xs
xsm
sm
md
lg

กำเนิดและหายนภัยของ “ปิโตรธิปไตย”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

1. ความหมาย

ถ้าคำว่า “ประชาธิปไตย (Democracy)” หมายถึง “ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่หรือการถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่” ซึ่งบัญญัติโดยราชบัณฑิตยสถาน แล้วคำว่า “ปิโตรธิปไตย (Petrocracy)” ควรจะหมายความว่าอย่างไรดี

คำว่า Democracy มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกที่ว่า demokratía โดยที่ demo หมายถึงประชาชน (people) และ kratia หรือ kratos หมายถึงอำนาจหรือพลัง (power) หรือรูปแบบการปกครอง (cracy)

คำว่า Petrocracy ซึ่งผมค้นมาได้จากอินเทอร์เน็ต เข้าใจว่าคำนี้ยังไม่มีการบัญญัติในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ แต่เป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่จากการผสมระหว่าง petroleum (ปิโตรเลียม) กับ cracy ดังนั้น ถ้าแปลตามแนวคิดของราชบัณฑิตยสถานก็น่าจะสรุปได้ว่า “ปิโตรธิปไตยหมายถึง ระบอบการปกครองที่ถือมติของกลุ่มทุนปิโตรเลียมเป็นใหญ่”

เมื่อต้นปี 2552 ผมได้รวมบทความที่เกี่ยวกับพลังงานเล่มหนึ่งภายใต้ชื่อหนังสือว่า “ปิโตรธิปไตย” โดยมีคำขยายความเพิ่มเติมว่า “การครอบงำโลกด้วยปิโตรเลียม” บัดนี้หนังสือเล่มนี้ได้จำหน่ายหมดไปนานแล้วครับ (ฮา)

​เหตุผลที่ผมได้ให้ความหมายของปิโตรธิปไตยว่าเป็นการครอบงำโลกด้วยปิโตรเลียม ก็เพราะว่ากลุ่มทุนปิโตรเลียมเป็นทุนขนาดใหญ่และไร้พรหมแดน แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก ดังนั้น มติของกลุ่มทุนปิโตรเลียมจึงเป็นมติที่ใช้กำหนดทิศทางการ “พัฒนา” ของแต่ละประเทศและสามารถครอบงำโลกได้ทั้งใบไปพร้อมๆ กัน

​ปิโตรเลียม (หมายถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) เป็นทรัพยากรที่อยู่ลึกลงไปในใต้ดิน ใต้ทะเลนับพันๆ เมตร แล้วประชาชนธรรมดาๆ ที่ไหนจะมีปัญญาลงไปเอาขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่และผูกขาดไม่กี่รายเท่านั้นที่จะทำได้

​ในเมื่ออำนาจในการจัดการปิโตรเลียมเป็นของกลุ่มทุนผูกขาดจำนวนน้อยราย ประกอบกับกลุ่มทุนปิโตรเลียมเหล่านี้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศและของโลกด้วยแล้ว มีหรือที่พวกเขาจะยินยอมให้ชาวโลกไปใช้แหล่งพลังงานอื่นๆ ซึ่งได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ลมและชีวมวลที่ไม่อยู่ในอำนาจหรือสัมปทานของพวกเขา

ในเชิงภาษา “ปิโตรเลียม” หมายถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่ในที่นี้เมื่อพูดถึงกลุ่มทุนปิโตรเลียมจะหมายรวมถึงกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลซึ่งได้รวมถึงพ่อค้าถ่านหินเข้าไปด้วย เพราะเชื้อเพลิงทั้ง 3 ชนิดนี้มีลักษณะร่วมกัน คือ รวมศูนย์ ผูกขาดได้ง่าย เป็นตัวก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและหายนภัยต่อชาวโลกอย่างใหญ่หลวง (ซึ่งจะกล่าวในตอนสุดท้าย)

