xs
xsm
sm
md
lg

จ่อปิดรง.เซ่น300เพียบ-โคราชเจ๊งแล้ว6แห่ง-ครึ่งปีตกงาน3.5แสนคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ค่าแรง 300 บาทพ่นพิษ โคราชเจ๊งแล้ว 6 แห่งเลิกจ้าง 800 คน ขณะที่อีกหลายจังหวัดทยอยปิดตัว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจี้รัฐบาลเร่งคลอดมาตรการช่วยเหลือด่วน! โรงงานเซรามิกอ่วมหนัก แบกต้นทุนเพิ่ม 2 เด้งทั้งค่าแรงและแอลพีจี “กิตติรัตน์” แถ! ไม่มีนายจ้างปิดกิจการเซ่นค่าแรง 300 บาท เตรียมนำข้อเสนอช่วยเหลือผู้ประกอบการ เข้าครม. 8 ม.ค.นี้ ปชป.พยากรณ์ครึ่งแรกปีนี้คนตกงานกว่า 3.5 แสนคน

นางอัษฎาลักษณ์ อินทรกําแหง ณ ราชสีมา สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่าในช่วงปลายปี 2555 มีกิจการที่ทนแบกรับภาระการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันไม่ได้ ประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง จึงได้ทยอยปลดพนักงานครั้งละ 100-200 คน และในที่สุดก็ปิดกิจการ จากข้อมูลพบว่ามีโรงงานที่ปิดตัวไปก่อนสิ้นปี 2555 ประมาณ 5-6 แห่ง เลิกจ้างงานกว่า 800 คน เป็นกิจการประเภทสิ่งทอ ผลิตรองเท้า ผลิตเสื้อผ้าเด็กอ่อน และโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อ.พิมาย อ.ด่านขุนทด อ.ปักธงชัย และอ.เมือง ซึ่งผู้ประกอบการยินดีจ่ายเงินชดเชย

"ในจำนวนนี้มีกิจการขนาดใหญ่ที่ปิดตัวไปเมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา คือ บริษัท โคราช-เดนกิ จำกัด โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของชาวญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี อ.เมือง เลิกจ้างล็อตสุดท้ายกว่า 600 คน หลังจากทยอยปลดมาอย่างต่อเนื่อง"

ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีสถานประกอบการประเภทอุตสาหกรรม 8,452 แห่ง ลูกจ้างรวม 207,725 คน โดยกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ สถานประกอบการที่จ้างแรงงานตั้งแต่ 1-99 คน มีทั้งสิ้น 8,190 แห่ง มีลูกจ้างรวม 75,173 คน กลุ่มนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุด ส่วนกลุ่ม 2 คือ มีลูกจ้างตั้งแต่ 99 คนขึ้นไป 262 แห่ง ซึ่งเป็นกิจการขนาดใหญ่ ลูกจ้าง 132,552 คน มีความเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่มแรก แต่ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจการผลิต และตลาดส่งออกด้วย หากเป็นตลาดแถบยุโรปอาจมีปัญหาคำสั่งซื้อ ซึ่งถือว่าน่าห่วงเช่นกัน

ด้านนายพากร วังศิลาบัตร รองประธานสายงานแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่มีมาตรการใดๆ เข้ามาช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันคาดว่าภายในเม.ย. 56 จะเห็นธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)จำนวนมากทยอยปิดกิจการลง เพราะไม่สามารถแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นได้เนื่องจากเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีกำไรต่ำเมื่อค่าแรงขึ้นทำให้ต้นทุนสูงจนแทบไม่มีกำไรและการปรับราคาสินค้าทำได้ยาก

“ผมไม่เข้าใจว่าในเมื่อรัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันและคงระดับนี้ไปจนถึงปี 2558 ทำไมรัฐไม่เลือกที่จะค่อยๆ ทยอยขึ้นเพื่อให้ภาคธุรกิจปรับตัวเองได้เพราะตอนนี้ต้นทุนรอบด้านทั้งค่าแรง ค่าไฟ วัตถุดิบ ขึ้นหมด ทำอย่างนี้เหมือนต้องการให้เอสเอ็มอีเราอยู่ไม่ได้และถึงตอนนั้นลูกจ้างเองก็ลำบาก ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐควรจะมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือเร่งด่วนไม่เช่นนั้นเอสเอ็มอีคงไปไม่รอด”นายพากรกล่าว

