xs
xsm
sm
md
lg

จวกประชานิยมฉุดลงทุน56 ซัดรัฐบาลโกหก อนาถ!เด็กไทยรับได้โครตโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - นักธุรกิจ จวกยับ! รัฐบาลโกหก ไม่สามารถสร้างความมั่นใจ กระทบต่อการตัดสินใจลงทุนปี 56 เตือนรัฐชี้แจงจำนำข้าวให้ชัดเจน อย่าบิดเบือน ด้าน“อภิสิทธิ์”ปลุกรัฐเลิกทำเพื่อพี่ เลิกแก้รัฐธรรมนูญ-พ.ร.บ.ปรองดองฯ ที่จะจุดชนวนความขัดแย้ง เดินหน้าทำเพื่อประชาชน ด้าน “สุรัสวดี-มาม่าบลูส์” ย้ำสังคมต้องช่วยกัน อย่าพึ่งแต่รัฐ หน่ายเด็กรับได้โคตรโกง ขณะที่นักวิชาการชี้โหวตวาระ3-ประชามติขัด รัฐธรรมนูญ ส่วนปชป.ดักคอ รัฐบาลต้องรับผิดชอบผลประชามติ กกต.ขู่รบ.ขนคนลงประชามติผิดกฎหมายแน่

วานนี้ (26 ธ.ค.55) ที่สถาบันองค์ความรู้แห่งเอเชียมีการเสวนา “โอกาสประเทศไทยปี 2556” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายบุญชัย โชควัฒนา ส.ว.สรรหา และนางสาวสุรัสวดี เชื้อชาติ (แหม่ม มาม่าบลูส์) ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาอิสระ และรองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมเสวนา

โดยนายบุญชัย กล่าวคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2556 ว่า นักลงทุนยังคงมีความอึดอัดที่จะลงทุนในประเทศไทย เพราะไม่มีความมั่นใจในบริบทการเมือง การป้องกันอุทกภัย อย่างไรก็ตามถ้ายังไม่มีสิ่งใดที่เปลี่ยนแปลงมากนัก กำลังซื้อในตลาดยังเหมือนเดิม แม้ตัวเลขในตลาดหุ้นอาจจะเป็นบวก ส่วนในเรื่องนโยบายประชานิยมของรัฐบาล อาทิ การจำนำข้าวนั้น ตนมองว่านักลงทุนมองออกว่าคือการบิดเบือนราคาตลาด และจะส่งผลอย่างไรต่อประเทศในระยะยาว และสิ่งที่รัฐบาลจะต้องปรับ คือการชี้แจงข้อมูล เพราะการให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนทำให้นักลงทุนไม่มีความมั่นใจ นอกจากนี้ยังต้องจับตาถึงผลพวงการขึ้นค่าแรง300บาท ที่ทำให้ธุรกิจหลายอย่างก็ได้รับผลกระทบต่อต้นทุนสูงขึ้น

ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในปี 56 ไทยจะจมกับปัญหาการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ ยิ่งเมื่อใกล้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ถือว่าไทยต้องฉวยโอกาสความได้เปรียบ รัฐบาลต้องส่งเสริม และช่วยกระตุ้น ทั้งมิติเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม เพราะจะหวังพึ่งทรัพยากรและค่าแรงงานที่ถูกอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป ส่วนในทางการเมืองนั้น รัฐบาลควรใช้เสถียรภาพที่มีอยู่ เดินหน้าผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าด้วยการเสริมโอกาสให้ประเทศก้าวให้พ้นความขัดแย้งทางการเมือง และดึงพลังคนไทยในช่วงที่เกิดน้ำท่วมมาสร้างประโยชน์

"อย่าคิดแต่เรื่องที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง เช่นแก้รัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม ส่วนนโยบายที่สัญญาไว้เมื่อมีปัญหาก็ต้องทบทวนนโยบายว่าจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร เช่นจำนำข้าว ที่จะทำอย่างไรให้ลดส่วนต่างที่สูญเสียลง รวมถึงค่าแรง 300 บาท ก็ต้องมีมาตรการเยียวยาชดเชยในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อก้าวข้ามปัญหาเดินไปข้างหน้า"นายอภสิทธิ์กล่าว

