xs
xsm
sm
md
lg

สอท.จี้รัฐบาลทบทวนมาตรการอุ้มเอสเอ็มอี-300ลามเมกะโปรเจ็กต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- มาร์คชี้พิษค่าแรง จะกระทบรบ.เอง “ส.อ.ท.”หารือร่วมกระทรวงแรงงานวันนี้ หวังผลักดันรัฐทบทวนมาตรการช่วยเอสเอ็มอี แนะวิธีเดียวจบ! จัดงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาททยอยชดเชยส่วนต่าง 3 ปีระยะยาว “บุรีรัมย์” ลุยตรวจโรงงานหวั่นลอบจ้างแรงงานเถื่อน มั่วรับ300 บาท

วานนี้ (10 ม.ค.) เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ออกตรวจโรงงาน และสถานประกอบการในเขตอ.เมือง เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสจ้างแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมาย หลังจากรัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งจากการออกสุ่มตรวจตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมจนถึงขณะนี้ สามารถตรวจจับแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาได้ 2 ราย และจากข้อมูลสถิติปี 2555 ตรวจจับแรงงานต่างด้าวสัญชาติ กัมพูชา พม่า และลาว ที่ลักลอบเข้ามาทำงาน 52 คน ส่งใตำรวจท้องที่ดำเนินคดีและผลักดันกลับประเทศแล้ว

นายจิมมี่ ซอ กรรมการผู้จัดการสิริ รีสอร์ต กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และบริการพักห้องพัก ต่างได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เห็นได้จากสิริ รีสอร์ต นอกจากต้องแบกรับภาระค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากเดือนละไม่ถึง 1 แสนบาท เป็นเดือนละกว่า 1.5 แสนบาทแล้ว ยังต้องรับภาระค่าไฟฟ้า อาหาร เครื่องดื่มที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงอาจต้องปรับราคาห้องพัก ที่จากปกติคืนละ 450 บาทขึ้นอีกเพื่อความอยู่รอด

"ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำโครงการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้กับผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องจากผลการปรับขึ้นค่าแรง เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ลดปัญหาการเลิกจ้างแรงงานและปิดกิจการ ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างได้"

**สินค้าทยอยขึ้นราคาตามค่าแรง

ที่ตลาดสเทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นายอดิศักดิ์ รัตนเศรษฐากุล ผู้จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใช้ในการประกอบอาหารระบุว่า ตั้งแต่หลังปีใหม่เป็นต้นมาสินค้าเริ่มทยอยปรับขึ้นราคาราว 10-20% ของผลิตภัณฑ์ที่นำมาวางจำหน่ายทั้งหมด โดยผู้ค้าส่งบอกสาเหตุเพราะโรงงานผู้ผลิตปรับราคาหลังมีการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลงคือกลุ่มน้ำมันพืช และที่ผู้ค้าหลายรายในตลาดนี้ระบุตรงกันคือ ยอดการจำหน่ายสินค้าทุกชนิดลดลงอย่างมาก เพราะผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงเพราะสินค้ามีราคาแพงขึ้น รวมทั้งมีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ขยายสาขามาแย่งลูกค้าทำให้ยอดการขายสินค้าในปีที่ผ่านมาตกลงมากกว่าช่วงที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 เสียอีก

พร้อมคาดว่าสถานการณ์ค้าขายจะทรงตัวเช่นนี้ไปอีกนาน ด้านผู้บริโภคระบุถึงการใช้จ่ายในภาวะสินค้ามีราคาแพงปัจจุบันต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 20-30% เพื่อให้ได้ของใช้เท่าเดิม จึงต้องลดการซื้อของต่างๆ ลงเพื่อให้มีเงินเพียงพอใช้ในแต่ละเดือน

นายปัญญา สัมพะวงศ์ รักษาการการค้าภายในจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงราคาสินค้าทั่วไปว่า ขณะนี้ยังอยู่ในภาวะปกติ สำหรับที่มีการกล่าวถึงการขึ้นราคาสินค้าบางชนิด เช่น น้ำตาลทราย น้ำปลา หรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ สินค้าในหมวดนี้ปกติผู้จำหน่ายจะขายสินค้าราคาต่ำกว่าราคาป้ายที่ติดจากโรงงานเมื่อมีการปรับราคาขึ้นมาเล็กน้อย และผู้ขายปลีกได้ขึ้นราคาจำหน่ายแต่ไม่เกินราคาที่ติดไว้ที่ป้ายของสินค้าผู้ค้าสามารถทำได้โดยไม่มีความผิด สำหรับการช่วยเหลือผู้บริโภค ได้ซื้อสินค้าราคาถูกตามนโยบายของกรมการค้าภายใน ในวันที่ 11-13 ม.ค. ขบวนคาราวานสินค้าธงฟ้าจะนำสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น เนื้อสุกรชำแหละ ไข่ไก่วางจำหน่ายที่อำเภอเหล่าเสื้อโก้ก โดยหมูเนื้อแดงราคากิโลกรัมละ 100 บาท ไข่ไก่เบอร์ 3 ถาดละ 80 บาท และจัดหมุนเวียนไปจำหน่ายในอำเภอต่างๆ ตลอดไปด้วย

