สัปดาห์ที่ผ่านมามี 3 เรื่องราวที่ผมคิดว่าน่าสนใจ บางเรื่องไม่น่าจะเชื่อมโยงเข้าหากันได้ แต่เมื่อคิดแบบผูกโยงถึงแก่นแล้วกลายเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างไม่เคอะเขิน จนอยากนำมาบอกเล่าต่อผู้อ่านในช่วงที่กลิ่นอายและความรู้สึกของการเฉลิมฉลองปีใหม่ยังไม่จางหาย
เรื่องแรกคือ วันที่ 4 มกราคม 2556 ที่เพิ่งผ่านพ้น ถือกันว่าเป็นวาระครบรอบ 9 ปีเหตุการณ์ที่ “ไฟใต้ระลอกใหม่” ถูกจุดขึ้น
กล่าวคือ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ได้มีกลุ่มคนร้ายกระจายกันออกปฏิบัติการในหลายพื้นที่ของ จ.นราธิวาส เริ่มจากเผาโรงเรียนไปประมาณ 20 แห่งเพื่อดึงความสนใจของเจ้าหน้าที่รัฐ จากนั้นจบลงด้วยการบุกเข้ายึดค่ายทหาร ร. 5 พันพัฒนาที่ 4 กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง มีทหารเสียชีวิต 4 นาย พร้อมสามารถเอารถบรรทุกเข้าไปขนปืนนานาชนิดจากคลังแสงออกไปได้ถึง 413 กระบอกแบบไร้ร่องรอย
เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นข่าวครึกโครมต้อนรับช่วงเปลี่ยนศักราชแห่งปี และไม่เฉพาะจากผู้คนในประเทศเท่านั้น สื่อมวลชนนานาชาติก็ให้ความสนใจรายงานข่าวนี้แบบเกาะติดอยู่นาน
จากนั้นก็ตามด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบหลากหลายรูปแบบ และวิธีการตามแต่จะสรรหามาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปล้นปืนจากหน่วยราชการ โจมตีค่ายและกองกำลังฝ่ายรัฐ ปฏิบัติปิดประตูป่วนเมือง ลอบวางระเบิดที่มีทั้งจุดชนวนด้วยสายไฟ วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ รวมถึงคาร์บอมบ์ จักรยานยนต์บอมบ์ โชเลย์บอมบ์ ยิงรายวัน เผาธงชาติ เผาตู้โทรศัพท์ พ่นสีหรือขีดเขียนตามท้องถนนและสิ่งสาธารณะ ฯลฯ โดยเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกระจายไปทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่งหัวเมืองท่องเที่ยว ศูนย์กลางการค้าและการลงทุนอย่างเมืองหาดใหญ่
ภายหลังไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุ มีการเชื่อมโยงให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มใหม่คือ บีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต ซึ่งก็สามารถโยงใยไปสู่กลุ่มเก่าๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นบีเอ็นพีพี พูโล มูจาฮีดีน เบอร์ซาตู เป็นต้น
ถึงวันนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 10 หรือห้วงทศวรรษแห่งไฟใต้ระลอกใหม่แล้ว แต่เหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ ยังดูเหมือนจะไม่คลี่คลายไปสักเท่าไหร่ มีการประเมินตัวเลขว่ามีผู้เสียชีวิตที่เป็นทั้งกองกำลังฝ่ายรัฐ ข้าราชการ และประชาชนจากเหตุการณ์ไฟใต้ระลอกใหม่ไปแล้วกว่า 5 พันศพ ที่บาดเจ็บก็มีสูงถึงกว่า 1 หมื่นราย
ในจำนวนนี้เป็นที่ฮือฮาและถูกจับตาให้ความสำคัญอย่างมากเป็นพิเศษ คือ มีครูในชายแดนใต้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบไปแล้วถึง 157 คน ซึ่งกรณีการตายของ “ครูจูหลิง ปงกันมูล” หรือ “ครูจุ้ย” หญิงสาวผู้มีอุดมการณ์มุ่งมั่นจากเชียงราย แต่ต้องเอาชีวิตไปทิ้งไกลถึงโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ จ.นราธิวาส อันเป็นเหตุการณ์ที่สุดแสนสะเทือนใจผู้คน ซึ่งก็เพิ่งมีการทำบุญและจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 6 ปีไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 นี่เอง
แม้วันนี้วิกฤตไฟใต้ระลอกใหม่ยังไม่มีวี่แววว่าจะหาบทสรุปได้ แต่ที่ผมอยากสรุปให้ท่านผู้อ่านกันลืมไว้ ณ ที่นี้ก็คือ ผู้ที่เป็นตัวการจุดไฟใต้ระลอกใหม่ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคืออดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย ผู้เติบโตจากธุรกิจผูกขาด แล้วสร้างระบอบธนาธิปไตยครอบงำประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบ ใช้ระบอบทักษิณกลืนกินภาคการเมือง ใช้ระบอบชินวัตรกัดกร่อนภาคเศรษฐกิจให้อ่อนแอเพื่อง่ายต่อการควบคุม ยึดติดภาพซีอีโอทางธุรกิจไปใช้กับการบริหารประเทศชาติ อหังการคิดตั้งรัฐตำรวจ เมามันกับการใช้อำนาจ หลงระเริงกับการกอบโกยแบบไม่เคยพอเพียง แม้ในวันนี้ต้องระเหเร่ร่อนหนีคุกไทยไปบงการรัฐบาลหุ่นเชิดอยู่นอกประเทศ เขาก็ยังไม่เคยเลยที่จะคิดละ ลดหรือเลิกพฤติกรรมอย่างที่ว่าแม้แต่น้อย
ทั้งหมดทั้งปวงนำไปสู่การกระทำที่เขาจะตั้งใจให้เกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่ภาพของเขาถูกวาดให้เป็นคนที่จุดไม้ขีดก้านแรกให้เกิดไฟใต้ระลอกใหม่ แล้วเมื่อไฟใต้ลุกลามแต่ละทีก็กลับมีแต่การขนเอาเบนซินไปราดดับ แถมยังเอาเท้าลงไปแกว่งกวนอำนาจการบริหารราชการบนแผ่นดินที่ปลายด้ามขวานด้วย นับเนื่องตั้งแต่นำ ครม.ไปประชุมที่ศูนย์พิกุลทอง แล้วสั่งทุบทิ้งองค์กรพิเศษที่กำกับดูแลพื้นที่มากว่า 2 ทศวรรษอย่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กับกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท. 43) พร้อมสั่งทหารถอยร่นกลับกรมกอง โดยมอบหมายให้ตำรวจเข้าไปรับหน้าที่แทน สุดท้ายนำไปสู่การโชนเปลวไฟใต้ให้ลุกลามไปถ้วนทั่วอย่างต่อเนื่องกันมาจนวันนี้
เขาคือ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” นั่นเอง
เรื่องที่สองคือ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556 ก่อนหน้าครบรอบ 9 ปีไฟใต้เพียงวันเดียว ศอ.บต.องค์กรที่จัดตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2553 ได้เปิดตัว “สถานีวิทยุโทรทัศน์และสถานีวิทยุกระจายเสียงภาคภาษามลายู” พร้อมประกาศให้ถือเป็นการบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของแผ่นดินชายแดนใต้ไว้ด้วย
มีข้อที่น่าสังเกตว่า การจัดตั้งทีวีและวิทยุภาคภาษามลายูของ ศอ.บต.ครั้งนี้แทบไม่ได้ยึดโยงหรือต่อยอดจากที่เคยใช้บริการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา (สทท.ยะลา) หรือสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา (สวท.ยะลา) อย่างยาวนานมาก่อนเลย อีกทั้งโครงการก่อตั้งก็ให้ สทท.ยะลาช่วยร่างให้ แถมยังใช้วิธีดึงคนจากกรมประชาสัมพันธ์จำนวนหนึ่งไปช่วยงาน
แต่ ศอ.บต.กลับควักเงินลงทุนสร้างขึ้นใหม่ และใช้วิธีผลิตรายการเพียงแค่ครึ่งชั่วโมง แล้วส่งไปฝากออกอากาศทางช่อง TMTV หรือโทรทัศน์ไทยมุสลิมระหว่างเวลา 20.00-20.30 น.ของทุกวัน ซึ่ง TMTV เป็นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่ต้องใช้จานและกล่องรับสัญญาณ จนเป็นที่คลางแคลงไปต่างๆ นานาว่า แท้จริงแล้วสอดรับกับความต้องการของคนชายแดนใต้จริงหรือไม่
ยิ่งในวันเปิดตัวมีการจัดกิจกรรมที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา แม้จะเชิญนายอาซิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีเป็นประธานเปิด เชิญนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนเป็นองค์ปาฐกพิเศษ แต่พอมีคนเห็นชื่อของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและรองนายกฯ ของระบอบทักษิณถูกเชิญเข้าร่วมเป็นองค์ปาฐกด้วย ประกอบกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.คนปัจจุบันก็ใกล้ชิดทั้งกับ นช.ทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งเพิ่มความสงสัยเข้าไปใหญ่
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าทำไม ศอ.บต.ทุ่มเงินลงทุนตั้งสถานีเอง การไม่ใช้ฟรีทีวีของรัฐที่มีอยู่แล้วอย่าง สทท.ยะลา แต่กลับไปอาศัยทีวีดาวเทียมออกอากาศ แสดงว่าต่อไปจะต้องมีการใช้งบจัดหาจานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณแจกให้กับชาวบ้านในชายแดนใต้อีกใช่หรือไม่
ทว่า นั่นยังไม่เท่ามีคนกลุ่มหนึ่งเคลือบแคลงสงสัยต่อไปว่า การที่ ศอ.บต.เอาทีวีของตนเองไปผูกติดกับสถานีทีวีดาวเทียมนั้น หรือว่าในอนาคตมีความต้องการให้ชาวบ้านบนแผ่นดินด้ามขวานง่ายต่อการเข้าถึงบรรดาทีวีสีแดงๆ ที่มีอยู่มากมายหลายสิบช่อง ทั้งที่เป็นทีวีของกลุ่มคนเสื้อแดงและในเครือข่ายระบอบทักษิณ
เรื่องที่สามคือ อาจจะเป็นความบังเอิญอย่างเหลือเชื่อก็ว่าได้ ที่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 การ์ตูนการเมืองแหลเพื่อพี่ โดยบัญชา/คามิน ได้นำเสนอภาพการ์ตูนล้อการเมืองในชื่อเรื่อง “ เตะคุณชายหมูเข้าปากหมาพูเดิ้ล” ตามที่ผมขออนุญาตเอามาเป็นภาพประกอบบทความชิ้นนี้
แม้การ์ตูนจะเป็นเรื่องราวล้อเลียนการเมืองระดับชาติที่เกี่ยวพันกับท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร แต่สำหรับเรื่องราวของท้องถิ่นบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน ในวาระก้าวย่างเข้าสู่ 1 ทศวรรษไฟใต้ระลอกใหม่นี้ ผมว่าการ์ตูนภาพชิ้นนี้คงสะกิดใจหรือคอยย้ำเตือนให้เราต้องติดตามเรื่องราวไฟใต้อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องไปเลยทีเดียว