xs
xsm
sm
md
lg

สื่อกับการเรียนรู้ทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ในสังคมประชาธิปไตย การเรียนรู้ทางการเมืองเกิดขึ้นได้จากหลายแหล่ง นับตั้งแต่จากโรงเรียน จากสื่อต่างๆ และที่สำคัญก็คือจากครอบครัว โดยเฉพาะถ้าครอบครัวฝักใฝ่พรรคการเมือง เด็กก็จะเรียนรู้การเมือง และสนับสนุนพรรคการเมืองตามพ่อแม่ไปด้วย

สำหรับสังคมประเทศไทย การเรียนรู้ทางการเมืองในระยะแรกๆ หลังพ.ศ. 2475 เป็นไปตามการโฆษณาของรัฐบาล และเนื่องจากมีความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นระยะๆ รวมทั้งการลอบฆ่านักการเมือง การเมืองจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว การเรียนรู้ทางการเมืองจึงเป็นในด้านลบมากกว่าอย่างอื่น

ต่อมาเมื่อการศึกษาขยายตัวมากขึ้น การเรียนรู้ทางการเมืองเกิดขึ้นจากการสอนของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และทางด้านสื่อที่ออกมาเพื่อให้ความรู้ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองโดยเฉพาะ เช่น หนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ และวารสารต่างๆ ตลอดจนบทความทางหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น สยามรัฐ และมติชน เป็นต้น

เมื่อประชาชนเกิดความตื่นตัวทางการเมือง และมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์ พรรคคอมมิวนิสต์จัดเป็นพรรคการเมืองที่ให้ความสนใจในการกล่อมเกลาสมาชิกมากที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์มีเอกสารด้านอุดมการณ์ออกมามากมาย และยังมีการจัดตั้งสันนิบาตเยาวชน จัดสัมมนากลุ่มย่อย อบรมทางการเมือง หรือแม้แต่ในการต่อสู้ทำสงครามประชาชน พรรคก็ยังมีการอบรมทางการเมืองควบคู่กันไป แต่การดำเนินการเหล่านี้เป็นความลับ

ในสมัยที่มีความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น มีการจัดชุมนุมประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก จึงมีเวทีการอภิปราย และมีการแสดงดนตรีประกอบด้วย เมื่อเสร็จสิ้นการชุมนุม ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมก็ยังอยากติดตามข่าวสารทางการเมืองอีก และเนื่องจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์มักจะเสนอข่าวหรือบทวิจารณ์ที่ค่อนข้างจะเป็นทางการ มีความระมัดระวัง และมีเวลาให้แก่การวิจารณ์การเมืองน้อย ประชาชนจึงกระหายที่จะได้รับฟังข้อมูลข่าวสารประเภทเจาะลึก คือเป็นเรื่องราวเบื้องหลังเหตุการณ์หรือพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งมักจะไม่เป็นที่เปิดเผยโดยทั่วไป

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เป็นสื่อที่เสนอข่าวสารข้อมูล และความเห็นทางการเมืองที่ตรงไปตรงมา และเจาะลึก อีกทั้งมีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่กล้าแสดงออก จึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ต่อมานายสนธิ เห็นว่าสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์ไม่เสรีพอ จึงเปิดเป็นเคเบิลทีวีขึ้นจัดทำรายการต่างๆ และมีการวิเคราะห์วิจารณ์ข่าวสารการเมืองอย่างดุเดือด ตรงไปตรงมา มีผู้ให้ความสนใจติดตามรายการของ ASTV มากมาย แต่ก็ยังประสบกับการขาดทุน ต้องมีการเรียกบริจาค และมีการขายสินค้าเพื่อหารายได้

ทางฝ่ายผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีการเปิดทีวีดาวเทียมขึ้นเช่นกัน และพรรคประชาธิปัตย์ก็เปิดทีวีขึ้นอีกช่องหนึ่ง ทีวีของพวกเสื้อแดงมีผู้ซึ่งเคยจัดทำสถานีวิทยุท้องถิ่น และผู้นำในการชุมนุมเข้ามาร่วมทำ นอกจากนั้น ผู้เกี่ยวข้องกับสื่อ เช่น ผู้ประกาศข่าวก็เริ่มมีการแบ่งแยกเป็นค่าย ทำให้สื่อโทรทัศน์สมัยใหม่มีลักษณะแยกขั้วทางการเมืองที่ชัดเจน และอาจกล่าวได้ว่าเป็นสื่อที่ให้การกล่อมเกลาทางการเมืองแบบเลือกข้าง ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกลึกและกว้างขึ้น เพราะผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายถูกสื่อตอกย้ำความคิด ความเชื่ออยู่ตลอดเวลา และเป็นการเลือกเสพสื่อด้านเดียวโดยไม่รับฟังฝ่ายตรงข้าม

หากมีการวิเคราะห์ภูมิหลังของผู้ฟังสถานีค่ายต่างๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าฝ่ายเสื้อแดงมักประกอบด้วยชาวชนบท และคนหาเช้ากินค่ำในเมืองที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนผู้ฟัง ASTV มักจะเป็นคนชั้นกลาง และที่น่าสังเกตก็คือ ในหมู่ผู้ฟังทั้งสองค่าย มีผู้หญิงมากพอๆ หรือมากกว่าผู้ชาย

รายการทีวีของทั้งสองค่าย จะมีนักพูดประจำอยู่จำนวนหนึ่ง บุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้ดำเนินรายการ และวิเคราะห์ข่าวรายการของทีวีมักไม่ค่อยมีโฆษณา หรือมีก็น้อยและจำกัดวงแคบเฉพาะสินค้าที่ทำขายสมาชิกโดยเฉพาะ เวลาที่แต่ละรายการให้จึงมีมาก ผู้ฟังจำนวนมากติดตามรายการเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดการตื่นตัว และการเรียนรู้ทางการเมืองมากขึ้น และทีวีเหล่านี้เองที่มีบทบาทในการกระตุ้นระดมคนให้ออกมาชุมนุมเป็นระยะๆ

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันการเมืองสมัยใหม่มีความเข้มข้นเพราะสื่อเหล่านี้ แม้พรรคการเมืองจะไม่ค่อยทำหน้าที่ในการให้ความรู้ทางการเมืองเท่าที่ควร แต่ก็มีสื่อเหล่านี้ทำการแทน โดยเฉพาะ ASTV ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากสื่อของค่ายเสื้อแดง และของพรรคประชาธิปัตย์ตรงที่ ASTV ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดโดยตรง

แม้ว่ายังไม่มีการศึกษาวิจัยระดับลึก แต่ก็พอสันนิษฐานได้ว่าสื่อเหล่านี้ได้มีส่วนช่วยให้ประชาชนเกิดการตื่นตัว และมีความรู้ทางการเมืองเพิ่มขึ้น และกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ตลอดจนมีความกล้าที่จะเผชิญกับอันตรายที่เกิดจากการชุมนุม และสื่อเหล่านี้ยังมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมทัศนคติ และสร้างประชามติอีกด้วย ดังเช่นกรณีโหวตโนคัดค้านรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมไทยจึงมีการแบ่งแยกและแตกแยกมากขึ้น เพราะสื่อเหล่านี้เป็นเครื่องตอกย้ำอยู่ตลอดเวลา การก่อให้เกิดทัศนคติ และค่านิยมของคนที่มีต่อการเมืองจึงเกิดจากอิทธิพลของสื่อเหล่านี้มากกว่าสื่อ หรือแหล่งการเรียนรู้ใดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น