xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์เบรกผู้ค้า ห้ามอ้าง300ขึ้นราคาสินค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์”ติดเบรก ห้ามผู้ประกอบการอ้างค่าแรงขึ้นราคาสินค้า ชี้รายใหญ่ไม่กระทบ เพราะปรับค่าแรงไปก่อนหน้าแล้ว ส่วน SMEs กระทบ 2.24-6.74% ภาคเกษตรหนักสุด ตามด้วยสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง หมู ไข่ ภาคขนส่ง และการให้บริการ

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการวิเคราะห์ผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ม.ค.2556 ว่า ไม่มีผลทำให้ผู้ประกอบการต้องขอปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะผลจากการศึกษาโครงสร้างต้นทุนสินค้าต่อการปรับขึ้นค่าแรง พบว่า อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) จะเพิ่มขึ้นเพียง 2.24-6.74% เท่านั้น

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงจากวันละ 245 บาท เป็น 300 บาท ทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 22.45% แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ประมาณ 50% มีสัดส่วนค่าแรงในต้นทุนการผลิตเพียง 0.62-9.61% ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม อีกประมาณ 50% มีสัดส่วนค่าแรงในต้นทุนการผลิต 10-30% ส่วนภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนค่าแรงในต้นทุนการผลิต 30-35% ภาคขนส่งมีสัดส่วนค่าแรงในต้นทุนการผลิต 30% และภาคธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งมีสัดส่วนค่าแรงในต้นทุนการผลิต 3-5% รวมแรงงานที่อยู่ในระบบจำนวน 16.39 ล้านคน

สำหรับผลการศึกษาในเชิงลึก ซึ่งศึกษาถึงผลกระทบต่อราคาสินค้า พบว่า ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เช่น น้ำมันปาล์ม สบู่ ผงซักฟอก ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง เพราะมีการขึ้นค่าแรงไปแล้ว

ส่วน SMEs จะมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 2.24-6.47% โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง ภาคเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ธัญพืช มีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 6.73-7.86% โดยสินค้าได้รับผลกระทบ เช่น ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นต้น

นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าที่ให้โปรตีน มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 0.94-1.38% สินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น เนื้อหมู ไข่ไก่ และกลุ่มพืชผัก มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.93-2.51% สินค้าได้รับผลกระทบ เช่น ผักกะหล่ำปลี ผักกาดขาว ภาคขนส่ง แบ่งเป็นการขนส่งสินค้า มีต้นทุนเพิ่ม 6.73% ซึ่งจะได้รับผลกระทบทันที และการขนส่งมวลชน มีต้นทุนเพิ่ม 4.50% ซึ่งจะกระทบต่อการขนส่งผู้โดยสาร ขณะที่กลุ่มการพาณิชย์และบริการ แบ่งเป็นการค้าส่งและค้าปลีก มีต้นทุนเพิ่ม 0.67-1.12% เช่น ห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ โชห่วย และการให้บริการ มีต้นทุนเพิ่ม 3.37% เช่น บริการซ่อมรถยนต์ และรักษาพยาบาล

“ถ้าผู้ประกอบการ จะขอปรับขึ้นราคาสินค้า โดยอ้างเรื่องค่าแรงที่ปรับขึ้น จะส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้ประกอบการมากกว่า เพราะตลาดมีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการรายใดปรับขึ้นราคา ขณะที่คู่แข่งยังไม่ปรับขึ้น จะทำให้เสียส่วนแบ่งตลาดแน่นอน ผู้ผลิตสินค้าควรใช้วิธีบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน เพราะค่าแรงงานส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น