ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เท่าที่สำรวจตรวจตราในสื่อมวลชนตลอดระยะเวลาหลายปีนี้ของสังคมไทย ผมพบปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดอย่างหนึ่ง นั่นคือในช่วงปีใหม่สื่อมวลชนไทยจำนวนมากสัมภาษณ์หมอดูเพื่อให้อธิบายและทำนายเหตุการณ์ทางการเมืองไทยมากกว่าสัมภาษณ์นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และผู้คนจำนวนมากก็นิยมอ่านเรื่องราวที่หมอดูเล่าผ่านสื่อมวลชนเสียด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหมอดูเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนในสังคมไม่น้อยที่เดียว
การเล่าเรื่องเชิงทำนายของหมอดูมีแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมหลายแหล่ง แต่ที่นิยมกันมากในการทำนายสถานการณ์ทางการเมือง คือ อำนาจจากอิทธิพลของดวงดาว เช่น โหราศาสตร์ และอำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อของมนุษย์ เช่น ร่างทรง
หมอดูที่ทำนายโดยอาศัยโหราศาสตร์อาศัยราศีของบุคคลหรือสิ่งของ(เมือง/สังคม) ที่ถูกทำนาย คุณลักษณะของดวงดาวเช่น ดาวบาปเคราะห์ และการเคลื่อนที่ของดวงดาวในตำแหน่งต่างๆ ตามที่สมมติขึ้นมา โดยมีฐานคิดสำคัญว่า ดวงดาวที่แตกต่างกันทำมุมแตกต่างกันกับสิ่งที่จะทำนาย (บุคคล หรือสังคม) จะส่งผลกระทบต่อสิ่งนั้นแตกต่างกัน ส่วนจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายก็แล้วแต่ว่าเป็นดาวประเภทใด ทำมุมแบบใด และสิ่งที่ถูกทำนายอยู่ในลัคนาราศีใด
ส่วนหมอดูอีกประเภทหนึ่งทำนายสถานการณ์อนาคตโดยการเป็นร่างทรงของเทพในนิยายปรัมปรา ซึ่งมีทั้งเทพในความเชื่อพื้นบ้านไทย เทพที่เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของไทย เทพในลัทธิอินดู และเทพในความเชื่อของจีน หมอดูประเภทนี้ไม่มีฐานทางความคิดใดรองรับ เพียงอาศัยลักษณะที่แตกต่างจากความปกติเช่น เมื่อเข้าทรงแล้วเสียงที่พูดเปลี่ยนไป หรือสามารถสร้างปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติบางอย่างได้ หรือความถูกต้องของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำนาย หมอดูที่อาศัยร่างทรงสร้างชื่อเสียงจนโด่งดังในระดับโลก คือ หมอดู อีที ชาวพม่า เป็นต้น
ผมคิดว่าฐานคิดสำคัญเกี่ยวกับการทำนายอนาคตน่าจะมีอย่างน้อยสองประการ คือ ฐานคิดเกี่ยวกับความเป็นไปได้หรือแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้น กับฐานคิดเกี่ยวกับอนาคตที่ถูกกำหนดแน่นอน
ฐานคิดแรกนั้นส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงวิชาการหรือศาสตร์สาขาต่างๆ ซึ่งจะอาศัยข้อมูลข่าวสาร แบบแผนเชิงโครงสร้างความสัมพันธ์ของธรรมชาติ วัฒนธรรมและสังคม แบบแผนเชิงอารมณ์ พฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ เป็นแนวทางในการอธิบายและทำนายความเป็นไปได้ของปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนฐานคิดแบบที่สองนั้นมีลักษณะที่ว่า ชะตาชีวิตของมนุษย์หรือสังคมถูกกำหนดอย่างแน่นอนแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็ต้องเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฐานคิดแบบนี้มีรากฐานจากความเชื่ออำนาจเหนือธรรมชาติ และอิทธิพลของพลังดวงดาวที่อยู่นอกเหนือการรับรู้จากสมองและประสาทสัมผัสของคนธรรมดาทั่วไป
กลไกความเชื่อในการทำนายอนาคตถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร และทำไมผู้คนจำนวนมากจึงได้เชื่อในคำนายที่อ้างอิงจากสิ่งเหนือธรรมชาติและไม่สามารถอธิบายได้โดยอาศัยกลไกเชิงสาเหตุ ทั้งยังเป็นคำนายที่ห่างไกลจากความสมเหตุสมผลและสมจริงอีกด้วย
เท่าที่สังเกตจากประสบการณ์ ผมเห็นว่า ความเชื่อในการทำนายอนาคตถูกสร้างขึ้นมาและถูกตอกย้ำโดยการเลือกผลิตซ้ำคำนายบางอย่างที่ถูกต้อง และละเลยละทิ้งคำนายที่ผิดพลาด ที่น่าแปลกก็คือกระบวนการแบบนี้ เกิดจากทั้งหมอดูผู้ที่ทำนายเอง สาวกของหมอดู ผู้ถูกทำนาย และสื่อมวลชน
ชื่อเสียงของหมอดูขึ้นอยู่กับการได้รับความเชื่อถือ ความเชื่อถือมาจากผลที่เกิดขึ้นของการทำนายความมีชื่อเสียงของบุคคลที่ถูกทำนาย และการแพร่กระจายผลนั้นออกไปสู่สังคมในวงกว้าง หากหมอดูคนใดทำนายอนาคตของบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักการเมืองระดับชาติ ถูกเป็นบางเรื่อง และเรื่องนั้นได้รับการแพร่กระจายออกไป หมอดูคนนั้นก็จะเป็นคนที่มีชื่อเสียงขึ้นมา
