xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิและเสรีภาพ vsการถอนสัญญาประกัน

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

สภาพสังคมไทยในปัจจุบันประชาชนมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดและมีการออกมาใช้สิทธิทางการเมืองมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เกิดการกระทบกระทั่งและเป็นคดีความขึ้นสู่ศาลมากขึ้นเช่นเดียวกัน คดีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญมักอยู่ในความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการขอปล่อยชั่วคราวหรือการประกันตัวบุคคลสำคัญในคดี ซึ่งการที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่อนุญาตนั้น มีหลักกฎหมายกำหนดแนวทางในการพิจารณาไว้อย่างชัดเจน

ตามหลักสากล สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นรากฐานของประชาธิปไตยที่ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยต่างให้ความสำคัญ โดยมีการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผ่านจนถึงปัจจุบันได้มีการรับรองสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยไว้เช่นกันอย่างไรก็ดีแม้ประชาชนทุกคนจะได้รับการรับรองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแต่หากมีการกระทำผิดกฎหมายก็ต้องพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตามในคดีอาญาซึ่งมีการกำหนดโทษคุมขังหรือจำคุกผู้ต้องหาหรือจำเลยอันเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รัฐธรรมนูญได้กำหนดข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้

เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกฎหมายจึงกำหนดให้มีการปล่อยชั่วคราวหรือการประกันตัว ที่หมายถึง การอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาล ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมหรือขังเป็นเวลานานเกินกว่าจำเป็นในระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาคดี เพราะหากไม่จำเป็นต้องควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ก็ควรที่จะให้ปล่อยชั่วคราวไป ตามหลักการของรัฐธรรมนูญที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้

โดยผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น บุพการี สามี ภริยา ญาติพี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้อง เป็นต้น สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวได้ หากเป็นกรณีที่กรรมการ ผู้แทน ตัวแทน หุ้นส่วน พนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคลนั้นตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยนิติบุคคลอาจเป็นผู้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวได้

เมื่อศาลพิจารณาคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวแล้วเห็นว่าเป็นกรณีสมควรให้ปล่อยชั่วคราวได้ศาลจะใช้ดุลยพินิจพิจารณาต่อไปว่าควรปล่อยชั่วคราวโดยมีหรือไม่มีหลักประกัน โดยพิจารณาความร้ายแรงแห่งข้อหา สาเหตุและพฤติการณ์การกระทำความผิด รวมทั้งบุคลิกลักษณะ นิสัย สภาพทางร่างการและจิตใจ การศึกษา การประกอบอาชีพการงาน ประวัติการกระทำความผิดอาญา สภาพและฐานะของครอบครัว และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคมของผู้ต้องหาหรือจำเลย รวมทั้งแนวโน้มที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหากพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป

การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยก่อนปล่อยไปผู้ประกันต้องลงลายมือชื่อในสัญญาประกันต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของศาล ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน

การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันต้องลงลายมือชื่อในสัญญาประกันต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของศาล และมีการวางหลักประกันไว้เพื่อที่จะสามารถบังคับเอากับหลักประกันตามจำนวนที่ระบุไว้ได้เมื่อมีการผิดสัญญา

แต่สำหรับการปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันนั้น คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยไม่ต้องทำสัญญาประกันและไม่ต้องมีหลักประกัน เพียงแต่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียกเท่านั้น

หลักประกันที่ใช้ในการขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว ได้แก่ เงินสด หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้ เช่น ที่ดินมีโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ กรรมสิทธิ์ห้องชุด พันธบัตรรัฐบาล ฉลากออมสิน เงินฝากธนาคาร เป็นต้น หรืออาจใช้บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกัน เช่น ผู้มีตำแหน่งข้าราชการ สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารราชการส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารพรรคการเมือง ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวต้องเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลยดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่กำหนดหลักประกันไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1210/2543 จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีมาโดยตลอด กับการได้รับการปล่อยชั่วคราวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกาตีราคาประกัน 300,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่2694/2553โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2540 และในวันเดียวกัน ส. ได้ใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ส. ผู้ประกันจำเลยที่ 2 ได้พ้นจากสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนสัญญาประกันและออกหมายขังจำเลยที่ 2 ระหว่างพิจารณาจึงชอบแล้ว