**ค่าแรง 300 ทำแรงงานพม่าทะลักตาก

นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า ส่งผลให้ชาวพม่าที่มาขายแรงงานในประเทศไทย และแรงงานพม่าในเขตชายแดน ทั้งที่ถูกกฎหมายและแรงงานเถื่อน เดินทางเข้าพื้นที่ชั้นในมากขึ้น ซึ่งสามารถจับกุมได้อยู่เรื่อยๆ ส่วนการจ่ายค่าแรงวันละ 300 บาทนั้นมีผลกระทบจริง โดยผู้ประกอบการร้องขอไปยังรัฐบาลให้ออกมาตรการช่วยเหลือแล้ว

"ความเป็นจริงแล้วสถานประกอบการที่มีความเป็นมาตรฐานไม่มีปัญหาอะไร เพราะทุกวันนี้ก็จ่ายมากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว เนื่องจากมีทั้งอาหาร ที่พัก และสวัสดิการให้ด้วย อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าหากสถานประกอบการที่มีการบริหารจัดการที่ดี การจ่ายค่าแรงงานวันละ 300 บาทก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไร"

**มาร์คชี้พิษค่าแรง จะกระทบรบ.เอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อาการนโยบายดังกล่าววันนี้เริ่มจะคล้ายอาการเรื่องของแพงปี 2555 เพราะรัฐบาลเริ่มตั้งแง่แล้วว่ามันเป็นปัญหาจริงหรือเปล่า เช่นเดียวกับปีที่แล้วที่บอกว่าประชาชนคิดไปเอง แต่ตอนหลังก็ยอมรับและต้องวิ่งหามาตรการมาแก้ปัญหา ส่วนการปิดกิจการนั้นจะบอกว่ามีสาเหตุมาจากนโยบายดังกล่าวอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เพราะก็มีการปิดและเปิดกิจการเป็นปรกติ แต่คนที่มีสามัญสำนึก หรือคนที่เคยทำธุรกิจหากไปถามว่าต้นทุนเพิ่มขึ้น 10% ในระยะเวลาสั้นนั้นต้องกระทำอยู่แล้ว ซึ่งหลายโครงการของรัฐบาลที่ตั้งงบเอาไว้นั้น ถ้าไม่มีการมาทบทวนนโยบายค่าแรง 300 บาท ตนเชื่อว่าโครงการเหล่านั้นจะทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครสามารถทำได้ในราคาที่กำหนดเอาไว้ หลังจากต้นทุนสูงขึ้นชัดเจน โดยมีการเพิ่มขึ้น 7-80% ในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น

“รัฐบาลอย่าเสียเวลากับการมาหาแง่มุมในการโต้แย้ง แต่รัฐบาลควรเอาเวลาไปคิดแก้ปัญหาดีกว่า ถ้าคิดไม่ออก ภาคเอกชนเขาคิดออกแล้วก็เอาไปดู แต่รัฐบาลต้องเร่งทำ ก่อนที่จะมีการเลิกกิจการ ปลดคนงานมากไปกว่านี้ แล้วก็เกิดเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมตามมา ซึ่งการที่รัฐบาลยืนยันว่าไม่มีปัญหา ไม่ทำมาตรการเพิ่มเติมนั้น รัฐบาลจะรับผิดชอบหรือไม่ ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น”

**รมว.อุตเผย3เดือนรู้ค่าแรงกระทบอุต

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รวบรวมรายชื่ออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานให้ทราบแล้วโดยวันพรุ่งนี้จะได้รายชื่อของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรม น่าจะทราบได้ ในอีก 2 - 3 เดือน นอกจากนั้น นโยบายดังกล่าวเพิ่งมีการประกาศใช้

**จี้เอกชนเลิกกดค่าแรงลูกจ้างรับค่าแรง300

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณากระทู้ถามสด เรื่อง มาตรการเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจและผู้ใช้แรงงานจากผลกระทบของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ300บาท ของนางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ สส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ถาม