สำหรับประเทศไทยเราเอง ผู้ที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศหรือเป็นสมองของประเทศ แทนที่จะเป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ตามเจตนารมณ์การก่อตั้ง) หรือสถาบันวิชาการอย่างมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันมีมากถึงเกือบ 200 แห่ง) แต่กลายกลุ่มพ่อค้าโรงไฟฟ้าที่มีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และพ่อค้าถ่านหินเป็นผู้ป้อนเชื้อเพลิงรายใหญ่ให้

คุณพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตรุ่นบุกเบิก ได้แต่งเพลง “คนกับหมา” มีเนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า “ชีวิตฉันมีแต่หมาพาไป จะเดินหนใดมีหมานำ” ผมอยากจะสรุปในตอนนี้ว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศเราได้ถูกกำหนดโดยพ่อค้าพลังงาน เพื่อพ่อค้าพลังงานมานานเกินไปแล้ว

2. กำเนิดปิโตรธิปไตย

​ในหัวข้อนี้จะตอบคำถามว่า ระบอบปิโตรธิปไตยได้เกิดขึ้นเมื่อใด และเกิดขึ้นได้อย่างไร

​เอาคำถามแรกก่อนครับ คือเกิดขึ้นเมื่อใด ถ้าเราย้อนไปดูสถิติการใช้พลังงานของชาวโลกย้อนหลังไปสักประมาณ 200 ปี (ดังกราฟการใช้พลังงานต่อหัวประชากรข้างล่างนี้ http://gailtheactuary.files.wordpress.com/2012/03/world-energy-consumption-by-source.png) พบว่า
(1) การใช้พลังงานเฉลี่ยต่อคนต่อปีของชาวโลกได้เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว

(2) เมื่อประมาณ 200 ปีก่อน แหล่งพลังงานทั้งหมดมาจากสิ่งมีชีวิต (Biofuels) ซึ่งส่วนมากเป็นเชื้อเพลิงจากไม้ แต่ในปัจจุบัน (2010) มากกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานทั้งหมดมาจากปิโตรเลียมคือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และหากรวมพลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) เข้าด้วยกันก็คิดเป็นประมาณ 80% ของพลังงานทั้งหมด

(3) มนุษย์ได้นำน้ำมันมาใช้ในเชิงพาณิชย์เมื่อประมาณ 100 ปีมานี้เอง

(4) โดยการใช้ความรู้คณิตศาสตร์ (แคลคูลัสเบื้องต้น) เราสามารถคำนวณได้ว่า กว่า 90% ของปิโตรเลียมที่ได้ถูกใช้ไปแล้วนั้น เป็นการใช้หลังจากปี ค.ศ. 1950 หรือเมื่อ 62 ปีมานี้เอง

(5) ในขณะที่การใช้ปิโตรเลียมซึ่งเป็นสินค้าผูกขาดของกลุ่มพ่อค้าพลังงานได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่พลังงานจากสิ่งมีชีวิต (ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปและผูกขาดได้ยาก)ได้ลดลงจากร้อยละ 100 ในปี 1820 ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นในปี 2010

จากข้อมูลดังกล่าว ถ้าต้องระบุให้ชัดเจนว่ายุคระบอบปิโตรธิปไตยได้เกิดขึ้นเมื่อใด โดยใช้ความรู้ในวิชาแคลคูลัส (เรื่องจุดเปลี่ยนเว้า) ก็ต้องถือว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ.2493) หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงประมาณ 10 ปีและหลังการเกิดองค์การสหประชาชาติได้ 5 ปี

คราวนี้มาถึงคำถามที่สอง คือ เกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบนี้ต้องมีสองด้านครับ

ด้านหนึ่ง ความหมายที่ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ไว้ที่ว่า “ถือมติปวงชนเป็นใหญ่” ได้ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่ (รวมทั้งผมด้วย) เข้าใจว่าการเลือกตั้งคือหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

แต่นักปราชญ์ นักปฏิวัติและนักเขียน 3-4 ท่านต่อไปนี้มีความเห็นต่างในบางแง่บางมุม ทั้งในมุมที่สำคัญมากและสำคัญรองๆ ลงมา

ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้แย้งว่า “ประชาธิปไตย ต้องถือประโยชน์ที่ถูกต้องของประชาชนทั้งหมดเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนบ้าบอแล้วก็ฉิบหายหมด” (สัมภาษณ์โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง)

ผมเห็นว่าประเด็นนี้เป็นหัวใจหลักเลยทีเดียว ปัญหาต่างๆ ของประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ยาเสพติด รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ น่าจะเริ่มต้นจาก “ความบ้าบอ” ทั้งหลาย

ท่านที่สองคือ เช เกวารา (1961) ได้ให้ความเห็นว่า ประชาธิปไตยไม่สามารถประกอบด้วยการเลือกตั้งที่แทบทุกครั้งจะเป็นเรื่องหลอกลวงและจัดการโดยเศรษฐีที่ดินและนักการเมืองมืออาชีพเพียงอย่างเดียว

ท่านที่สาม David Cromwell ผู้เขียนบทความเรื่อง “พลังงานท้องถิ่น ประชาธิปไตยท้องถิ่น”โดยอ้างถึงหนังสือเรื่อง “ใครเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์” (1996-เขียนโดย Daniel Berman and John O’Connor) ได้ข้อสรุปที่ตกผลึกว่า “ประชาธิปไตยคือสัญญาหลอกๆ (false promise) ถ้าไม่ได้รวมถึงพลังการขับเคลื่อนที่มุ่งไปสู่เศรษฐกิจพลังงาน(ของท้องถิ่น)”

​คุณ David Cromwell ได้ขยายความว่า “สังคมได้เสพติดพลังงานฟอสซิลก็เพราะบรรษัทที่โลภและรัฐบาลได้ร่วมมือกันให้การสนับสนุนทั้งในรูปภาษีและเงินชดเชยแก่อุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล” และอีกตอนหนึ่งว่า “นี่เป็นการขับเคลื่อนไปบนถนนไฮเวย์แห่งการทำลายล้างตัวเอง หนทางที่จะออกจากถนนแห่งการฆ่าตัวตายนั้น จำเป็นต้องมีการปฏิวัติสองอย่างซึ่งเป็นฝาแฝดกันคือ”

​“หนึ่งหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน(ซึ่งเป็นพลังงานในท้องถิ่น)และสองสนับสนุนพลังของประชาธิปไตยท้องถิ่น”

​ท่านสุดท้าย ผมไม่แน่ใจว่าเป็นความเห็นของใคร (ลายเซ็นอ่านไม่ออก) ว่า “ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ทุกๆ ความคิดที่ผิดพลาดแม้เพียงน้อยนิด แต่อาจจะเติบใหญ่ไปเป็นนโยบายแห่งชาติได้”

​จากข้อท้วงติงของท่านพุทธทาสภิกขุต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย จากคำท้วงติงเรื่องการหลอกลวงเรื่องการเลือกตั้ง (โดยเช เกวารา) จากการปฏิวัติฝาแฝด (การใช้พลังงานหมุนเวียนและการสนับสนุนประชาธิปไตยท้องถิ่น) จนถึงท่านสุดท้ายการที่สังคมไทยมักปล่อยให้ความคิดที่ผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ผ่านเลยไป (เช่น การรับจำนำข้าว นโยบายรถคันแรก และการถมทะเล)

​ทั้งหมดนี้คือหน่ออ่อนที่ทำให้ระบอบปิโตรธิปไตยเกิดขึ้น

​สำหรับด้านที่สองที่ทำให้ระบอบปิโตรธิปไตยเติบใหญ่อย่างรวดเร็วก็เพราะกระบวนการล้างสมองด้วยงบโฆษณามหาศาล

​สำหรับเรื่องหายนะภัยของระบอบปิโตรธิปไตยนั้น ขออนุญาตเก็บไว้ในตอนต่อไปนะครับ เพราะกำลังจะเดินทางไปร่วมพูดคุยกับชาวอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เพื่อเสริมสร้างพลังของประชาธิปไตยท้องถิ่นและสิทธิชุมชน ครับผม
กำลังโหลดความคิดเห็น