นอกจากนั้นในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือจะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดจากการปล่อยชั่วคราวก็ได้ โดยศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานตามที่ศาลกำหนด หรือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรหรือให้ละเว้นกิจกรรมบางอย่างที่อาจเป็นเหตุให้เกิดการกระทำผิดอีก เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3563/2545 อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาตีราคาประกัน 400,000 บาท โดยวางข้อกำหนดห้ามจำเลยที่ 1 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก่อนปล่อยตัว

แต่หากพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันไม่สมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เช่น มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี มีเหตุอันควรเชื่อว่าการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล หรือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ เป็นต้น ศาลอาจสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาประชุมใหญ่ที่ 1502/2548 ศาลพิเคราะห์แล้ว เป็นคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยยังไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา และจำเลยเคยต้องโทษในข้อหาเดียวกันมาก่อน มีเหตุอันควรเชื่อว่า หากปล่อยชั่วคราวจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาประชุมใหญ่ที่2017/2548 คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและจำเลยยังไม่ได้ยื่นฎีกา อีกทั้งได้ความตามรายงานการสืบเสาะว่า จำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์อีก 2 คดี ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะพิจารณารอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุเชื่อว่า หากปล่อยชั่วคราว จำเลยจะหลบหนี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง แจ้งเหตุผลการไม่อนุญาตให้จำเลยทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

คำสั่งคำร้องศาลอุทธรณ์ที่ 3/2548 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ร้องขอประกันเคยผิดสัญญาประกันและยังคงค้างชำระค่าปรับตามสัญญาประกันต่อศาล จึงไม่น่าเชื่อถือผู้ร้องขอประกัน ประกอบกับคดีมีอัตราโทษจำคุกสูง จึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง แจ้งเหตุผลการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยและผู้ร้องขอประกันทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

สัญญาประกันจะสิ้นสุดเมื่อคดีเป็นอันสิ้นสุด เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยตาย หรือ เมื่อผู้ประกันขอถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกันและมอบตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคืนต่อเจ้าพนักงานหรือศาล เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 308/2528 ผู้ร้องขอประกันได้มอบตัวจำเลยต่อศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว สัญญาประกันสิ้นสุดลง ชอบที่จะคืนหลักประกันให้ได้

แต่หากผู้ต้องหาหรือจำเลยมีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อให้เกิดอันตรายประการอื่นหรือข่มขู่ผู้เสียหาย พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้เสียหาย หรือโจทก์สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวและบังคับตามสัญญาประกันได้ หรือหากผู้ประกันผิดสัญญาประกันโดยไม่ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลตามนัด ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันและออกหมายจับผู้ต้องหา เช่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 1075/2510 ถึงวันนัดส่งตัวจำเลยต่อศาล นายประกันยื่นคำร้องว่าไม่สามารถนำตัวจำเลยส่งศาลได้และผู้เสียหายไม่มาศาล ดังนี้ เมื่อนายประกันไม่สามารถส่งตัวจำเลยต่อศาลได้ตามกำหนด ต้องถือว่านายประกันผิดสัญญาประกัน

การปล่อยชั่วคราว เป็นสิทธิที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถร้องขอได้ แต่การสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้น เป็นการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีของศาล ที่ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งคดีและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยควรได้รับประกอบกับผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นหากผู้ต้องหาหลบหนีหรือไปกระทำผิดกฎหมายอีก เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีในสังคม และแม้จะได้รับการปล่อยชั่วคราวแต่หากผู้ต้องหาหรือจำเลยผิดสัญญาประกัน พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้เสียหาย หรือโจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้

สราวุธ เบญจกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น