ปัจจุบันผู้ประกอบการโดยเฉพาะที่เป็นเอสเอ็มอีมีการปรับตัวรองรับผลกระทบเบื้องต้นมาระยะหนึ่งแล้วโดยจะพิจารณาให้ลูกจ้างที่มีอยู่ทำงานให้มีประสิทธิภาพสามารถเพิ่มผลผลิตให้ได้เพื่อลดการรับแรงงานใหม่ รวมถึงการตัดการทำงานล่วงเวลาลง และหากสายการผลิตใดสามารถปรับไปใช้เครื่องจักรแทนคนก็ปรับเปลี่ยน และที่สุดเมื่อเห็นว่าทุกอย่างได้ดำเนินการจนหมดแล้วยังไม่สามารถแบกรับภาระได้ก็คงต้องปิดกิจการ ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการรอเวลาปรับตัวซึ่งเชื่อว่าภายในมี.ค. 56 ก็คงจะรู้ผลว่าจะสามารถประคองกิจการได้ต่อไปหรือจำเป็นต้องปิดตัวลง

นายอำนาจ ยะโสธร เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก ส.อ.ท. กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนั้น ต้องยอมรับว่าบางธุรกิจแม้จะเป็นเอสเอ็มอีก็ต้องจ่ายมากกว่า 300 บาทต่อวันเพราะหาแรงงานไม่ได้ และซ้ำร้ายหากรัฐบาลขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนภายในกลางปีนี้เชื่อว่าจะยิ่งทำให้เอสเอ็มอีเซรามิกต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้นแน่นอนเนื่องจากที่อยู่รอดได้ส่วนหนึ่งรัฐบาลได้ผ่อนผันให้ใช้แอลพีจีถัง 48 กิโลกรัมได้ 20 ถังหรือไม่เกิน 1,000 กก.

“ปีนี้ถือเป็นปีที่ยากลำบากสุดของอุตฯเซารมิกเพราะต้องเจอต้นทุน 2 เด้งทั้งค่าแรง 300 บาทต่อวันและจะยังต้องเตรียมตัวรับกับการปรับขึ้นแอลพีจีอีก ซึ่งก่อนหน้านี้แอลพีจีภาคอุตสาหกรรมได้ปรับราคาไปก่อนแล้วแต่รัฐอนุโลมให้ใช้ถังขนาด 48 กก.ได้ 20 ถังในราคาครัวเรือนแต่ต่อไปราคาครัวเรือนก็จะปรับขึ้นเราก็จะลำบากมากขึ้นอีก”นายอำนาจกล่าว


**คนวีณาการ์เมนต์ขู่ยกพลบุกกรุง

นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า กรณีพนักงานบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นใน อ.วิหารแดง กว่า 200 คนชุมนุมประท้วงบริษัทที่ประกาศปิดโรงงานเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2555 เนื่องจากได้รับผลกระทบนั้น ทางเจ้าของโรงงานยืนยันว่าจะจ่ายเงินเดือนที่ค้างให้วันที่ 5 มกราคมนี้ ส่วนเงินชดเชยได้เสนอให้เขียนคำร้อง คร.7 เพื่อขอรับการชดเชยค่าจ้างตามกฎหมายต่อไป หากมีการผิดเงื่อนไข ทางพนักงานจะรวมตัวเพื่อกดดัน โดยจะเดินทางมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อขอพบรมว.เผดิมชัย สะสมทรัพย์


**หลายจังหวัดทยอยปิดโรงงาน

นายกรุณา แก้วน้อย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า มีโรงงานปิดตัวแล้ว 2 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา คือ บริษัท อิสบอร์ด อินดัสตรี จำกัด ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออก พนักงาน 471 คน และบริษัท โกลบอล ฮาร์เนส เทคโนโลยี จำกัด ประกอบชิ้นส่วนสายไฟฟ้า พนักงาน 254 คน ทั้งสองแห่งจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย พนักงานตกงานรวม 725 คน เช่นเดียวกับที่จ.ขอนแก่น ซึ่งมีรายงานว่าโรงงานผลิตตุ๊กตาเซรามิกแห่งหนึ่งปรับลดพนักงานออกไปกว่า 100 คนเมื่อเดือนธันวาคม และสิ้นเดือนมกราคมจะปรับลดอีก คาดว่าสิ้นเดือนมีนาคมนี้จะปิดกิจการ เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าแรงได้

นายยุทธกิจ มานะจิตต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เอสเอ็มอีหลายรายต้องเปลี่ยนระบบการจ้างงานเป็นการจ้างเหมาแทน และอาจเปลี่ยนจากจ้างเหมารายเดือนมาเป็นรายชิ้นเพื่อความอยู่รอด หรือซื้อเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานคน ด้านนางนฤมล ขรภูมิ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง ยืนยันว่า ช่วง 1-2 เดือนนี้จะมีเอสเอ็มอีปิดกิจการกว่า 20 ราย เลิกจ้างกว่า 1,000 คน
ล่าสุดบริษัท นางรองแอพพาเรล จำกัด ตั้งอยู่ถนนสายโชคชัย - เดชอุดม ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และบริษัท โรงงานเสื้อผ้าชุมชน ตั้งอยู่ ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือตัดเย็บเสื้อผ้า ได้เลิกจ้างพนักงานแล้วจำนวน 120 คน สืบเนื่องจากผลพวงของการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท

**'มัลลิกา'ชี้ครึ่งปีคนตกงาน3.5แสนค่าแรง300

น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประชาชนจะรอความหวังจากรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงไม่ได้นอกจากคำขวัญเก๋ ๆ แต่ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้ ปีนี้จึงเป็นปีเผาจริงไม่ใช่เผาหลอก 16 นโยบายประชานิยมจะเป็นวิกฤตในปีนี้ นับตั้งแต่เดือนนี้ไปประชาชนจะทยอยมีปัญหาเรื่อย ๆ

สถิติของกระทรวงแรงงานเองพบว่ายอดผู้ตกงานจากผลกระทบค่าแรง 300 บาท เพิ่มจาก 2.5 แสนคน เป็น 3.5 - 4 แสนคน โดยเริ่มเกิดปัญหาในหลายจังหวัดแล้ว โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับเลย และกระทรวงแรงงานฯก็เยียวยาช้า ไม่มีทางออกไร้อาชีพรองรับ และยังมี 400 แห่งของโรงงานที่มีความเสี่ยงอีกทั่วประเทศ

ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องนายกฯให้หยุดเรื่องอื่นไว้ก่อน ทั้งแก้ รัฐธรรมนูญ และเรื่องของกระทรวงกลาโหม ขอให้มีวอร์รูมเฉพาะในการแก้ปัญหา โดยหารือร่วมกับภาคเอกชน องค์กรแรงงาน และนำข้อมูลจากกรรมาธิการเกี่ยวกับเศรษฐกิจของวุฒิสภาและส.ส.ที่วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และขอให้ประชาชนพึ่งตนเองยึดแนวพระราชดำรัส"พอเพียง"ของในหลวงดำเนินชีวิต

**ปูถกสถานการณ์ศก.ร่วม9 กระทรวง

วานนี้ (3 ม.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อติดตามวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปนัดแรกของปี 2556 ร่วมด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีเศรษฐกิจอีก 8 กระทรวง รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาวิกฤติยูโรโซน และผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ หลังจากที่ส.อ.ท.เผยผลกระทบภาคธุรกิจประมาณร้อยละ 5-10 จะปิดกิจการภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพราะทนแบกรับค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาท ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการ เนื่องจากรัฐบาลได้มีการหารือกับทางสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าแล้ว และการเพิ่มขึ้นของค่าแรงค่าจ้างทั่วประเทศไม่ใช่เป็นประเด็นใหม่เพราะว่า เป็นมติของคณะกรรมการไตรภาคีในเรื่องของค่าจ้างมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้วๆ ดังนั้นภาคเอกชนคงมีการเตรียมการกันแล้ว

ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 8 ม.ค.จะมีการนำมาตรการที่ภาคเอกชนเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณาซึ่งจะมี มากกว่า10มาตรการ และเชื่อว่าข้อเสนอส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้อเสนอที่จะได้รับความ เห็นชอบจากครม.และจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวในช่วงนี้ได้
มีรายงานว่า จะมีการนำเงินภาษี และเงินกู้ ไปอุ้ม SME 3 ปี วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท สำหรับดำเนินการใน 3 ปี ระหว่างปี 2556-2558 แบ่งเป็น -ปี 2556 วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท, ปี 2557 วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท และปี 2558 วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น

**'เผดิมชัย'ชี้รง.ปิดกิจการไม่เกี่ยวขึ้นค่าแรง

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีบางบริษัทอ้างว่าจำเป็นต้องปิดกิจการเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศความเป็นจริงแล้ว เป็นปัญหาของตัวบริษัทเอง อาทิ ไม่มีออเดอร์เข้ามา ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท
อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) ไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับสถานประกอบการในจังหวัดต่างๆโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีใน 29 จังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดดเช่น พะเยา น่าน ศรีสะเกษ เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลได้ขยายเวลาการใช้ 11 มาตรการ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล การอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน การปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องออกไปอีก 1 ปีตลอดปี 2556

นอกจากนี้ ตนจะหารือรมว.คลังในฐานะประธานคณะกรรมการฯเกี่ยวกับการออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติมโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีในวันที่ 4 มกราคมนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในเดือนมกราคมนี้

**บ.ผลิตชุดชั้นในปิดกิจการไม่เกี่ยว300

นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีพนักงานบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ที่ปิดกิจการโดยไม่แจ้งล่วงหน้าว่าเกิดจากบริษัทฯประสบภาวะขาดทุน ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่ใช่ปัญหาการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน
ส่วนกรณีที่ส.อ.ท.แจ้งผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ทำให้โรงงานผลิตรองเท้าปิดกิจการไป 30 แห่งนั้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานเข้มข้นเช่น รองเท้า สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มมีปัญหาในการดำเนินการกิจการมาเป็นระยะและทยอยปิดตัวไปเงียบๆก่อนปรับขึ้นค่าจ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น