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ชี้แจงว่า ตั้งแต่รัฐบาลมาเข้ารับหน้าที่เมื่อกลางปี 2554 ประเทศต้องประสบปัญหากับน้ำท่วม ทำให้นโยบายบางนโยบายต้องเคลื่อนออกไปเพราะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากปัญหานี้รัฐบาลได้มีมาตรการออกมาแล้ว เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30%เหลือ 23% และในปี2556 จะเหลือ 20% เป็นต้น

นายทนุศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตามข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่าในปี 2554 ที่ยังไม่มีมาตรการค่าแรง 300 บาทมีการขยายกิจการมากกว่า 500ราย และปี 2555 หลังจากมีนโยบายดังกล่าวออกมาก็พบว่าการขยายกิจการเพิ่มขึ้นมากกว่า 400 ราย ส่วนการเลิกกิจการในปี 2554 มีการเลิกกิจการ 1,366 ราย ขณะที่ปี 2555 1,310 ราย ดังนั้น แสดงให้เห็นว่านโยบายไม่ได้สร้างปัญหาและคงจะเป็นการบอกที่เร็วเกินไปว่าในปี 2556 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือบริษัททั้งจะเดือดร้อนมากมายอย่างที่เป็นห่วงกัน

**ยันรง.ปิดตัวไม่ใช่พิษค่าแรง ชี้ปัจจัยภายใน

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงแต่ละครั้งไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวเพราะต้องมาจากคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย รัฐบาล ลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งก็ได้ตกลงกันมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับข้อเท็จจริงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาเสนอจนเป็นมติออกมาที่เห็นด้วยว่าควรใช้นโยบาย 300 บาท

"วันนี้เราอาจยึดติดกับข้อมูลเก่าๆที่บอกว่าผู้ประกอบการต้องแย่แน่ ซึ่งจริงๆไม่ใช่รัฐบาลก็ได้ให้ความช่วยเหลือทุกฝ่ายมาตลอด และรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการอย่างฉุกละหุก ท่านครับรู้ล่วงหน้ามาตั้งแต่พรรคเพื่อไทยจะมาเป็นแล้วว่านโยบาย 300 บาทมีแน่นอน การเตรียมตัวมีมาแล้วมากกว่า1ปี จะบอกว่าผู้ประกอบการนั้นไม่รู้ตัวก็ไม่ใช่วันนี้มีข้อมูลที่ชัดเจนแล้วว่าท่านรู้และไม่ได้รู้เปล่าด้วย เพราะ1เม.ย.2555 ขึ้นมารอบหนึ่งแล้ว และก่อนการประกาศวันที่ 1 ม.ค.2556 ก็ได้มีการประชุมร่วมภาคเอกชนมาแล้วหลายครั้งซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคาร ก็เข้าประชุม" นายเผดิมชัย กล่าว

นายเผดิมชัย กล่าวว่า อย่างกรณีการปิดกิจการของบริษัทวีนาการ์เม้นต์ จำกัด จ.สระบุรี ผู้ผลิตชุดชั้นในนั้นเป็นเพราะการประกอบธุรกิจของเขาลดน้อยถอยลงไปหลังจากประกอบกิจการมานานกว่า 10 ปี และปิดกิจการตั้งแต่ 19 ธ.ค.2555 เนื่องจากกำลังซื้อจากต่างประเทศไม่มี

"เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมของการทำธุรกิจว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยน ภายใน 2 ปีจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ควรแสวงกำไรเฉพาะกับการประกอบธุรกิจแต่ไม่ใช่แสวงหากำไรจากลูกจ้าง ไม่ใช่เอาค่าแรงถูกๆลูกจ้างอยู่ไมได้ แต่ตัวเองอยู่ได้ รัฐบาลไม่ใช่ไม่ช่วยรัฐบาลก็ช่วยเหลือตลอด" นายเผดิมชัย กล่าว

** ชง กมธ.พัฒนา ศก.เรียกผู้เกี่ยวข้องชี้แจง

นายชนินทร์ รุ่งแสง ประธานกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวว่า ในวันพุธที่ 16 ม.ค.นี้ ทางกรรมาธิการได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรม เพื่อเข้าชี้แจงและหาทางเพื่อช่วยเยียวยาภาคเอกชน เพราะการทำงานของรัฐบาลในตอนนี้เหมือนเป็นการแต่งหน้าศพ และการโยนบาปไปให้กับเจ้าของกิจการ เช่นการระบุว่าภาคเอกชนต้องปิดกิจการ เนื่องจากไม่มีออเดอร์และลูกค้า โดยที่รัฐบาลไม่คำนึงว่า การที่กิจการต้องประสบกันปัญหาเช่นนี้เพราะว่าต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ โดยการที่รัฐบาลออกมาบอกว่า ให้ภาคเอกชนปรับตันนั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

