ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ค่าแรง 300 บาททั้งแผ่นดินแผลงฤทธิ์! ทำ รง.โคราชเจ๊งปิดตัวแล้ว 6 แห่ง เลิกจ้างกว่า 800 คน เผยส่วนใหญ่เป็นกิจการการ์เมนต์-รองเท้า และรายใหญ่ล่าสุดเป็น รง.อิเล็กทรอนิกส์ ระบุส่วนใหญ่ทยอยปลดพนักงานไปก่อนหน้านี้ สั่งจับตากิจการเสี่ยงน่าเป็นห่วงทั้งจังหวัดกว่า 8,000 แห่ง มีลูกจ้างรวม 7.5 หมื่นคน
วันนี้ (3 ม.ค.) นางอัษฎาลักษณ์ อินทรกําแหง ณ ราชสีมา สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงผลกระทบจากนโยบายการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า จากการลงพื้นที่สำรวจสถานประกอบการ จ.นครราชสีมาล่าสุดเมื่อวานนี้ พบว่าสถานประกอบการหลายแห่งทั้งโรงงานอุตสาหกรรม และห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น รวมถึงร้านค้าย่อยส่วนใหญ่ต่างให้ความร่วมมือในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท
พร้อมกันนี้ทางสำนักงานฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจโรงงานอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในตัวเมืองนครราชสีมาเพื่อหาข้อมูลที่แท้จริง และรับฟังผลกระทบปัญหาของผู้ประกอบการจากผลกระทบดังกล่าว
จากการสำรวจดังกล่าวพบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำเสนอคือ ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เนื่องจากต้องแบกรับภาระค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก และต้องการให้ลูกจ้างมีการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ชิ้นงานออกมามีคุณภาพและเพิ่มจำนวนมากขึ้น
นางอัษฎาลักษณ์กล่าวต่อว่า ปีที่ผ่านมาทางสำนักงานฯ ได้จัดประชุมทำความเข้าใจกับผู้ประกอบกิจการมาโดยตลอดเพื่อให้มีการปรับตัวพร้อมรับกับการขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท ซึ่งในช่วงปลายปี 2555 ที่ผ่านมามีกิจการที่ทนแบกรับภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ ประกอบกับคำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดต่างประเทศลดลง ได้ทยอยปลดพนักงานครั้งละ 100-200 คน และในที่สุดก็ปิดกิจการไป จากข้อมูลพบว่ามีโรงงานที่ปิดตัวไปก่อนสิ้นปี 2555 รวม ประมาณ 5-6 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างกว่า 800 คน โดยเป็นกิจการประเภทการ์เมนต์, ผลิตรองเท้า, ผลิตเสื้อผ้าเด็กอ่อน และโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.พิมาย, อ.ด่านขุนทด, อ.ปักธงชัย และ อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งผู้ประกอบการยินดีจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
“ในจำนวนนี้มีกิจการขนาดใหญ่ที่ปิดตัวไปล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา คือ บริษัทโคราช-เดนกิ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยเลิกจ้างในล็อตสุดท้ายนี้กว่า 600 คน หลังจากได้ทยอยปลดพนักงานมาอย่างต่อเนื่อง” นางอัษฎาลักษณ์กล่าว
นางอัษฎาลักษณ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน จ.นครราชสีมามีสถานประกอบกิจการประเภทอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งสิ้นจำนวน 8,452 แห่ง มีลูกจ้างทั้งหมดรวม 207,725 คน โดยสถานประกอบกิจการกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง 300 บาท นั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสถานประกอบกิจการที่จ้างแรงงานตั้งแต่ 1-99 คน กลุ่มนี้ถือว่าเป็นกิจการที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ซึ่งเป็นกิจการประเภทธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก โรงแรม การ์เมนต์ ร้านค้า ร้านอาหาร ผลิตเสื้อผ้า และรองเท้า มีจำนวนทั้งสิ้น 8,190 แห่ง มีลูกจ้างรวม 75,173 คน
ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ สถานประกอบกิจการมีลูกจ้างตั้งแต่ 99 คนขึ้นไป มีจำนวน 262 แห่ง ซึ่งเป็นกิจการขนาดใหญ่ ประเภทผลิตชิ้นอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ การเกษตร และ การขนส่ง เป็นต้น มีลูกจ้างทั้งสิ้น 132,552 คน กลุ่มนี้มีความเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่มแรก แต่ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจการผลิต และตลาดส่งออกด้วย หากเป็นตลาดแถบยุโรปอาจมีปัญหาเรื่องออเดอร์ ถือเป็นกิจการที่น่าห่วงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจและออกแบบสอบถามผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังยืนยันที่จะประคับประคองกิจการให้เดินหน้าต่อไปให้ได้ แม้มีการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทก็ตาม
“สำหรับการให้ความช่วยเหลือนั้น ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมาได้จัดทีมที่ปรึกษาไปพบเจ้าของสถานประกอบกิจการเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ โดยเสนอแนวทางการปรับตัวให้อยู่รอดในสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้น และการขึ้นอัตราจ้าง 300 บาท โดยนายจ้างต้องปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นลง รวมทั้งลูกจ้างต้องพัฒนาทักษะ ฝีมือ และมีวินัยในการทำงานเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และทางสำนักงานฯ พร้อมเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบกิจการสามารถร้องขอเข้ามาได้” นางอัษฎาลักษณ์กล่าวในตอนท้าย
คลิกเพื่อรับชมคลิป :