ขณะที่น.ส.สุรัสวดี มองว่า โอกาสของประเทศไทยในปี 2556 ต้องดูว่าโอกาสหมายถึงอะไรและเราเปิดโอกาสให้กับตัวเองแค่ไหนก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทย ตนทำหนังโฆษณาหลอกลวงมาครึ่งชีวิต จนกระทั่งรู้สึกไม่ไหวจึงออกมาทำงานส่งเสริมสังคมมากขึ้น ทำให้รู้จักคำว่า “คน” มากขึ้น เป็นโอกาสที่ต้องเริ่มจากตัวเราไปก่อนจึงจะนำประเทศได้ โดยเห็นว่าการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคมมีความสำคัญมาก ส่วนในภาคของนายทุนกับชนรากหญ้านั้นเมื่อสังคมรวมกลุ่มมากขึ้นในการเกื้อกูลกันที่จะทำให้เกิดโอกาสในประเทศชาติ ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะต้องยอมรับตนเองให้ได้ว่าเกิดเพราะอะไรและเริ่มที่ตัวเองก่อนว่าจะแก้ไขอย่างไร ฐานรากของประเทศคือคนที่ต้องให้โอกาสกับตัวเองรู้สิทธิของตัวเองบนเส้นทางประชาธิปไตย ไม่ให้ใครมาริดรอนสิทธิของตัวเอง ต้องรู้เจตนารมณ์ของผู้นำรัฐบาล และสามารถทวงสิทธิของตัวเองได้ แต่ถ้าไม่ยอมรับข้อเสียประเทศไม่มีทางพัฒนา ดังนั้นหารสร้างเครือข่ายจากฐานรากคือคนไทยทวงสิทธิของตัวเองเพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งมากกว่าการพึ่งพาอำนาจรัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้มแข็งในส่วนของภาคประชาชนด้วย

ทั้งนี้ยังเห็นว่าสังคมมีปัญหาในเรื่องความเชื่อและความจริง เพราะมีสื่อที่ไม่น่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นและเลือกเสพสื่อที่ตัวเองชอบ แต่คนต้องมีวิจารณญาณในการวินิจฉัยข้อมูลด้วย โดยมองที่ความถูกต้อง จริยธรรม ศีลธรรม อย่างไรก็ตามมีความพยายามล้างสมองเปลี่ยนแปลงคนไทยด้วยการสร้างชุดความคิดใหม่ หรือสร้างจุดยืนให้ดูตัวเองแตกต่างให้ดูฉลาดกว่าจะชั่วก็ได้ ที่น่าเสียดายคือนักศึกษาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ยอมรับการโกงได้เมื่อมีการสำรวจความเห็น และคิดว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่ในมือใครแต่อยู่ที่คนไทยทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ประเด็นที่ทุกคนเห็นร่วมกันคือ การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะหากสังคมยังมีค่านิยม “โกงได้ถ้าตัวเองได้ประโยชน์”อยู่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในทุกๆด้าน การพัฒนาจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย สมกับศักยภาพประเทศ

**นักวิชาการชี้โหวตวาระ3-ประชามติขัด รธน.

ส่วนความเห็นต่อกรณีที่รัฐบาลพยายามที่จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่า ไม่ต้องตีความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการทำประชามติตามมาตรา 165 เพราะเรื่องดังกล่าวชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่มีคนพยายามเข้าใจการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แบบคลาดเคลื่อน ว่าเป็นการแนะนำ ซึ่งหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียงวินิจฉัยเท่านั้น และไม่มีหน้าที่ดังกล่าว จึงอยากแนะนำให้กลับไปดูคำวินิจฉัย ในหน้า 18 และหน้า 25 จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 จนนำไปสู่การเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการวินิจฉัยเช่นนี้ ก็ชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ส่วนเรื่องการทำประชามติ และแก้รายมาตรา เป็นเพียงเหตุผลประกอบเท่านั้น พร้อมมองว่า คนเสื้อแดงและรัฐบาลตีความผิดทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเมื่อศาลตีความแล้ว จะเดินหน้าโหวตวาระ 3 หรือ ทำประชามติ ก็ขัดต่อมาตรา 165 วรรค 4 อย่างชัดเจน ส่วนกรณีที่นักกฎหมายพรรคเพื่อไทยตีความให้ทำประชามติก่อนนั้น คิดว่า เป็นการมองผลประโยชน์และขึ้นอยู่กับความต้องการของคนแดนไกลมากกว่า

ทั้งนี้ หากยังดึงดันที่จะแก้รัฐธรรมนูญ อาจถูกยื่นศาลอีกครั้ง ว่า ส่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และหากเดินหน้าทำประชามติต่อ อาจต้องฝ่าด่านศาลปกครองสูงสุด ในการวินิจฉัยว่ากระทำชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาการทำประชามตินั้นยังถือว่าไม่ผิดหลักการ และคิดว่ารัฐบาลอาจรู้ตัวแล้วว่ามีปัญหาด้านข้อกฎหมาย จนต้องหาช่องทางเพื่อทำให้ถูกต้อง

**ปชป.ดักคอ รบ.ต้องรับผิดชอบผลประชามติ

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณีที่นายกฯบอกว่า การทำประชามตินั้นเพราะต้องทำตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้นายกฯไม่ควรโยนให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรใด รัฐบาลตัดสินใจทำประชามติหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รัฐบาลก็ควรต้องรับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่รับชอบอย่างเดียว นอกจากนี้การที่นายกฯบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ทำเพื่อประชาชน ซึ่งหากนายกฯย้อนไปดูคำพูดหรือการกระทำของคนในรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่ามีการส่งสัญญาณหลายครั้งหลายหนจนเป็นที่ประจักษ์ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ที่ทำให้ประชาชนมีชีวิตดีอย่างไร แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือการทำเพื่อประโยชน์ของคนบางคน

**"จ่าแดง" เล็งชงพรรคตั้งคำถามประชามติ

จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือการทำประชามติ แม้เป็นวิธีลำบากที่สุดแต่คุ้มค่า เพราะมั่นใจว่าจะหาเสียงสนับสนุนให้คนมาลงมติได้เกิน 24 ล้านคน แต่หน่วยงานราชการต้องลงพื้นที่ไปรณรงค์ทำความเข้าใจกับชาวบ้านอย่างจริงจังไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือนด้วย เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็นในการทำประชามติ ส่วนกรณีที่กังวลกันว่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึง 24 ล้านเสียงนั้น ตนจะเสนอต่อที่ประชุมพรรคให้เปลี่ยนคำถามการทำประชามติ โดยจากที่ถามว่า เห็นด้วยกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีส.ส.ร.มายกร่างหรือไม่ เป็นใครไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อจูงใจให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 50 ออกมาลงคะแนนกันมากๆ ซึ่งตนดูข้อกฎหมายแล้วสามารถทำได้

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก เพราะได้เสนอแนวคิดส่วนตัวให้พรรคพิจารณาหมดแล้ว โดยยืนยันว่า ไม่แก้ไขมาตรการ 309 และหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ หากพรรคไม่ฟังแนวคิดส่วนตัว ก็ไม่น้อยใจ และพร้อมที่จะดำเนินการตามมติพรรค

**กกต.ขู่รบ.ขนคนลงประชามติผิดกม.

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลอาจมีการระดมคนให้ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติ ว่า การออกเสียงประชามติ รัฐบาลเป็นผู้จัดการ รัฐบาลต้องรณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงเสียงประชามติ ทั้งนี้ เพื่อที่จะบอกข้อดี ข้อเสียของการทำประชามติ ซึ่งถือว่าไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย แต่หากรัฐบาลระดมมวลชน หรือขนคนออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติ เรื่องนี้ถือว่าผิดกฎหมาย ตามมาตรา 38 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ ที่ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ อันเป็นการทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งไม่สามารถกระทำได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น