**ส.อ.ท.จี้รัฐทบทวนมาตรการรับมือค่าแรง

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 11 ม.ค.นี้จะเข้าพบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงานในโอกาสขึ้นปีใหม่พร้อมกับจะหารือถึงมาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ในการลดผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันที่เป็นยาแรงคือการที่รัฐควรจัดหางบประมาณมาจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าแรงที่ปรับขึ้นซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากมาตรการที่รัฐออกมาช่วยเหลือ 15 มาตรการนั้นไม่ตอบโจทย์การช่วยเหลือแต่อย่างใด

“ เราพบว่าใน 15 มาตรการที่ครม.อนุมัติเมื่อเร็วๆนี้นั้น 11 มาตรการเป็นของเก่าที่มีการขยายเวลาจากการช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วม ขณะที่เหลือเป็นเรื่องของธุรกิจท่องเที่ยว และที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเป็นเรื่องการให้กู้ยืมเงินอบรมฝีมือแรงงาน จัดคลินิกอุตฯ และการจัดคาราวานขายสินค้าราคาถูกให้กับลูกจ้างในสถานที่ประกอบการ ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรเลย และเป็นเรื่องของระยะกลางและยาว ขณะที่รัฐเองก็มีการจัดงบประมาณในการจำนำข้าว มีนโยบายลดภาษีให้รถคันแรกได้ การจัดงบมาจ่ายชดเชยส่วนต่างที่จะทำให้เอสเอ็มอีอยู่รอดด้วยเงินเพียงน้อยนิดทำไมจึงไม่ทำ ”นายวัลลภกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างการขึ้นค่าแรงคือปี 2556 นายจ้างจ่าย 25% รัฐบาลจ่ายชดเชย 75% ปีแรกจะใช้เงินราว 2.4 หมื่นล้านบาท ปี 2557 นายจ้างจ่าย 50% รัฐบาลจ่าย 50% ใช้เงิน 1.8 หมื่นล้านบาท และปี 2558 นายจ้างจ่าย 75% รัฐบาลจ่าย 25% จะใช้เงินอีกราว 7 พันล้านบาท ซึ่งวิธีนี้จะชะลอการปลดพนักงานและเลิกกิจการได้ผลมากสุดและยังทำให้เอสเอ็มอีมีเวลาปรับตัวใน 3 ปีก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ปี 2558

สำหรับเงื่อนไขที่จะช่วยเหลือจะเป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ใน 70 จังหวัดเท่านั้น และจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบสวัสดิการสังคม กรณีเอสเอ็มอีที่มีความสามารถในการจ่าย 300 บาทต่อวันก็จะไม่ให้ ซึ่งวิธีนี้ระยะยาวรัฐมีแต่ได้และคุ้มค่าที่เงินจะจ่ายไปเพราะเมื่อเอสเอ็มอีเข้าระบบมากขึ้นรัฐก็จะมีเงินเข้าสู่ระบบประกันสังคมที่เพิ่มเติม และพนักงานก็จะใช้ระบบประกันสังคมรัฐจะสามารถลดภาระหาเงินอุดหนุนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคได้ และที่สำคัญคลังจะมีรายได้เพิ่มจากการที่จะมีเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบฐานภาษีที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผลกระทบค่าแรง 300 บาทต่อวันนั้นการปรับตัวของธุรกิจลำดับแรกคือการปลดพนักงานที่ไร้ฝีมือออกในส่วนของต่างจังหวัด เช่น กรณีธุรกิจเครื่องนุ่งห่มนั้นจะมีพนักงานที่แบ่งเกรด A B C D ขณะนี้ก็จะเริ่มตัดคนที่เป็นเกรด D ออกก่อนหลังจากนั้นจะมองไปที่ C เพื่อที่จะให้เหลือคนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและบางส่วนการผลิตหากมีโรงงานในกรุงเทพฯก็จะดึงกลับมาผลิตเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง และยืนยันว่าอุตฯสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่มีการปรับตัวมา 5-6 ปีแล้วแต่เอสเอ็มอีอุตสาหกรรมอื่นๆ คิดว่ายากที่จะให้ปรับตัวในระยะสั้นนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น