เมื่อไรที่ทำนายผิด หมอดูก็พยายามไม่หยิบเรื่องเหล่านั้นขึ้นมาพูด และพยายามหาข้ออ้างร้อยแปดพันประการเพื่อแก้ต่างความผิดพลาดที่เกิดจากการทำนายของตนเอง
สำหรับผู้ที่ถูกทำนายนั้น หากหมอดูที่ทำนายอนาคตของตนเองถูกต้องหรือทำนายอนาคตของคนที่ตนเองรู้จักถูกต้องก็ช่วยกระจายเรื่องราวแบบนี้ออกไปสู่คนรอบข้าง แต่หากหมอดูทำนายผิด ก็จะปิดปากเงียบเพราะกลัวอับอายที่จะเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ว่าตนเองถูกหลอกจากหมอดู
ส่วนสื่อมวลชนไม่มีอะไรมากกว่าการขายข่าวที่น่าตื่นเต้นซึ่งผู้คนทั่วไปสนใจติดตามอ่าน ส่วนความมีประโยชน์ของข่าวดูเหมือนเป็นเรื่องรองลงไป สื่อมวลชนไทยทราบดีอยู่แล้วว่าคนไทยจำนวนมหาศาลชอบความเชื่อแบบเหนือธรรมชาติ ชอบดูหมอเพราะอยากรู้อนาคต ดังนั้นการไปสัมภาษณ์เสนอข่าวการทำนายอนาคตสถานการณ์การเมืองและสังคมหรือธรรมชาติ ภัยพิบัติ โดยใช้หมอดูจึงได้รับความนิยมมากกว่าจะไปสัมภาษณ์นักวิชาการที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ
และเหตุผลหนึ่งที่สื่อมวลชนไปสัมภาษณ์หมอดูคือ หมอดูชอบพูดอะไรที่น่าตื่นเต้น และสยดสยอง ยิ่งพูดในทางร้ายเกี่ยวกับบ้านเมืองมากเท่าไร ก็ดูเหมือนยิ่งได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เช่น การกล่าวว่า ในปี 2556 บ้านเมืองระส่ำระสาย จะมีการก่อสงครามการเมืองและก่อวินาศกรรมไปทั่วและมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก มีการเปลี่ยนแปลงรุนแรง เช่น เกิดจลาจล ทหารออกมาควบคุมสถานการณ์ หรือยุบสภา เศรษฐกิจแย่ และจะสูญเสียบุคคลสำคัญ เป็นต้น
ขณะที่นักวิชาการจำนวนมากชอบพูดอะไรตามฐานของข้อมูลและหลักวิชาการซึ่งคนทั่วไปฟังไม่ค่อยเข้าใจ รู้สึกแห้งแล้ง และไม่น่าตื่นเต้น ดังนั้นความนิยมในการอ่านหรือการฟังในสิ่งที่นักวิชาการพูดหรือเขียนนั้นจึงอยู่ในแวดวงจำกัดเฉพาะกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องความคิดมากกว่าความเชื่อเป็นหลัก ส่วนคนทั่วไปที่มีความเชื่อนำ ย่อมไม่สนใจอะไรมากนักกับเรื่องราวทางวิชาการ
ในแง่ปัจเจกบุคคล เหตุผลที่ทำให้คนจำนวนมากนิยมชมชอบการไปฟังคำบอกเล่าจากหมอดูคือความกลัวต่อความไม่แน่นอนของอนาคต ยิ่งบุคคลตกอยู่ในวังวนของสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนมากเท่าไร และผลลัพธ์ของสถานการณ์เกิดขึ้นในอนาคตมีผลกระทบกับเขามากเท่าไร โอกาสที่จะไปพึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติก็จะมีมากยิ่งขึ้น เช่น นักการเมืองจะนิยมไปดูหมอมากขึ้นในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ช่วงที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี ช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง ส่วนข้าราชการก็จะนิยมไปดูหมอมากขึ้นในช่วง การโยกย้ายตำแหน่ง
สังคมไทยนั้นถูกห่อหุ้มและขับเคลื่อนด้วยกระแสของความเชื่อและความรู้สึกมากกว่าความเป็นเหตุและผล แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีเสียทั้งหมด เพราะความเชื่อและความรู้สึกนั้นมีทั้งทางบวกและทางลบ
หากสังคมสามารถสร้างความเชื่อความศรัทธาในเรื่องคุณธรรมความดี ความเชื่อในหลักเหตุและผล และความรู้สึกเชิงบวก เช่น ความรัก ความเอื้ออาทร ความสำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมือง เป็นต้น ก็ย่อมทำให้สังคมพัฒนาไปสู่ทิศทางที่พึงปรารถนาและสร้างสันติสุขขึ้นมาได้
แต่หากสังคมยังสนับสนุนความเชื่อที่งมงาย หรือความเชื่อสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ก็ย่อมทำให้จิตรวมของสังคมนั้นถดถอย และทำให้ผู้คนถูกหลอกลวงได้ง่าย เพราะบุคคลที่มีความเชื่ออำนาจเหนือธรรมชาติโดยปราศจากความสมเหตุสมผลเชิงแนวคิด และความสมจริงเชิงประจักษ์ ย่อมถูกโน้มนำให้เชื่อถ้อยคำที่หลอกลวงของนักการเมืองผู้มีเล่ห์เพทุบายโดยง่ายเช่นกัน และนั่นย่อมเป็นเหตุที่นำไปสู่ความเสื่อมความถดถอยของสังคม ดังที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน