“แค่ 5% ก็สร้างความแตกต่างได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราสามารถทำให้ดีขึ้นได้”
…………………………………………………
ผมตั้งใจทิ้งท้ายบทความคราวที่แล้วด้วยถ้อยคำ “พักชมสิ่งที่น่าสนใจสักครู่” ที่คนดูทีวี คงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และอันที่จริง “สิ่งที่น่าสนใจ” ดังกล่าว ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าโฆษณา ซึ่งแน่นอนว่า สำหรับยุคนี้สมัยนี้ด้วยแล้ว การมีโฆษณาหรือผู้สนับสนุนเข้ารายการหรือเข้าองค์กร นับเป็นเงื่อนไขหนึ่งซึ่งช่วยให้องค์กรสื่ออยู่รอดและสามารถดำเนินงานต่อไปได้
แต่นั่นคงไม่ได้หมายความว่า โฆษณาคือพระเจ้า จนกระทั่งมีความคิดแบบวิลล์ แม็คอะวอย ผู้ประกาศข่าวในซีรีส์เรื่อง The Newsroom ซึ่งให้ความสำคัญกับโฆษณาจนไม่กล้าลุกขึ้นมานำเสนอในสิ่งที่ผู้คนควรสนใจ
“สิ่งที่น่าสนใจ” ไม่ควรจะใหญ่ไปกว่า “สิ่งที่ควรสนใจ” ในแวดวงสื่อสารมวลชน จึงมีถ้อยคำที่เป็นดั่งประกาศิตอันศักดิ์สิทธิ์อยู่คำหนึ่งซึ่งบรรดานักสื่อสารมวลชนต้องคำนึงไว้ในใจตลอดเวลาที่สวมเสื้อคลุมของ “ฐานันดรที่ 4” ก็คือ “สื่อที่ดีจะนำเสนอที่สิ่งประชาชนสนใจ หรือจะนำเสนอสิ่งที่ประชาชนควรสนใจ” ถ้อยคำทั้งคู่นี้ไม่เหมือนกันแค่คำเดียว แต่แตกต่างอย่างมหาศาลในเชิงคุณค่าความหมาย และสิ่งนี้เองก็ถูกพูดถึงอย่างชัดถ้อยคำชัดคำในซีรี่ส์เรื่อง The Newsroom
เมื่อคนข่าว หรือ “นกน้อยในไร่ส้ม” ไม่ทำหน้าที่นำเสนอสิ่งคนควรสนใจ จะเป็นอย่างไร?
เรื่องราวแทบทั้งหมดของ The Newsroom เกิดขึ้นในห้องทำงานของนักข่าวตามเจตนารมณ์ของชื่อเรื่อง ตัวละครและเหตุการณ์จะวนๆ เวียนๆ อยู่ในห้องแห่งนี้ การประชุมและเลือกเฟ้นประเด็นข่าวอันเต็มไปด้วยการถกเถียงโต้แย้งอย่างเข้มข้นได้รสชาติ ซึ่งทำให้เราเห็นว่า กว่าที่เราจะได้ดู/ฟังข่าวหนึ่งชิ้น มันต้องผ่านกระบวนการมาอย่างไร
ตัวละครสำคัญใน The Newsroom คือ “วิลล์ แม็คอะวอย” เขาเป็นผู้ประกาศข่าวที่ครองตำแหน่งซูเปอร์สตาร์มาเนิ่นนานจยได้ฉายาว่า “เจย์ เลโน แห่งผู้ประกาศข่าว” (เจย์ เลโน คือพิธีกรรายการทอล์กโชว์ที่ได้รับความนิยมล้นหลาม) แต่ทว่าด้วยวันวัยที่เพิ่มขึ้น ไฟในการทำงานก็ชักจะหมดลง การทำงานที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าอาศัยแรงเฉื่อย หากินกับความเป็นซุป’ตาร์ของตัวเองและทำข่าวเหมือนทำรายการเกมโชว์ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวิลล์เดินทางมาถึง เมื่อเขาเข้าร่วมเสวนารายการหนึ่ง และด้วยข้ออ้างว่ากินยาแก้เวียนหัวเยอะไปหน่อย ทำให้วิลล์ระเบิดอารมณ์และพูดอะไรแสบๆ ทิ่มแทงหัวใจคนฟังผู้คลั่งไคล้หลงใหลในความเป็นอเมริกัน และเหตุการณ์นั้นก็ทำให้เขาต้องหลบไปพักร้อน ก่อนจะกลับมาพบว่า ลูกน้องในสังกัดถูกเปลี่ยนตัวหมด ไม่เว้นแม้แต่โปรดิวเซอร์รายการซึ่งคนเดิมก็แยกตัวออกไปทำรายการใหม่พร้อมทิ้งวาทะทิ่มแทงจิตใจของวิลล์ไว้ให้เขาหงุดหงิดต่อ คนที่มาแทนก็คือ “แม็คเคนซี่ แม็คเฮล” นักข่าวภาคสนามผู้เพิ่งกลับจากการทำข่าวสงคราม และทันทีที่รู้แบบนั้น ซูเปอร์สตาร์แห่งผู้ประกาศข่าวของเราก็วีนแตกขึ้นมาราวกับฟ้าถล่มดินทลาย วิลล์ดูเหมือนจะไม่ถูกโฉลกเอาซะเลยกับแม็คเคนซี่ เหมือนกับว่าเป็นคู่ปรับกันมาแต่ชาติปางก่อน
หลายคนที่เป็นแฟนของแอรอน ซอร์กิน นั้นคงจะทราบกันดีว่า เอกลักษณ์ของคนผู้นี้ อยู่ที่การเขียนบทอันเต็มไปด้วยบทสนทนา คือคุยกันชนิดน้ำไหลไฟดับ แต่นี่แหละที่ทำให้บทหนังของเขามีเสน่ห์ เพราะบทพูดที่ว่านั้น ไม่ใช่พูดพล่ามเป็นต่อยหอย หากแต่มันมีความลุ่มลึกคมคายแทรกอยู่ในนั้น ถ้าเราคิดว่า เควนติน ทารันติโน่ คือคนที่เขียนบทพูดให้ตัวละครได้อย่างมีกึ๋น ซอร์กินก็คงเติมความแหลมคมลงในบทสนทนานั้นด้วย...
“คุณกำลังหลงทาง” แม็คเคนซี่ พูดกับวิลล์ ตอนที่เผชิญหน้ากันครั้งแรก “คุณกลัวมากว่าคุณจะเสียจำนวนผู้ชมของคุณไป และยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้พวกเขากลับมา ฉันยอมทำรายการให้คน 100 คนดู ดีกว่าทำรายการห่วยๆ เพื่อคนล้านคน นั่นแหละคือสิ่งที่ฉันต้องการจะบอก ฉันมาที่นี่เพื่อทำรายการข่าวที่ใกล้เคียงกับรายการที่เราเคยทำกันมาก่อน ก่อนที่คุณจะโด่งดังด้วยการไม่ยุ่งกับใคร”
ประโยคดังกล่าวนี้ ดูจะตรงประเด็นมากที่สุดกับเนื้อหาภาพรวมที่ซีรี่ส์อย่าง The Newsroom ต้องการจะนำเสนอต่อคนดูผู้ชม มันบอกเล่าถึงจิตวิญญาณและความรับผิดชอบที่พึงมีของคนในแวดวงสื่อสารมวลชน โดยโยนคำถามหนักๆ ว่า ระหว่างการดำรงอยู่แบบเซฟๆ ปลอดภัยไปวันๆ นั่งมองเรตติ้งความนิยมอย่างกระหยิ่มยิ้มย่อง แต่ไม่คำนึงว่าสังคมจะได้อะไร กับการลงทุนลงแรงเพื่อให้ได้ข่าวที่จะตีแผ่ความเป็นจริงให้สังคมได้รับรู้ แม้จะต้องแลกมาด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง คนข่าวจะเลือกเอาแบบไหน?
สำหรับวิลล์ แม็คอะวอย ถ้าไม่คิดว่าเขาคือพวกเพลย์เซฟ และกำลังหมดแรง แถมยังมองโลกในเชิงสิ้นหวัง เหมือนอย่างที่เขามองอเมริกาบ้านเกิดของตัวเอง แต่สำหรับนักข่าวหัวเห็ดที่กำลังเปี่ยมล้นด้วยไฟในการทำงานอย่างแม็คเคนซี่แล้ว เธอกลับมองแตกต่างออกไป เธอทั้งไม่ใช่พวกที่บูชาความเป็นอเมริกันอย่างสุดกู่ และไม่ได้มองประเทศบ้านเกิดเลวร้ายไปเสียหมด หากแต่สิ่งที่เธอพูด คิด และกระทำ มันตอกย้ำจิตวิญญาณของความเป็นคนข่าวที่พึงสังวร
“รู้ไหมว่าอะไรที่คุณไม่ได้พูดในการเทศนานั่น” แม็คเคนซี่ อ้างอิงถึงเหตุการณ์ตอนที่วิลล์ระเบิดโทสะในงานเสวนา “อเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลกนี้ที่ตั้งแต่ถือกำเนิดมา ได้กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “เราสามารถทำให้ดีขึ้นได้” มันฝังอยู่ในดีเอ็นเอของเรา ผู้คนต้องการจะฟังข่าวถ้าคุณนำเสนอมันอย่างซื่อตรง คงไม่ใช่ทุกคนหรอก ไม่ใช่ส่วนมากด้วย อาจจะแค่ 5% แต่แค่ 5% ก็สร้างความแตกต่างได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราสามารถทำให้ดีขึ้นได้”
ในโลกของสื่อที่ถูกทุนเข้าครอบงำแทบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างเช่นยุคทุกวันนี้ สิ่งที่แอรอน ซอร์กิน และ The Newsroom ของเขานำเสนอ มันอาจจะดูเหมือนเป็นอุดมคติอย่างยากจะปฏิเสธ เพราะที่เราเห็นกัน ส่วนมากก็เป็นเช่นกับวิลล์ ผู้ประกาศข่าวที่ยึดเอาความนิยมของคนดูและโฆษณาเป็นสรณะ เหมือนที่เขากล่าวย้ำคำนี้อยู่หลายครั้ง คนข่าวยุคทุนคลุมหัว ก็จึงต้องทำงานสนองเจ้าของเงิน
ขณะเดียวกัน ก็เอา “ความมัน” เข้าว่า ซึ่งก็ได้แก่ทำข่าวแบบสนองอารมณ์คนดู พูดง่ายๆ ก็มอมเมาผู้ชมนั่นเอง ด้วยเหตุนี้มันจึงเกิดมีวาทกรรมเชิงเหน็บแนมว่า ระหว่างข่าวควายหายกับข่าวคอร์รัปชั่น คุณนักข่าวจะให้ความสำคัญกับข่าวไหน แน่นอน นักข่าวบางค่ายก็ตามควายจนเป็นนิสัยความเคยชิน อย่างไรก็ดี พูดแบบนี้ไม่ได้บอกว่าข่าวควายหายไม่ควรทำ เพราะชาวบ้านตาดำๆ ก็เดือดร้อนจากกรณีนี้ แต่ถ้าทั้งปีทั้งชาติ นักข่าวเอาแต่วิ่งหาควาย มันคงจะตลกใช่เล่น
สุดท้ายมันก็โยงมาถึงประเด็นข่าวหลักข่าวรอง เหมือนอย่างกรณีบ่อน้ำมันระเบิดในซีรี่ส์ตอนแรก The Newsroom ซึ่งในขณะที่ฝ่ายหนึ่งบอกว่าต้องขุดหาต้นตอแห่งการระเบิด สไตล์คนทำข่าวที่เรียกว่า “ข่าวซีฟ” หรือ “ข่าวเจาะ” (เอ็กซ์คลูซีฟ นิวส์) แต่อีกฝ่ายกลับเห็นว่าเรื่องของคนงานที่หายตัวไป
นี่ใช่ไหมคือตัวอย่างของความแตกต่าง ระหว่าง “สิ่งที่คนสนใจ” กับ “สิ่งที่ผู้คนควรสนใจ”?
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร มองด้วยสายตาอันเป็นธรรม ทั้งสองประเด็นสำคัญเช่นเดียวกัน เพียงแต่ซีรี่ส์พยายามชี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า ถ้าคุณมีอิทธิพลต่อคนดูระดับซูเปอร์สตาร์ด้านข่าวอย่างวิลล์ แม็คอะวอย คุณจะเลือกประเด็นไหนเป็นประเด็นหลัก ถ้าคิดอย่างวิลล์ที่โด่งดังเพราะการไม่ยุ่งกับใคร การสืบสาวหาต้นตอการระเบิดของบ่อน้ำมัน อาจจะนำความขัดแย้งมาให้เขา เราจึงเห็นวิลล์แสดงความลังเลอยู่นานสองนานกว่าจะตัดสินใจได้
กรณีอย่างนี้นั้น เราจะได้เห็นบ่อยทางทีวีบ้านเรา เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่าง แทนที่จะสืบสาวไปถึงต้นตอและนำเสนอข่าวแบบขุดเจาะถึงรากเหง้าที่มาของปัญหา เราก็เห็นพิธีกรข่าว เอาตัวละครในข่าวมาดราม่าร้องไห้ออกหน้าจอ เห็นน้ำตา 4-5 หยด เศร้าๆ ซึมๆ กันไป แล้วก็ลืม รากเหง้าปัญหาที่แฝงฝังอยู่เบื้องหลัง ก็ยังคงถูกฝังอยู่เช่นนั้น ไม่ได้รับการแก้ไข
พูดไป มันก็เข้าอีหรอบเดียวกับสิ่งที่แมคเคนซี่ว่าไว้นั่นล่ะครับ เพราะเรื่องแบบนี้ คนชอบดูเยอะกว่า มันให้อารมณ์เหมือนดูละครน้ำเน่าหรือเกมโชว์ ดังนั้น ก็จึงไม่แปลกที่เราจะเห็น “เจย์ เลโน” คนแล้วคนเล่า มานั่งเล่าข่าวทางหน้าจอทีวี...