกล่าวก็ถูกกลืนหายไปในสังคมไทย ชาวบ้านที่จะนะ และเจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษาที่ถูกจับดำเนินคดีในวันดังกล่าว ก็ถูกนำตัวไปคุมขัง และได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี ในเวลาประมาณ 5 ปีต่อมาคือ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลชั้นต้นสงขลาตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้งหมด แต่ทางพนักงานอัยการผู้ทำหน้าที่ทนายให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ยื่นอุทธรณ์คดี จนถึงวันที่ 3 มีนาคม 2552 ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืน กล่าวคือ ยกฟ้องจำเลยเหมือนศาลชั้นต้น แต่พนักงานอัยการได้ยื่นฎีกา ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างรอคำพิพากษาของศาลฎีกา
จากวันนั้น ถึงวันนี้ ถึงปีนี้ รวมระยะเวลา 11 ปีกว่าๆ ในระหว่างคดีความอยู่ในศาล ฝ่ายชาวบ้าน หรือผู้ที่ถูกสลายการชุมนุมก็ได้ใช้สิทธิในการพิทักษ์สิทธิของตัวเอง และให้กระบวนการยุติธรรมได้เข้ามาตรวจสอบความถูกผิดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ฝ่ายไหนเป็นผู้กระทำความผิดกันแน่ โดยได้ฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อศาลปกครองสงขลา จำเลยที่ถูกผู้ชุมนุมยื่นฟ้อง ประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1,จังหวัดสงขลา จำเลยที่ 2 และกระทรวงมหาดไทย ที่ 3 ซึ่งตุลาการศาลปกครองสงขลาได้ตัดสินคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549 ตามคดีหมายเลขคดีที่ 454/2546 และคดีหมายเลขแดงที่ 51/2549 โดยพิพากษาสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความผิด และจะต้องจ่ายค่าเสียหายชาวบ้าน 24 รายๆ ละ 10,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยกำหนดให้ชำระภายใน 30 วัน ฝ่ายจำเลยอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดก็ได้พิพากษาตามศาลปกครองชั้นต้น แต่ลดค่าละเมิดของฝ่ายจำเลยลงมาที่ให้จำเลยจ่ายจำนวน 100,000 บาทแก่โจทก์
 คดีสุดท้ายที่ต่อเนื่องกันมาคือ คดีที่ผู้ชุมนุมได้ฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องจำเลยที่เป็นตำรวจเหล่านั้น ในกระบวนการสืบพยานโจทก์เห็นได้ชัดเจนว่า ทางฝ่ายอัยการ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความล่าช้าในคดี นายตำรวจทั้งหลายที่เดินทางมาศาลก็ไม่ยี่หระต่อความผิดที่ตัวเองได้ก่อขึ้น เพราะตั้งแต่ตกเป็นจำเลยในคดีมา 10 กว่าปี พวกเขาต่างก็ได้รับการปูนบำเหน็จเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มิได้เร่งรัดดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือผิดวินัยร้ายแรงตามกฎระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชาวบ้านได้ร้องขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กระทำตามกฎระเบียบที่มีอยู่ แต่ก็มิได้สอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการผิดกฎหมาย ผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนระเบียบ และคำสั่งของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
ตำรวจที่ตกเป็นจำเลย ในทางเป็นจริงพวกเขาถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่จะต้องถูกลงโทษ เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่าง ก.ตร.ควรที่จะเร่งพิจารณา และมีคำสั่งให้พักราชการ หรือให้ออกจากราชการชั่วคราว เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดี และเป็นธรรม แต่ก็หาได้มีการดำเนินการใดๆ แก่นายตำรวจเหล่านั้น แต่ละคนได้รับบำเหน็จเลื่อนขั้นเลื่อนชั้นกันทุกคน (ขอยืนยันว่าทุกคน) เสมือนว่าพวกเขาได้ทำความดีร่วมกับรัฐบาลที่เป็นผู้รู้เห็นในเหตุการณ์ ซึ่งก็รวมถึงนายตำรวจคนหนึ่งที่ร่วมในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในครั้งนั้นอย่างออกหน้าออกตา บัดนี้ เขาได้รับการปูนบำเหน็จความดีความชอบมาตลอด
และวันนี้ เขาก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ถึงระดับได้เลื่อนชั้นให้ขึ้นมาเป็น ผบช.น. เขาผู้นั้นมีนามว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เหตุการณ์เช่นนี้สะท้อนให้สังคมได้เห็นว่า รัฐบาลที่ชั่วร้าย กับ นายตำรวจเลวๆ ก็ยังคงอยู่กับสังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลง