xs
xsm
sm
md
lg

ไม้ขีดก้านแรกที่ถูกจุดจากมือ “ทักษิณ” และ “ทีวีสีแดง”?! / ปิยะโชติ อินทรนิวาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ด้ามขวานผ่าซาก
โดย...ปิยะโชติ  อินทรนิวาส
 
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา มี 3 เรื่องราวที่ผมคิดว่าน่าสนใจ บางเรื่องไม่น่าจะเชื่อมโยงเข้าหากันได้ แต่เมื่อคิดแบบผูกโยงถึงแก่นแล้วกลายเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างไม่เคอะเขิน จนอยากนำมาบอกเล่าต่อผู้อ่านในช่วงที่กลิ่นอาย และความรู้สึกของการเฉลิมฉลองปีใหม่ยังไม่จางหาย
 
เรื่องแรกคือ วันที่ 4 มกราคม 2556 ที่เพิ่งผ่านพ้น ถือกันว่าเป็นวาระครบรอบ 9 ปีเหตุการณ์ที่ “ไฟใต้ระลอกใหม่” ถูกจุดขึ้น
 
กล่าวคือ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ได้มีกลุ่มคนร้ายกระจายกันออกปฏิบัติการในหลายพื้นที่ของ จ.นราธิวาส เริ่มจากเผาโรงเรียนไปประมาณ 20 แห่ง เพื่อดึงความสนใจของเจ้าหน้าที่รัฐ จากนั้นจบลงด้วยการบุกเข้ายึดค่ายทหาร ร.5 พันพัฒนาที่ 4 กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง มีทหารเสียชีวิต 4 นาย พร้อมสามารถเอารถบรรทุกเข้าไปขนปืนนานาชนิดจากคลังแสงออกไปได้ถึง 413 กระบอกแบบไร้ร่องรอย
 
เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นข่าวครึกโครมต้อนรับช่วงเปลี่ยนศักราชแห่งปี และไม่เฉพาะจากผู้คนในประเทศเท่านั้น สื่อมวลชนนานาชาติก็ให้ความสนใจรายงานข่าวนี้แบบเกาะติดอยู่นาน
 
จากนั้นก็ตามด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบหลากหลายรูปแบบ และวิธีการตามแต่จะสรรหามาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปล้นปืนจากหน่วยราชการ โจมตีค่าย และกองกำลังฝ่ายรัฐ ปฏิบัติปิดประตูป่วนเมือง ลอบวางระเบิดที่มีทั้งจุดชนวนด้วยสายไฟ วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ รวมถึงคาร์บอมบ์ จักรยานยนต์บอมบ์ โชเลย์บอมบ์ ยิงรายวัน เผาธงชาติ เผาตู้โทรศัพท์ พ่นสี หรือขีดเขียนตามท้องถนน และสิ่งสาธารณะ ฯลฯ โดยเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกระจายไปทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่งหัวเมืองท่องเที่ยว ศูนย์กลางการค้า และการลงทุนอย่างเมืองหาดใหญ่
 
ภายหลังไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุ มีการเชื่อมโยงให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มใหม่คือ บีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต ซึ่งก็สามารถโยงใยไปสู่กลุ่มเก่าๆ ได้ไม่ว่าจะเป็น บีเอ็นพีพี พูโล มูจาฮีดีน เบอร์ซาตู เป็นต้น
 
ถึงวันนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 10 หรือห้วงทศวรรษแห่งไฟใต้ระลอกใหม่แล้ว แต่เหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ ยังดูเหมือนจะไม่คลี่คลายไปสักเท่าไหร่ มีการประเมินตัวเลขว่ามีผู้เสียชีวิตที่เป็นทั้งกองกำลังฝ่ายรัฐ ข้าราชการ และประชาชนจากเหตุการณ์ไฟใต้ระลอกใหม่ไปแล้วกว่า 5 พันศพ ที่บาดเจ็บก็มีสูงถึงกว่า 1 หมื่นราย
 
