xs
xsm
sm
md
lg

"โรฮิงญา"ร้องกสม.ช่วย หวั่นถูกส่งตัวกลับพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 16 ม.ค.) สมาคมโรฮิงญาประเทศไทย (บีอาร์เอที) นำโดย นายวินัย สะเล็ม ชาวโรฮิงญา พร้อมคณะรวม 10 คนได้เข้ายื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ผ่านน.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ขอให้ช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ที่ถูกจับกุม ที่ จ.สงขลา เพื่อไม่ให้ถูกส่งกลับประเทศพม่า โดย น.พ.นิรันดร์ ได้ขอให้ทางสมาคมฯ รวบรวมปัญหาของชาวโรฮิงญาที่อยู่ในประเทศไทย เฉพาะอย่างยิ่ง หากทราบว่าใคร ข้าราชการคนไหน ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยตนจะเป็นตัวแทนซักถามปัญหาต่างๆในการประชุมวันที่ 28 ม.ค. เวลา 13.00 น. ซึ่งได้มีหนังสือเชิญ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ารับฟัง และหาทางออก ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สภาความมั่นคง(สมช.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) สถานทูตต่างๆ ที่สนใจ
ทั้งนี้ประเด็นที่จะหารือประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก คือ หลักประกันการส่งชาวโรฮิงญากลับประเทศพม่า ว่าจะมีความปลอดภัย ไม่ถูกละเมิดสิทธิ หรือถูกทำร้ายถึงขั้นเสียชีวิตอย่างเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา และแนวนโยบายที่จะดำเนินการกับชาวโรฮิงญา ที่อพยพและถูกจับกุมที่ประเทศไทย ระหว่างเดินทางไปประเทศที่สาม ซึ่งปัญหานี้ เห็นว่าเป็นเรื่องระดับภูมิภาคที่ต้องพูดคุยร่วมกันในการหาทางออก
"กรรมการสิทธิไม่เคยเห็นด้วยกับแนวทางการส่งชาวโรฮิงญากลับพม่า เพราะพม่าประกาศว่า ชาวโรฮิงญาไม่ใช่ประชาชนของเขา ถ้าส่งกลับไปก็เหมือนส่งไปตกนรก รวมทั้งการอพยพของชาวโรฮิงญา ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มค้ามนุษย์ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อป้องกันชาวโรฮิงญา ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ และตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ โดยระหว่างนี้ทางกรรมการสิทธิก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปช่วยเหลือในด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว" นพ.นิรันดร์ กล่าว

** กอ.รมน.ยันยึดหลักมนุษยธรรม

ด้าน พล.ท.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษก กอ.รมน. กล่าวถึงกรณีชาวโรฮิงญา ที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยว่า ชาวโรฮิงญาทั้งหมด ต้องการเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 ช่วงที่ผ่านมาไทยได้สกัดกั้น และปฏิเสธการเข้าเมืองของชาวโรฮิงญา ตามพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล หลักมนุษยธรรม และพันธกรณีระหว่างประเทศ ตลอดจนได้ให้การช่วยเหลือตามหลักการปฏิบัติ และ แนวทางการปฏิบัติต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล โดยเน้นหลักมนุษยธรรม และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
พล.ท.ดิฏฐพร กล่าวต่อว่า แม้ว่าองค์กรระหว่างประเทศ จะพยายามยื่นมือเข้าช่วยเหลือเพื่อยุติปัญหา สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ ยังคงไม่ปกติ ทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญา ยังคงหลบหนีเข้ามายังประเทศไทย เพื่อพักพิง และเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับช่วงพ.ย.- เม.ย. ของทุกปี เป็นช่วงปลอดมรสุม ด้วยเหตุนี้ในปี 55 จึงมีผู้อพยพชาวโรฮิงญา เข้ามายังประเทศไทยโดยทางเรือจำนวนราวๆ เกือบ 3,000 คน ซึ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ จนเมื่อต้นเดือน ม.ค. 56 กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ จ.สงขลาและฝ่ายปกครอง ได้ช่วยเหลือผู้อพยพดังกล่าว จากการกักขังของกลุ่มที่เชื่อว่าเป็นขบวนการนำพา เป็นจำนวน 800 กว่าคน และได้ให้การช่วยเหลือเรื่องอาหาร และสิ่งของจำเป็นตามหลักปฏิบัติ และแนวทางการปฏิบัติต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล หลังจากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่จะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พล.ท.ดิฏฐพร กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กอ.รมน. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมติที่ประชุมมีดังนี้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบให้ดำเนินการตามหลักปฏิบัติและแนวทางการปฏิบัติต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล และเน้นย้ำเรื่องสิทธิมนุษยชน เตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ เบื้องต้นสมช.รวบรวมความต้องการงบประมาณ ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของส่วนราชการ เพื่อขอใช้งบกลางอย่างเร่งด่วน มาตรการระยะสั้น ดูแลให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ตามหลักมนุษยธรรม และคัดกรองชาวโรฮิงญาที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการนำพา เพื่อส่งกลับประเทศต้นทาง หรือประเทศที่ 3 ทั้งนี้การดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และหลักกติกาสากล วางมาตรการระยะยาว กระทรวงการต่างประเทศ เจรจากับประเทศต้นทางและหารือกับองค์การระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

** ให้"เหลิม"ล่าแก๊งค้ามนุษย์

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวถึงการช่วยเหลือและผลักดันชาวโรฮิงญาที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย ว่า มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอยู่หลายหน่วย รวมถึงกองทัพเรือ ตำรวจน้ำ ซึ่งดำเนินการด้วยความมีมนุษยธรรม ถ้าเจอในอาณาเขตของไทย ก็ต้องแนะนำว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็ต้องดูแลตามกติกา และหาทางช่วยเหลือไปประเทศที่สามต่อไป
ส่วนที่มีการมองว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ที่พาชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศไทยนั้น จากเท่าที่ทราบข่าว มีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำลังติดตามจับอยู่ ถ้าพบว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดกระทำผิด ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะไม่น่าไปหากินกับความทุกข์ยากของพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดี และตนคิดว่าองค์กรนานาชาติ ควรจะเข้ามาเป็นตัวกลาง ช่วยจัดการให้มากขึ้น ในการหาประเทศที่สาม เพื่อรองรับ โดยพูดคุยว่าประเทศใดต้องการบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น