ในจำนวนนี้ที่เป็นที่ฮือฮา และถูกจับตาให้ความสำคัญอย่างมากเป็นพิเศษคือ มีครูในชายแดนใต้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบไปแล้วถึง 157 คน ซึ่งกรณีการตายของ “ครูจูหลิง ปงกันมูล” หรือ “ครูจุ้ย” หญิงสาวผู้มีอุดมการณ์มุ่งมั่นจากเชียงราย แต่ต้องเอาชีวิตไปทิ้งไกลถึงโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ จ.นราธิวาส อันเป็นเหตุการณ์ที่สุดแสนสะเทือนใจผู้คน ซึ่งก็เพิ่งมีการทำบุญ และจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 6 ปีไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 นี่เอง
 
แม้วันนี้วิกฤตไฟใต้ระลอกใหม่ยังไม่มีวี่แววว่าจะหาบทสรุปได้ แต่ที่ผมอยากสรุปให้ท่านผู้อ่านกันลืมไว้ ณ ที่นี้ก็คือ ผู้ที่เป็นตัวการจุดไฟใต้ระลอกใหม่ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคืออดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย ผู้เติบโตจากธุรกิจผูกขาด แล้วสร้างระบอบธนาธิปไตยครอบงำประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบ ใช้ระบอบทักษิณกลืนกินภาคการเมือง ใช้ระบอบชินวัตรกัดกร่อนภาคเศรษฐกิจให้อ่อนแอเพื่อง่ายต่อการควบคุม ยึดติดภาพซีอีโอทางธุรกิจไปใช้กับการบริหารประเทศชาติ อหังการคิดตั้งรัฐตำรวจ เมามันกับการใช้อำนาจ หลงระเริงกับการกอบโกยแบบไม่เคยพอเพียง แม้ในวันนี้ต้องระเหเร่ร่อนหนีคุกไทยไปบงการรัฐบาลหุ่นเชิดอยู่นอกประเทศ เขาก็ยังไม่เคยเลยที่จะคิดละ ลด หรือเลิกพฤติกรรมอย่างที่ว่าแม้แต่น้อย
 
ทั้งหมดทั้งปวงนำไปสู่การกระทำที่เขาจะตั้งใจให้เกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่ภาพของเขาถูกวาดให้เป็นคนที่จุดไม้ขีดก้านแรกให้เกิดไฟใต้ระลอกใหม่ แล้วเมื่อไฟใต้ลุกลามแต่ละทีก็กลับมีแต่การขนเอาเบนซินไปราดดับ แถมยังเอาเท้าลงไปแกว่งกวนอำนาจการบริหารราชการบนแผ่นดินที่ปลายด้ามขวานด้วย นับเนื่องตั้งแต่นำ ครม.ไปประชุมที่ศูนย์พิกุลทอง แล้วสั่งทุบทิ้งองค์กรพิเศษที่กำกับดูแลพื้นที่มากว่า 2 ทศวรรษอย่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กับ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท.43) พร้อมสั่งทหารถอยร่นกลับกรมกอง โดยมอบหมายให้ตำรวจเข้าไปรับหน้าที่แทน สุดท้ายนำไปสู่การโชนเปลวไฟใต้ให้ลุกลามไปถ้วนทั่วอย่างต่อเนื่องกันมาจนวันนี้
 
เขาคือ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” นั่นเอง
 
เรื่องที่สองคือ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556 ก่อนหน้าครบรอบ 9 ปีไฟใต้เพียงวันเดียว ศอ.บต.องค์กรที่จัดตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2553 ได้เปิดตัว “สถานีวิทยุโทรทัศน์และสถานีวิทยุกระจายเสียงภาคภาษามลายู” พร้อมประกาศให้ถือเป็นการบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของแผ่นดินชายแดนใต้ไว้ด้วย
 
มีข้อที่น่าสังเกตว่า การจัดตั้งทีวีและวิทยุภาคภาษามลายูของ ศอ.บต.ครั้งนี้แทบไม่ได้ยึดโยง หรือต่อยอดจากที่เคยใช้บริการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา (สทท.ยะลา) หรือสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา (สวท.ยะลา) อย่างยาวนานมาก่อนเลย อีกทั้งโครงการก่อตั้งก็ให้ สทท.ยะลาช่วยร่างให้ แถมยังใช้วิธีดึงคนจากกรมประชาสัมพันธ์จำนวนหนึ่งไปช่วยงาน
 
แต่ ศอ.บต.กลับควักเงินลงทุนสร้างขึ้นใหม่ และใช้วิธีผลิตรายการเพียงแค่ครึ่งชั่วโมง แล้วส่งไปฝากออกอากาศทางช่อง TMTV หรือโทรทัศน์ไทยมุสลิม ระหว่างเวลา 20.00-20.30 น. ของทุกวัน ซึ่ง TMTV เป็นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่ต้องใช้จานและกล่องรับสัญญาณ จนเป็นที่คลางแคลงไปต่างๆ นานาว่า แท้จริงแล้วสอดรับกับความต้องการของคนชายแดนใต้จริงหรือไม่
 
ยิ่งในวันเปิดตัวมีการจัดกิจกรรมที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา แม้จะเชิญนายอาซิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีเป็นประธานเปิด เชิญนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนเป็นองค์ปาฐกพิเศษ แต่พอมีคนเห็นชื่อของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และรองนายกฯ ของระบอบทักษิณถูกเชิญเข้าร่วมเป็นองค์ปาฐกด้วย ประกอบกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.คนปัจจุบันก็ใกล้ชิดทั้งกับ นช.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งเพิ่มความสงสัยเข้าไปใหญ่
 
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าทำไม ศอ.บต.ทุ่มเงินลงทุนตั้งสถานีเอง การไม่ใช้ฟรีทีวีของรัฐที่มีอยู่แล้วอย่าง สทท.ยะลา แต่กลับไปอาศัยทีวีดาวเทียมออกอากาศ แสดงว่าต่อไปจะต้องมีการใช้งบจัดหาจานดาวเทียม และกล่องรับสัญญาณแจกให้แก่ชาวบ้านในชายแดนใต้อีกใช่หรือไม่
 
ทว่า นั่นยังไม่เท่ามีคนกลุ่มหนึ่งเคลือบแคลงสงสัยต่อไปว่า การที่ ศอ.บต.เอาทีวีของตนเองไปผูกติดกับสถานีทีวีดาวเทียมนั้น หรือว่าในอนาคตมีความต้องการให้ชาวบ้านบนแผ่นดินด้ามขวานง่ายต่อการเข้าถึงบรรดาทีวีสีแดงๆ ที่มีอยู่มากมายหลายสิบช่อง ทั้งที่เป็นทีวีของกลุ่มคนเสื้อแดง และในเครือข่ายระบอบทักษิณ
 
เรื่องที่สามคือ อาจจะเป็นความบังเอิญอย่างเหลือเชื่อก็ว่าได้ ที่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 การ์ตูนการเมืองแหลเพื่อพี่ โดยบัญชา/คามิน ได้นำเสนอภาพการ์ตูนล้อการเมืองในชื่อเรื่อง “ เตะคุณชายหมูเข้าปากหมาพูเดิ้ล” ตามที่ผมขออนุญาตเอามาเป็นภาพประกอบบทความชิ้นนี้
 
แม้จะการ์ตูนจะเป็นเรื่องราวล้อเลียนการเมืองระดับชาติที่เกี่ยวพันกับท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร แต่สำหรับเรื่องราวของท้องถิ่นบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน ในวาระก้าวย่างเข้าสู่ 1 ทศวรรษไฟใต้ระลอกใหม่นี้ ผมว่าการ์ตูนภาพชิ้นนี้คงสะกิดใจ หรือค่อยย้ำเตือนให้เราต้องติดตามเรื่องราวไฟใต้อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องไปเลยทีเดียว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น